บันทึกความทรงจำบางเรื่อง ของ สินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย

ในสถานการณ์บ้านเมืองที่นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงเรื่องเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ในแบบที่พยายามบิดเบือนข้อมูล และทำลายความน่าเชื่อถือของกลุ่มผู้ต่อสู้ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ป่วยการ ที่จะอธิบายความให้กับเขาผู้นั้น

เมื่อข้าพเจ้าได้รับ “บันทึกความทรงจำบางเรื่อง” ของ สินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย  ในงานวันเปิดตัวหนังสือนั้น ข้าพเจ้าเปิดผ่านบทบทแรกๆ ที่ว่าด้วยชีวิตในวัยเด็ก

ไป และเจาะอ่านเฉพาะ “เรื่องของแดง” “บันทึก วันพุธที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519″ และ ” ผู้เป็นสัญญลักษณ์แห่งการไม่ยอมจำนน” แดง ก็คือ มนัส เศียร์สิงห์ ผู้พลีชีพในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

ข้าพเจ้าบอกด้วยความสัจจริงว่า แม้จณะนั่งอยู่หน้าเวทีเสวนา หน้าลานน้ำพุ ณ สถาบันปรีดี พนมยงค์ ภาพ มนัส เศียร์สิงห์ เสียชีวิตอย่างถูกทารุณทำให้ข้าพเจ้าน้ำตารื้น และไม่รู้จะทำอย่างไรเพื่อปกปิดดวงตาแดงก่ำ ข้าพเจ้ากังวลว่าน้ำตาจะไหลลงมา ต่อหน้าวิทยากรวัยหนุ่มสาว 6 คน บนเวที

ภาพหนึ่งที่สะเทือนใจ เป็นเหตุการณ์ช่วงที่สินธุ์สวสดิ์ หลบอยู่ในวัด โดยที่ไม่ทราบว่าเกิดอะไรที่สนามหลวงบ้าง  เพื่อนของสินธุ์สวัสดิ์ ที่เป็นพวกลูกเสือชาวบ้าน วิ่งร้องไห้เข้ามาหาสินธุ์สวัสดิ์

…เขาผูกผ้าพันคอลูกเสือชาวบ้าน เมื่อเห็นฉันแทนที่จะเกรี้ยวกราดเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมากลับตรงเข้ามากอดคอร้องไห้ “โหดร้าย…ป่าเถื่อนเหลือเกิน…มันฆ่า ฆ่า ฆ่า ฝ่ายเดียวที่สนามหลวง ..ฉันทนไม่ไหววะ ห้ามก็ไม่ฟัง” หน่อยละล่ำละลักออกมา ขณะที่ฉันไม่เข้าใจคำพูดของเขา นึกภาพไม่ออก “มา…ฉันจะพาแกไปจากที่นี่…” หน่อยปาดน้ำตาแล้วจูงแขนให้ฉันเดินตามไป…

เมื่อสินธุ์สวัสดิ์เดินผ่านมาทางถนนมหาราช อีกฉากที่ทำให้ข้าพเจ้าตีบขึ้นมาที่คอคือ

…ฉันเดินผ่านพวกเขาเหล่านั้นโดยมีหน่อยเดินนำหน้า  พยายามระงับความรู้สึกสะเทือนใจและกลั้นน้ำตาเอาไว้ …สมเกียรติ ทวีพัธนวิรุฬห์ ถูกจับนอนคว่ำอยู่กลางถนน พอเงยหน้าเห็นฉันก็แอบส่งสัญญาณชูสองนิ้วใหเฉันด้วยหัวใจอันเด็ดเดี่ยว..


ข้าพเจ้าอ่านบท “บันทึก วันพุธที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519”  ต่อไม่ได้

ในใจอยากตะโกนว่า “แม่ง ประเทศกูมันป่าเถื่อนโหดร้ายชิบหาย”

ข้าพเจ้าจึงต้องกลับไปเปิดบทต้นๆ อ่าน ทำให้ข้าพเจ้ามองเห็นพื้นฐานวัยเด็กของคนอย่างสินธุ์สวสดิ์ เขาผู้นี้เติบโตขึ้นมาอย่างยากลำบาก ชีวิตที่ทำให้เขาแกร่ง และกลายเป็นคนที่ “ให้” ได้อย่างไม่หวังผลตอบแทน
หลัง เหตุการณ์ 6 ตุลาคม เขาเข้าป่า เรื่องราวในป่า การต่อสู้ ทำให้มองเห็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ชาติไทยได้ลึกยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกัย ก็มองเห็นความเป็น “มนุษย์”

ในช่วงหลังกลับสู่เมือง สินธุ์สวัสดิ์ อุทิศตัวให้กับ ครูองุ่น มาลิก ทำงานเพื่อสังคม จนกระทั่งมาถึงทำงานให้กับท่านผู้หญิงพูนสุข พนมยงค์

มีเรื่องเล่าเรื่องหนึ่ง ในช่วงหลังจากกลับสู่เมืองแล้ว  ชื่อ “โหน่ง” เป็นอีกเรื่องที่เรียกน้ำตาของข้าพเจ้า เมื่อตัวละครโหน่ง ผู้ป่วยเป็นโรคเอสด์ มาหาสินธุ์สวัสดิ์ ในวันหนึ่ง พร่ำเพ้อถึงจานบิน ยูเอฟโอ และ รำลึกถึงการร้องเพลงแสงดาวแห่งศรัทธาในคุก

“ผมคิดว่า  ไม่มีการร้องเพลงครั้งไหนจะยิ่งใหญ่เท่ากับการร้องเพลงแสงดาวแห่งศรัทธาในคุกโรงเรียนพลตำรวจบางเขนอีกแล้ว” เขาหยุดพูดขณะดวงตายังเหม่อลอยแฝงความเศร้า…

นี่อาจจะเป็นเรื่องที่ข้าพเจ้ายกให้เป็นเรื่องสั้น และเป็นเรื่องสั้นที่ดีมากๆ

ข้าพเจ้าอยากจะบอกว่า เป็นวิธีการเล่าแบบโพสต์โมเดิร์น ที่แม้คนเขียน

เองบอกว่า ไม่คิดว่ามันจะเป็นอะไร แต่นั่นคือเรื่องที่เกิดขึ้น แต่ข้าพเจ้าคิดว่า แต่ละบรรทัด มันมีเรื่องราวที่มากมาย ที่สำแดงถึงหลายสิ่งหลายอย่างมากมาย

ข้าพเจ้าไม่อาจบอกว่า นี่เป็นประวัติศาสตร์กระแสหลัก

แต่นี่คือประวัติศาสตร์ของคนเล็กๆ ประวัติศาสตร์จากมุมเล็กๆ ประวัติศาสตร์กระแสรอง

ไม่ได้เป็นเรื่องเล่าที่สำแดงความยิ่งใหญ่ ลำพอง แต่เป็นเรื่องเล่าจากมุมมองของคนตัวเล็กๆ ในสายตาของคนเล่าเรื่อง ที่มิได้ตัดสิน
เพียงแต่เรื่องที่เล่านั้น จะทำให้คุณคิดได้เองว่า เกิดอะไรขึ้น ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
จากสายตาของเขา สินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย


บันทึกความทรงจำบางเรื่อง
สินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย
206 หน้า
สำนักพิมพ์ รักและเมตตาวรรณกรรม
ราคา 175 บาท

สายส่ง เคล็ดไทย
02 225 9536-7