กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือรู้จักกันดีในนามปากกาว่า ศรีบูรพา
เป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงชาวไทย เจ้าของวาทะ
“ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน”

กุหลาบ สายประดิษฐ์
(๒๔๔๘-๒๕๑๗)

กุหลาบ สายประดิษฐ์ นักคิดนักเขียนนักหนังสือพิมพ์และกวี ใช้ชื่อ-นามสกุลจริงในการเขียนบทความ และใช้นามปากกา“ศรีบูรพา” ในการเขียนเรื่องสั้นและนวนิยาย และมีนามปากกาอื่น ๆอันได้แก่ มะกะโท อิสสรชน อุดมธรรม อุบาสก ชื่นใจ ดอกประทุม มีบทบาทโดดเด่นในฐานะนักต่อสู้เพื่อสันติภาพผู้ไม่ค้อมหัวให้แก่เผด็จการ จนถูกจับกุมคุมขังหลายครั้ง สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ได้ประกาศยกย่องให้เป็นหนึ่งในสิบห้านักเขียนเรื่องสั้นดีเด่น ในวาระครบรอบ ๑๐๐ ปี เรื่องสั้นไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๘ ด้วย และ ได้รับการ ประกาศเกียรติโดยองค์การยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก เมื่อปี ๒๕๔๘ ในวาระครบรอบชาตกาล ๑๐๐ ปี

กำเนิด
เกิดเมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ.๒๔๔๘ ที่กรุงเทพฯ บิดาชื่อนายสุวรรณ สายประดิษฐ์ ทำงานเป็นเสมียนเอกที่กรมรถไฟ มารดาชื่อนางสมบุญ ซึ่งมีพื้นเพเป็นชาวนาจังหวัดสุพรรณบุรี แต่เนื่องจากมารดาไม่ชอบทำนา เมื่อโตเป็นสาวจึงไปอยู่กับญาติที่กรุงเทพฯ เล่ากันว่าเคยอยู่ในวังเจ้าฟ้า กรมหลวงนครราชสีมา หรือที่เรียกกันว่า “วังสวนกุหลาบ”

กุหลาบ สายประดิษฐ์ มีพี่น้องเพียง ๒ คน พี่สาวชื่อนางจำรัส นิมาวาส อายุแก่กว่า ๓ ปี ตอนอายุได้ ๖ ขวบ บิดาถึงแก่กรรม ได้ย้ายบ้านพักจากในตรอกพระยาสุนทรพิมล ใกล้วัดหัวลำโพง ไปเช่าตึกแถวอยู่ที่เชิงสะพานยศเส มารดาเปิดรับตัดเย็บเสื้อผ้า ส่งพี่สาวไปหัดละครรำและละครพูด ยึดเป็นอาชีพหารายได้เสริมอีกแรงหนึ่ง

การศึกษา
เมื่ออายุได้ ๔ ขวบ เข้าเรียนชั้นประถมปีที่ ๑ โรงเรียนวัดหัวลำโพง จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ จากนั้นมารดาพาไปฝากเข้าเรียนที่โรงเรียนทหารเด็กของกรมหลวงนครราชสีมา (ทูลกระหม่อมอัษฎางค์เดชาวุฒิ) เพื่อฝึกเป็นทหารรักษาวัง ซึ่งมีการสอนวิชาทหารและวิชาทั่วไป เรียนได้ ๒ ปี ย้ายไปเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒ โรงเรียนมัธยมวัดเทพศิรินทร์ จนจบชั้นมัธยมปีที่ ๘ ต่อมาเมื่ออายุราว ๒๐ ปี เริ่มออกทำงานและเรียนต่อนิติศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองสมัยยังเปิดเป็นตลาดวิชา แม้ต้องหยุดชะงักการเรียนไปบ้างก็สำเร็จธรรมศาสตรบัณฑิตในระยะหลัง แต่ไม่มีโอกาสไปรับปริญญาบัตรเพราะไม่ได้เปลี่ยนชื่อให้เป็นผู้ชายตามรัฐนิยมสมัยนั้น ช่วง พ.ศ. ๒๔๙๐-๒๔๙๑ ได้เคยไปศึกษาดูงานด้านวิชาการเมืองที่มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลียด้วย

ประวัติการงาน
เนื่องจากเคยร่วมกับ ม.จ.อากาศดำเกิง รพีพัฒน์ฯ และเพื่อนๆ ที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ ทำหนังสือพิมพ์อ่านกันเองในชั้นเรียน ชื่อ “ดรุณสาร” และ “ศรีเทพ” และเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๘ ขณะเรียนชั้นมัธยมปีที่ ๘ คุณครูหลวงสำเร็จวรรณกิจได้ชวนเขียนเรื่องลงหนังสือ “แถลงการณ์เทพศิรินทร์” เกิดผลงานเรื่องแรกที่ได้พิมพ์เผยแพร่กว้างขวางเป็นกลอนหก ชื่อ “ฉันต้องแจวเรือจ้าง” ในช่วงปลายก่อนจบมัธยมปีที่ ๘ จึงเริ่มหัดเขียนหนังสือจริงจัง ไปสมัครเรียนวิชาการประพันธ์ ที่สำนักงานรวมการแปล มีโกศล โกมลจันทร์ เจ้าของนามปากกา “ศรีเงินยวง” เป็นผู้จัดสอน

กุหลาบ สายประดิษฐ์ เริ่มทำงานครั้งแรกด้วยการเป็นครูสอนภาษาอังกฤษตอนค่ำ ที่โรงเรียนรวมการสอนของคุณแตงโม จันทวิมพ์ โดยสอนภาษาไทย ป.๑-๓ ในภาคกลางวันและสอนภาษาอังกฤษระดับต้นในภาคค่ำ พร้อมกับเปิด “สำนักงานรวมการแปล” มีโกศล โกมลจันทร์ เป็นผู้จัดการทั้งสองกิจการ ความที่ครูผู้สอนมีรายได้น้อย กุหลาบ สายประดิษฐ์ จึงใช้เวลาว่างเขียนเรื่องส่งไปให้นิตยสารต่างๆ บ้าง ต่อมาคุณแตงโม จันทวิมพ์ ได้ออกนิตยสารรายทศชื่อ “สารสหาย” จำหน่ายฉบับละ ๓๐ สตางค์ ออกได้ ๗-๘ เดือน เก็บค่าสมาชิกไม่ค่อยได้จึงล้มเลิกไป แต่เป็นที่มาของนามปากกา “ศรีบูรพา” เพราะโกศล โกมลจันทร์ ตั้งนามปากกาที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า “ศรี” ให้แก่ลูกศิษย์เหมือนๆ กัน คือ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ใช้ “ศรีบูรพา” ชะเอม อันตรเสน ใช้ “ศรีเสนันตร์” และสนิท เจริญรัฐ ใช้ “ศรีสุรินทร์” เป็นต้น

ในระยะแรกๆ กุหลาบ สายประดิษฐ์ เขียนเรื่องลงหนังสือ “เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์” หนังสือรายเดือนของกรมยุทธศึกษาทหารบกที่มี พ.ท.พระพิสิฐพจานาการ บิดาของ ป.อินทรปาลิต เป็นบรรณาธิการ ต่อมาหลวงสารานุประพันธ์มารับตำแหน่งแทน ได้ปรับปรุงหนังสือให้คนทั่วไปนิยมมากขึ้น และชักชวนให้ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ไปเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการ ซึ่งต้องจัดทำนิตยสารฉบับนั้นด้วยตนเองเกือบทั้งหมด จนเงินเดือนขึ้นไม่ได้เพราะไม่ได้เป็นนายทหาร จึงลาออก

พ.ศ. ๒๔๗๒ ได้รวบรวมพรรคพวกที่เป็นนักเขียนหนุ่มก่อตั้งเป็น “คณะสุภาพบุรุษ” ออกหนังสือรายปักษ์ชื่อ “สุภาพบุรุษ” แม้จะมียอดจำหน่ายดี แต่มีปัญหาเรื่องการจัดการ จึงออกได้เพียง ๑ ปี กับอีก ๓ เล่ม จำต้องเลิกล้มไป จากนั้นไปรับหน้าที่บรรณาธิการหนังสือพิมพ์รายวัน “บางกอกการเมือง” เกิดลงข่าวพาดพิงตำแหน่งฝ่ายศักดินา จึงถูกบีบให้ลาออกทั้งคณะ หลังจากทำมาได้เพียง ๓ เดือน ช่วงนั้นนายเอก วีสกุล และนายเต้ก โกเมศ ก่อตั้งบริษัทไทยใหม่ นำคณะสุภาพบุรุษเข้าดำเนินการ จัดทำหนังสือพิมพ์รายวัน “ไทยใหม่” มีกุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นบรรณาธิการอยู่ ๒ ปี ก็ลาออกทั้งคณะอีก พร้อมๆ กับ “ศรีบูรพา” เขียนบทความชื่อ “มนุษยภาพ” ไปลงในหนังสือพิมพ์ “ศรีกรุง” เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๔ จนหนังสือพิมพ์ถูกสั่งปิดและยึดใบอนุญาต

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕ คณะสุภาพบุรุษได้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ชื่อ “ผู้นำ” และไปร่วมก่อตั้งหนังสือพิมพ์รายวัน “ประชาชาติ” ของกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ (ม.จ.วรรณไวทยากร) โดยกุหลาบ สายประดิษฐ์ รับหน้าที่เป็นบรรณาธิการ

พ.ศ. ๒๔๗๗ บวชที่วัดเบญจมาบพิตรฯ หนึ่งพรรษา ปีต่อมาเมื่ออายุได้ ๓๑ ปี แต่งงานกับชนิด ปริญชาญกุล โดยมีกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ทรงเป็นเจ้าภาพจัดงานให้ที่วังถนนเพลินจิต พร้อมทั้งได้ประทานที่ดินที่ซอยพระนางให้แปลงหนึ่งเพื่อปลูกเรือนหอ ต่อมามีบุตรด้วยกัน ๒ คน คนโตเป็นหญิงชื่อ สุรภิน ธนะโสภณ เป็นแพทย์อยู่ในสหรัฐอเมริกา คนเล็กชื่อ

สุรพันธ์ สายประดิษฐ์ เป็นวิศวกรไฟฟ้า ภายหลังคุณชนิดซึ่งเป็นนิสิตคณะอักษรศาสตร์จุฬาฯ ก็ได้ร่วมงานประพันธ์ทั้งการเขียนและการแปลด้วย โดยกุหลาบ สายประดิษฐ์ ตั้งนามปากกาให้ว่า  “จูเลียต”

พ.ศ. ๒๔๗๙ ลาออกจาก “ประชาชาติ” แล้วเดินทางไปดูงานหนังสือพิมพ์ที่ญี่ปุ่น เมื่อกลับมาจึงเกิดนวนิยายเรื่อง “ข้างหลังภาพ”

พ.ศ. ๒๔๘๒ ได้หาทุนออกหนังสือพิมพ์ “สุภาพบุรุษ” รายวัน ต่อมาไม่นานรวมกับหนังสือพิมพ์ “ประชามิตร” ซึ่งมีนายวรกิจ บรรหาร เป็นเจ้าของเดียวกันกลายเป็น “สุภาพบุรุษ-ประชามิตร”

พ.ศ. ๒๔๘๗-๒๔๘๙ ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ๒ สมัยซ้อน

พ.ศ. ๒๔๙๐-๒๔๙๑ ไปศึกษาวิชาการเมืองที่ออสเตรเลีย เมื่อกลับมาตั้งสำนักพิมพ์ “สุภาพบุรุษ” พิมพ์งานเขียนของตัวเองเป็นเล่มเล็กๆ ราคาไม่แพง

พ.ศ. ๒๔๙๔-๒๔๙๕ ร่วมกับคนไทยผู้รักชาติ ก่อตั้ง “คณะกรรมการสันติภาพแห่งประเทศไทย” ร่วมเรียกร้องสันติภาพและคัดค้านอเมริกาทำสงครามเกาหลี และร่วมกับเพื่อนนักหนังสือพิมพ์เรียกร้องให้รัฐบาลล้มเลิกระบบเซ็นเซอร์หนังสือพิมพ์

พ.ศ. ๒๔๙๕ ถูกจับในข้อหากบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักรหรือเรียกกันว่า “กบฏสันติภาพ” ถูกศาลชั้นต้นตัดสินจำคุก ๑๓ ปี ๔ เดือน แต่ได้รับการปล่อยตัวเนื่องในการนิรโทษกรรมโอกาสครบรอบ ๒๕ พุทธศตวรรษ รวมเวลาถูกจองจำ ๔ ปีกว่า ได้มีโอกาสสร้างงานเขียนไว้มาก โดยเฉพาะนวนิยายเอกเรื่อง “แลไปข้างหน้า”

พ.ศ. ๒๕๐๐ ได้รับอิสรภาพกลับไปเขียนหนังสืออยู่ที่บ้าน ได้รับเชิญไปเยือนสหภาพโซเวียตเพื่อร่วมงานฉลองครบรอบ ๔๐ ปี แห่งการปฏิวัติ

พ.ศ. ๒๕๐๑ ได้รับเชิญให้นำคณะผู้แทนส่งเสริมและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ไปเยือนสาธา-รณรัฐประชาชนจีน และปลายปีนั้น จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำรัฐประหาร นักเขียนนักหนังสือพิมพ์ถูกจับกุมจำนวนมาก จึงตัดสินใจขอลี้ภัยการเมืองอยู่ในประเทศจีน ได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมกลุ่มนักเขียนเอเซีย-แอฟริกา ที่สหภาพโซเวียตเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๑ เป็นหัวหน้าคณะเข้าร่วมประชุมอภิปรายวิทยาศาสตร์ที่ปักกิ่งเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๗ เป็นหัวหน้าคณะไปร่วมประชุมนักเขียนเอเชีย-แอฟริกา ที่ปักกิ่ง เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๙ และระหว่างอยู่ในประเทศจีนได้ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม และรายงานเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศจีนที่ได้พบเห็นผ่านทางสถานีวิทยุปักกิ่ง ภาคภาษาไทยด้วย

วันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๗ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ป่วยเป็นโรคปอดบวมและเส้นโลหิตตีบที่หัวใจ และเสียชีวิตที่โรงพยาบาลปักกิ่ง ชนิด สายประดิษฐ์ และสุรพันธ์ สายประดิษฐ์ ลูกชายคนเล็ก ได้รับอนุญาตจากทางราชการให้กลับประเทศไทยได้

กุหลาบ สายประดิษฐ์ นับเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อวงการหนังสือพิมพ์และการประพันธ์ไทย เริ่มเขียนนวนิยายเรื่องแรกคือ คุณพี่มาแล้ว ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๗ ในขณะเดียวกันก็เขียนเรื่องสั้น เรื่องแปล สารคดี บทความ และร้อยกรองต่างๆ ไว้มาก ซึ่งล้วนแต่มีอิทธิพลต่อความคิดของนักอ่านรุ่นหลังอย่างกว้างขวาง กองทุนศรีบูรพาโดยนายสุวัฒน์ วรดิลก จึงก่อตั้งรางวัล “ศรีบูรพา” มอบให้แก่นักประพันธ์ผู้มีผลงานดีเด่นเพื่อเป็นที่ระลึกให้แก่ กุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๑ เป็นต้นมา

ปีพ.ศ. ๒๕๔๘ องค์การยูเนสโก ได้ประกาศเกียรติให้กุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นบุคคลสำคัญของโลก และให้การเฉลิมฉลองในวาระครบรอบชาตกาล ๑๐๐ ปี กุหลาบ สายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา) ในวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๔๘ เป็นหนึ่งในการเฉลิมฉลองของยูเนสโกด้วย

ปัจจุบันบ้าน ผลงาน ภาพเรื่องราวชีวิตและข้าวของเครื่องใช้ของกุหลาบจัดแสดงไว้ใน “บ้านศรีบูรพา” บ้านนักเขียนหลังแรกของไทย ในซอยราชวิถี ๔ พญาไท ปัจจุบันเป็นกรรมสิทธิ์ของทายาท

** จากหนังสือ ๑๐๐ นักประพันธ์ไทย ของประทีป เหมือนนิล
ปรับแก้ข้อมูลโดย ชมัยภร แสงกระจ่าง

ผลงาน

ใช้นามปากกา “ศรีบูรพา”

  • แลไปข้างหน้า (รวมภาคปฐมวัยและภาคปัจฉิมวัย)
  • จนกว่าเราจะพบกันอีก
  • ข้างหลังภาพ
  • สงครามชีวิต
  • ลูกผู้ชาย
  • แสนรักแสนแค้น
  • ป่าในชีวิต
  • ผจญบาป
  • โลกสันนิวาส
  • มารมนุษย์
  • หัวใจปรารถนา
  • วาสนามนุษย์
  • สิ่งที่ชีวิตต้องการ
  • คมสวาทบาดจิต
  • คุณพี่มาแล้ว

ใช้นามปากกา “ศรีบูรพา”

  • ขอแรงหน่อยเถอะ
  • รวมเรื่องสั้นรับใช้ชีวิต ของ ศรีบูรพา
  • อะไรกัน
  • ความรักของปุถุชน
  • แกะที่พลัดฝูง
  • คนพวกนั้น
  • นักบุญจากชานตัน
  • คำขานรับ
  • มหาบุรุษของจันทิมา
  • เขาเลือกลามบาเรนในสยาม

ใช้ชื่อ กุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นหลัก

  • มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ (สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการ)
  • การหนังสือพิมพ์ของฉัน
  • ไปสหภาพโซเวียด
  • ลาก่อนรัฐธรรมนูญ
  • เบื้องหลังการปฏิวัติ 2475
  • การเมืองของประชาชน
  • ข้าพเจ้าได้เห็นมา
  • ชีวิตสอนอะไรแก่ข้าพเจ้า
  • ปรัชญาของลัทธิมารกซิสม์
  • ปรัชญาสังคมเปรียบเทียบ
  • อุดมธรรมกับผลงานชุดพุทธศาสนา
  • นิพนธ์สาร (เล่ม ๑ เล่ม ๒)
  • บันทึกสวนโมกข์:ความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมและการบังคับตน
  • บันทึกอิสรชน
  • บันทึก ๒๕๐๑ :ทินกรณ์เล่มสุดท้าย
  • ประวัติศาสตร์สตรีไทย
  • กำเนิดครอบครัวของมนุษยชาติ

ใช้นามปากกา “ศรีบูรพา”

  • เขาถูกบังคับให้เป็นขุนโจร ของเน็ต เคลลี่
  • สระสวาท แปลจาก The Pool ของ W. Somerset Maugham
  • แม่ ของ แม็กซิม กอร์กี้
  • ในยามถูกเนรเทศ ( รวมเรื่องสั้น)
  • กำเนิดครอบครัวของมนุษยชาติ
  • คืออิสสรชน คือคนดี คือศรีบูรพา หนังสือรำลึก ๑๐๐ ปีชาตกาล กุหลาบ สายประดิษฐื
  • ศรีบูรพา ศรีแห่งวรรณกรรมไทย โดย รุ่งวิทย์ สุวรรณอภิชน
  • การเมืองภาคประชาชน มองจากชีวิตและผลงานของ “ศรีบูรพา” โดยวิทยากร เชียงกูล
  • คมวาที ของ ศรีบูรพา ผู้รวบรวมและเรียบเรียง ไพโรจน์ อยู่มณเฑียร
  • ข้อคิดจากใจ กุหลาบ สายประดิษฐ์ รวบรวมโดย ชนิด สายประดิษฐ์
  • กุหลาบ สายประดิษฐ์ กัลยาณมิตรของพหูชน โดย ส.ศิวรักษ์ และเบญจมิน แบตสัน
  • กุหลาบแห่งแผ่นดิน (ประวัติศรีบูรพา ฉบับเยาวชน) เขียนโดย ชมัยภร แสงกระจ่าง
  • ร้อยนักเขียนร้อยกวี ชุมนุมบทกวีเชิดชูเกียรติ ๑๐๐ ปี กุหลาบ สายประดิษฐ์
  • ข้างหลังภาพ บทภาพยนตร์และบันทึกงานเขียนบทภาพยนตร์ โดย ธม ธาตรี
  • ศรีบูรพาในดวงใจ เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับศรีบูรพาสำหรับเด็กประถม โดย สมปอง ดวงไสว
  • ต่อคิดสานฝัน ‘ศรีบูรพา’ รวมข้อเขียนนักเขียนรางวัลศรีบูรพา โดยกองทุนศรีบูรพา
  • จดหมายถึงศรีบูรพา รวมข้อเขียนที่ชนะรางวัลการเขียนจดหมายถึงศรีบูรพา 
  • วิถีกุหลาบ สายประดิษฐ์ สืบชีวิต “ศรีบูรพา” หนังสือสรุปการสัมมน
  • วิชาการในโครงการ ๑๐๐ ปี ศรีบูรพา (กุหลาบ  สายประดิษฐ์)
  • รวมเรื่องสั้นสุภาพบรุษ รวมเรื่องสั้นนักเขียนคณะสุภาพบุรุษที่ศรีบูรพาร่วมก่อตั้ง สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการ
  • ตามศรีบูรพาไปเที่ยวและเล่นกอล์ฟที่เมลเบอร์น โดย รุ่งวิทย์ สุวรรณอภิชน
  • ตามศรีบูรพาไปซืดนีย์และแคนเบอร์รา โดย รุ่งวิทย์ สุวรรณอภิชน
  • นูริอุทปา:เมืองงามเอื้ออาทรในมุมมองของศรีบูรพา โดย รุ่งวิทย์ สุวรรณอภิชน
  • Kulap Saipradit (‘Siburapha’) Journalist & Writer in early 20th Century Siam by David Smyth