อรรคภาค เล้าจินตนาศรี


บ้านศรีบูรพา

ลึกเข้าไปในซอยพระนาง ถนนราชวิถี เขตพญาไท ถัดจากสนามหญ้าขนาดย่อมหลังประตูรั้ว บ้านสองชั้นทรงแบบตะวันตกประยุกต์ เด่นด้วยจั่วหลังคาบ้านที่โค้งลาดลงมาอย่างชวนมองหลังนี้ มีอายุครบ ๗๐ ปีพอดี ในวาระที่เจ้าของบ้านฝ่ายชายผู้มีนามว่า กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือนามปากกา “ศรีบูรพา” ครบรอบ ๑๐๐ ปีชาตกาล ในปี พ.ศ. ๒๕๔๘

คุณยาย ชนิด สายประดิษฐ์ ศรีภรรยาของ “ศรีบูรพา” และ สุรพันธ์ สายประดิษฐ์ ได้เล่าให้ฟังถึงความเป็นมาของบ้านหลังนี้ว่า เป็นบ้านที่ปลูกขึ้นเองเพื่อเป็นเรือนหอเมื่อได้รับประทานที่ดินจากท่านวรรณ (ม.จ. วรรณไวทยากร วรวรรณ-ต่อมาได้รับสถาปนาขึ้นเป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์) เพื่อเป็นของขวัญในการแต่งงาน (๑๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๘)  ที่ดินผืนนี้ท่านวรรณได้รับประทานมาจากพระนางเธอลักษมีลาวัณเมื่อครั้งที่ท่านได้รับพระราชทานที่ดินจากรัชกาลที่ ๖ และเป็นที่มาของชื่อ ซอยพระนาง ซอยเก่าแก่ซอยหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ซึ่งในครั้งนั้นเป็นที่อยู่อาศัยของเจ้านายและชนชั้นสูงของไทยหลายคน จนกระทั่งสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้ทยอยออกขายกันเพราะอยู่ใกล้สนามเป้า ซึ่งเป็นสนามซ้อมยิงปืนและเป็นเป้าหมายสำคัญในการทิ้งระเบิด

หลังจากแต่งงานแล้วประมาณปี พ.ศ. ๒๔๙๐-๒๔๙๒ เป็นช่วงที่ “ศรีบูรพา” และคุณยายชนิดเดินทางไปออสเตรเลีย เพราะในระหว่างนั้นเหตุการณ์ทางการเมืองเริ่มจะมีความผันผวน ประกอบกับกิจการหนังสือพิมพ์ประชามิตร สุภาพบุรุษ ก็ต้องหยุดพอดี  และแม้ว่าคุณยายชนิดจะมีเงินสดอยู่จำนวนหนึ่งที่ได้รับมรดกมาจากมารดา ซึ่งเพียงพอเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการเดินทาง แต่ “ศรีบูรพา” ไม่ปรารถนาจะใช้เงินจำนวนนี้ จึงนำบ้านไปจำนองกับธนาคารเพื่อนำเงินมาใช้ในการนี้  กระทั่งกลับจากออสเตรเลียเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๒ ได้มาอาศัยอยู่ที่บ้านหลังนี้อีกช่วงหนึ่งจนถึงประมาณปี พ.ศ. ๒๔๙๔ จึงได้ย้ายไปเช่าบ้านหลังเล็กๆ ที่ซอยภูมิวิจิตร ย่านพระโขนง และบ้านหลังนี้ก็เป็นบ้านให้เช่า

พ.ศ. ๒๔๙๕ “ศรีบูรพา” และมิตรสหายถูกจับในข้อหากบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักร ถูกตัดสินจำคุกเป็นคณะใหญ่ ๑๓ ปี ๔ เดือน “ศรีบูรพา” จึงถูกคุมขังอยู่ที่คุกบางขวางเกือบ ๕ ปี จนได้รับปล่อยตัวจากการนิรโทษกรรมเนื่องในวโรกาสครบรอบ ๒๕ พุทธศตวรรษ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐  ระหว่างนั้นคุณยายชนิดได้ไปเช่าบ้านอีกหลังในละแวกซอยภูมิวิจิตรอยู่ ส่วนบ้านหลังนี้ก็ให้ผู้อื่นเช่าตลอดมา และหนี้สินที่จำนองบ้านไว้กับธนาคารคราวไปออสเตรเลียก็ชดใช้หมดในช่วงหลังออกจากคุกบางขวางนี่เอง


ส่วนต่อเติมเพิ่มของบ้าน โดยมีโครงสร้างกลมกลืนต่อเนื่อง

ครั้นถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๑ “ศรีบูรพา” ได้รับเชิญให้นำ “คณะผู้แทนส่งเสริมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม” ไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน ขณะที่กำลังเยือนจีนอยู่นั้น จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์  ได้ก่อรัฐประหาร มีการจับกุมคุมขังนักคิดนักเขียน ผู้รักชาติรักประชาธิปไตยมากมาย “ศรีบูรพา” (และคุณสุชาติ ภูมิบริรักษ์) ทราบข่าวเรื่องนี้จึงตัดสินใจไม่เดินทางกลับประเทศไทย ขอลี้ภัยอยู่ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน และได้รับการต้อนรับในฐานะแขกผู้มีเกียรติ ได้รับการดูแลเป็นอย่างดีมาโดยตลอด กระทั่งถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๗  ระหว่างวันเวลาดังกล่าวบ้านหลังนี้ก็ยังคงเป็นบ้านให้เช่าซึ่งมีผู้มาขอเช่าบ้าง ไม่มีผู้เช่าบ้าง คุณยายชนิดเสริมต่ออีกว่าบางครั้งก็เก็บค่าเช่าบ้านไม่ได้

หลังจากที่ “ศรีบูรพา” ถึงแก่กรรม บ้านเมืองไทยยังอยู่ในภาวะที่ไม่มีความมั่นคงปลอดภัยนัก มีการจับกุมคุมขัง ลอบสังหารผู้นำทางความคิด ผู้นำนักศึกษา ผู้นำแรงงานชาวนาชาวไร่ อยู่ไม่ขาด กระทั่งทางรัฐบาลมีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ ๖๖/๒๕๒๓ สถานการณ์จึงค่อยคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น  และเมื่อสภาพสังคมเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว พ.ศ. ๒๕๒๕ คุณยายชนิดจึงเดินทางกลับสู่มาตุภูมิ ในขณะนั้นบุตรชายคือคุณสุรพันธ์สมรสแล้ว และกำลังจะไปอาศัยที่ประเทศฝรั่งเศส ส่วนคุณยายชนิดก็ตั้งใจว่าจะไปอยู่กับบุตรสาวที่สหรัฐอเมริกา

ต่อมา ปี พ.ศ. ๒๕๓๑ คุณสุรพันธ์ และภรรยาคือคุณวาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์ ได้กลับมาอยู่ประเทศไทย จึงต่อเติมบ้านหลังนี้ในส่วนปีกด้านซ้ายของบ้าน (เมื่อมองตรงเข้าไปที่ตัวบ้าน) ซึ่งต่อมากลายเป็นส่วนห้องนิทรรศการบ้านนักเขียนดังที่เห็นในปัจจุบัน


สำหรับการดำริที่จะทำให้บ้านหลังนี้เป็นพิพิธภัณฑ์บ้านนักเขียนนั้น คุณยายชนิดกล่าวว่าคำว่าพิพิธภัณฑ์นั้นใหญ่โตเกินไปสำหรับบ้านนี้ คุณยายเองตั้งใจที่จะค่อยจัดค่อยทำไป แต่เมื่อมีการแถลงข่าวออกมาจากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ว่าจะจัดให้บ้านหลังนี้เป็น “บ้านนักเขียน” แห่งแรกในประเทศไทย จึงเร่งจัดส่วนห้องนิทรรศการที่เห็นปัจจุบันให้เสร็จเรียบร้อยและทำพิธีเปิดป้าย บ้านศรีบูรพา เมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๔  หลังจากนั้นก็ปรับปรุงตกแต่งเพิ่มเติม โดยจัดทำบอร์ดภาพถ่ายและต้นฉบับลายมือบางส่วนที่เคยติดบนแผ่นโฟมก็ทำให้เป็นตู้กระจกติดตั้งถาวร

ในส่วนของพื้นที่ใช้สอยของบ้านหลังนี้ แต่เดิมนั้น ชั้นล่างจะเป็นห้องสมุดห้องหนังสือที่ใช้ทำงาน ส่วนชั้นบนจึงเป็นที่สำหรับอยู่อาศัย เมื่อมีดำริจะจัดให้เป็นบ้านนักเขียน จึงเริ่มจัดสิ่งของต่างๆ ที่เก็บรวบรวมไว้เป็นอย่างดีเมื่อครั้งก่อนที่จะไปต่างประเทศ แต่ภายหลังถูกน้ำท่วมใหญ่ทำให้ข้าวของที่เก็บไว้เสียหายไปไม่น้อย โดยเฉพาะบรรดาหนังสือที่เก็บรวบรวมไว้นั้นได้รับความเสียหายไปมาก อีกทั้งผลงาน เช่น หนังสือพิมพ์ประชามิตร-สุภาพบุรุษ และต้นฉบับลายมือจำนวนหนึ่งก็เปื่อยยุ่ยเสียหายเพราะน้ำท่วมในครั้งนั้นด้วย  การจัดเก็บและรักษาสมบัติทางปัญญาในคราวหลังน้ำท่วมนี้ ได้นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาช่วยกันทำงานประมาณห้าหกคน อยู่ทำงานกันทั้งวันประมาณ ๕-๖ วันจึงเสร็จเรียบร้อย

ส่วนที่จัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์บ้านนักเขียน

ในส่วนของห้องนิทรรศการในบ้านศรีบูรพา นอกจากบอร์ดที่เป็นตู้กระจกรวบรวมภาพถ่ายของ “ศรีบูรพา” แล้ว สิ่งของสำคัญในห้องยังมีโต๊ะทำงานตัวเก่าแก่ที่ “ศรีบูรพา” เคยใช้ตั้งแต่สมัยก่อนแต่งงาน บัดนี้มีอายุกว่า ๗๐ ปีแล้ว บนโต๊ะมีเครื่องพิมพ์ดีดคู่ใจของ “ศรีบูรพา” อยู่หนึ่งเครื่อง ที่วางแสดงรวมอยู่กับหนังสือผลงานเขียนของ “ศรีบูรพา” หลายเรื่อง มีเก้าอี้สำคัญตัวหนึ่งที่ได้รับประทานมาจากพระนางเธอลักษมีลาวัณวางแสดงไว้ด้วย  ด้านติดผนังมีตู้เก่าแก่หลายตู้ ายในบรรจุหนังสือที่ “ศรีบูรพา” เคยใช้อ่านใช้ค้นคว้า มีต้นฉบับลายมือแสดงอยู่บางส่วน และมีหนังสือพิมพ์ประชามิตร-สุภาพบุรุษ ที่เหลืออยู่เย็บเล่มวางไว้รวมกับวิทยานิพนธ์ที่ศึกษาเรื่องเกี่ยวกับ “ศรีบูรพา” บนตู้วางหนังสือเตี้ยๆ ใต้บอร์ดตู้กระจก มีสิ่งสำคัญที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้อีกอย่างหนึ่งก็คือ ป้ายชื่อ สำนักพิมพ์สุภาพบุรุษ อันเก่าแก่คงขลังซึ่งวางไว้เด่นสะดุดตา

ความสำคัญที่สุดอีกประการหนึ่งของบ้านหลังนี้ก็คือ บรรยากาศสมัยที่ “ศรีบูรพา” ยังอยู่ในซอยพระนางนี้ ที่มีเจ้านายและชนชั้นสูงอยู่ร่วมในซอยด้วยไม่น้อยนี่เอง ทำให้เกิดวรรณกรรมสำคัญที่คนรู้จักมากที่สุดของ “ศรีบูรพา” นั่นก็คือนวนิยายเรื่องข้างหลังภาพ ที่มีตัวละครเอกคือ คุณหญิงกีรติ ซึ่งได้เค้ามาจากชีวิตเจ้านายที่ “ศรีบูรพา” ได้พบเห็น จนกระทั่งเกิดจินตนาการกลายเป็นเรื่องข้างหลังภาพ ขึ้น แล้วก็เขียนเสร็จภายในบ้านหลังนี้

ในวาระสำคัญครบรอบ ๑๐๐ ปีชาตกาลของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ – “ศรีบูรพา” ปีพ.ศ. ๒๕๔๘ นี้ บ้านศรีบูรพาก็มีอายุครบ ๗๐ ปีพอดี และการที่บ้านศรีบูรพาเป็นบ้านนักเขียนหลังแรกในประเทศไทยที่ได้รับการจัดให้เป็น พิพิธภัณฑ์บ้านนักเขียน จึงนับได้ว่าปี พ.ศ. ๒๕๔๘ นี้ เป็นปีแห่งการระลึกถึง “ศรีบูรพา” อย่างแท้จริง.

ข้อมูลอ้างอิง

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์. “ชนิด สายประดิษฐ์ ข้างหลังภาพของ กุหลาบ สายประดิษฐ์.” สารคดี ๑๗ (มิถุนายน ๒๕๔๔) : ๑๓๐-๑๔๐

ภาพประกอบ : “บ้านศรีบูรพา.” บ้านและสวน ๒๗ (ตุลาคม ๒๕๔๕.)

ชนิด สายประดิษฐ์ และ สุรพันธ์ สายประดิษฐ์ สัมภาษณ์ ๘ มกราคม ๒๕๔๘.