ประวัตินายประมวล เพ็งจันทร์

นายประมวล เพ็งจันทร์ เกิดที่เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๗ เมื่อเรียนจบชั้นประถมปีที่ ๔ อายุได้ ๑๑ ปี ได้เดินทางออกจากเกาะสมุยมาเป็นกรรมกรรับจ้างกรีดยางพาราและอื่น ๆ ในช่วงปี ๒๕๑๔ ช่วงสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร ที่มีการปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ โกมล คีมทอง และเพื่อนของนายประมวลหลายคนเสียชีวิตเพราะเหตุนี้ ตอนนั้นนายประมวลอายุ ๑๘ เขากลัวตายจึงกลับบ้านที่สมุย ได้อ่านหนังสือชื่อลีลาวดี ของ ธรรมโฆษณ์ ประทับใจพระเรวัติ ตัวเอกของเรื่องจึงตัดสินใจบวชเพราะเชื่อว่าเป็นหนทางที่จะพาเขาให้พ้นจากภัยดังกล่าวได้

เมื่อเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ ได้ไปกราบอาจารย์พุทธทาส และท่านถามว่ามาทำไมก็ตอบว่า มาปฏิบัติธรรม ท่านก็ถามว่า บวชมากี่ปี พอรู้ว่าบวชมาน้อยท่านก็บอกว่า กลับไปสอบเปรียญธรรมให้ได้ก่อน นั่นแหละคือการปฏิบัติธรรม หลังจากบวช เขาเปลี่ยนจากเด็กหนุ่มที่ทำงานหามรุ่งหามค่ำ มาเป็นเด็กหนุ่มที่ท่องตำราอย่างหนักแทน เริ่มต้นเรียนรู้จากการท่องจำ ท่องแม้กระทั่งหน้าคำนำหรือเชิงอรรถท้ายหน้า เพราะเขาไม่รู้ว่าอะไรสำคัญไม่สำคัญ เมื่อพระอาจารย์เห็นว่าเขามีพรสวรรค์ในการท่องจำหนังสือทั้งเล่มได้ภายในเวลาแค่ไม่กี่วัน จึงส่งเสริมทุกทางให้เขาเป็นนักบวชที่ดีให้ได้ ดังนั้น จากชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ พระประมวลจึงเสริมต่อด้วยการศึกษานอกโรงเรียนจนจบชั้นมัธยม ๖ ต่อมาเข้ากรุงเทพฯ พบกับเหตุการณ์วันตุลามหาโหด ๖ ตุลา ๒๕๑๙ เกิดความสะดุ้งตกใจ ความกลัวแบบเดิมกลับมา พระอาจารย์จึงแนะนำให้ไปเรียนต่อที่อินเดีย เขาจึงเดินทางไปศึกษาต่อด้านปรัชญาที่อินเดียโดยส่วนหนึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากการอ่าน “พบถิ่นอันเดีย” ของ กรุณา กุศลาสัย ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ เขานำดินจากสมุยติดตัวไปด้วยเป็นเชิงสัญลักษณ์ชีวิต ที่นั่นเขาต้องเรียนภาษาอังกฤษ ซึ่งในวันแรกที่เข้าเรียน เขาฟังไม่ออก พูดไม่ได้เลยสักคำ แต่ในที่สุดเขามุมานะจนเรียนจบปริญญาโท จากนั้น จึงลาสิกขาบทและเรียนต่อปริญญาเอกจนจบ

การศึกษาต่อที่อินเดียทำให้เขาได้เรียนรู้ และเห็นว่า ชีวิตยึดโยงและผูกพันกับคนอื่น และมนุษย์ไม่มีทางพบอะไรที่ประเสริฐได้ด้วยตัวคนเดียวอย่างโดดเดี่ยวเด็ดขาด เพราะในอินเดียมีเรื่องของความทุกข์ยากของประชาชน ความขัดแย้งทางสังคมมากมาย ในขณะเดียวกันเขาก็ค้นพบความง่าย ความอดทน การรอคอยและความเพียรพยายามความมุ่งมั่น อันเป็นคุณสมบัติที่ทำให้ชีวิตของเขางดงาม และสามารถเป็นครูสอนผู้อื่นได้

เพราะเขารักการอ่าน เขาจึงสนใจเรื่องการเขียน เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๘ ขณะเป็นสามเณรเคยได้รับรางวัลการประกวดงานเขียน หลังจากนั้นประมาณปี พ.ศ.๒๕๒๗ ขณะศึกษาอยู่ที่อินเดียเขาเริ่มเขียนบทความลงในนิตยสารและวารสารในประเทศไทย เพื่อสะท้อนความคิดความเข้าใจชีวิตที่งดงาม ชัดเจน ครั้งหนึ่งอาจารย์กรุณา กุศลาสัย ถึงกับเขียนจดหมายไปชมบทความของเขากับบรรณาธิการนิตยสารกระดังงา

นายประมวล ซึมซับอารยธรรมอินเดียเป็นเวลานานถึง ๑๐ ปีเศษ ก่อนกลับมาช่วยสอนที่มหาวิทยาลัยสงฆ์ มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย และสอบบรรจุเป็นอาจารย์ที่ภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ และสอนหนังสืออยู่นานกว่า ๑๖ ปี

หลังจากนั้น เขาคิดได้ว่า

ผมคิดว่าเวลาที่จะมีชีวิตอยู่มันเหลือไม่มากนักและผมได้รับอิทธิพลจากวัฒธรรมอินเดียที่เคยอยู่มา เมื่อถึงวัยหนึ่งที่สำนึกรู้ว่าตนมีเวลาเหลืออยู่ในโลกไม่มากแล้ว ก็ต้องเตรียมตัวที่จะละโลกนี้ไป หรือไม่ยึดติดในสภาวะที่มีอยู่ ผมเลยใช้การเดินเพื่อออกจากสภาวะที่มีอยู่”

จึงตัดสินใจลาออกจากราชการในวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๔๘ ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของเขาและเริ่มออกเดินทางไปสมุยในวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ ซึ่งเป็นวันครบรอบแต่งงานกับสมปอง เพ็งจันทร์ เขาเดินทางด้วยเท้าจากเชียงใหม่สู่เกาะสมุยบ้านเกิด โดยมีจุดมุ่งหมายว่าจะนำดินจากบ้านเกิดไปคืนแผ่นดินเกิด เพื่อการทำสมาธิขณะเดิน กับการใคร่ครวญขบคิดถึงสิ่งต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในขณะที่หยุด บนหลังของเขามีเป้ใบเล็กๆ ๑ ใบซึ่งข้างในมีเสื้อผ้าบางๆ ๑ ชุด ยา วิตามิน สมุดบันทึกและไปรษณียบัตร ๑๐๐ แผ่นเพื่อเขียนส่งหาภรรยาทุกวัน กฎสองข้อในการเดินทางของเขาก็คือไม่ใช้เงิน และไม่ติดต่อกับใครทั้งนั้นเพื่อให้การใคร่ครวญทางจิตได้ผล

เขาใช้เวลาเดินทางทั้งหมด ๖๖ วัน และค้นพบว่า ความสุขของมนุษย์คือความพร้อมความพอใจที่จะทำอะไรให้คนอื่น เขาบันทึกเรื่องราวการเดินทางตั้งแต่เริ่มออกเดินทางตลอดทั้ง ๖๖ วันไว้ในหนังสือชื่อ ‘เดินสู่อิสรภาพ’ หนังสือที่แสดงถึงจิตสำนึกด้านดีของมนุษย์โดยไม่เกี่ยวกับทรัพย์สินเงินทอง เป็นสารคดีเชิงวรรณศิลป์ที่งดงามที่สุดเล่มหนึ่ง และได้รับรางวัลมากที่สุดเล่มหนึ่ง

นายประมวลมีผลงานรวมเล่ม ๑๔ เล่ม

เป็นสารคดีเชิงปรัชญา ๕ เล่มคือ

๑.เดินสู่อิสรภาพ

Walk To Freedom

๒.อินเดียจาริกด้านใน แยกเป็น ๓ เล่มต่อเนื่องคือ

๒.๑ การศึกษาที่งดงาม

๒.๒ คารวะภารตคุรุเทพ

๒.๓ ทบทวนชีวิตพินิจตน

๓.ไกรลาส การจาริกบนวิถีแห่งศรัทธา

เป็นสารคดีสนทนาเพื่อเรียนรู้ชีวิต ๙ เล่ม

๑.ประมวลความรัก

๒.ปาฐกถาโกมล คีมทอง :การเดินทางสู่ความเป็นมนุษย์ที่แท้

๓.ก้าวผ่านความรุนแรง

๔.เราจะเดินไปไหนกัน

๕.เรียนรู้และเปลี่ยนแปลง

๖.จาริกทางจิตวิญญาณบนแดนพุทธภูมิ

๗.ภาวนาเริ่มต้น ณ กม.0

๘.บ่มเพาะความรัก ความเมตตาและความกรุณา

๙.พรอันประเสริฐ


หนังสือภาพ ๒ เล่มคือ

๑.สมุดภาพพุทธประวัติ

๒.อินเดีย ความจริง ความดี ความงาม