เมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคมที่ผ่านมา กองทุนศรีบูรพาร่วมกับสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย นำโดย ชมัยภร แสงกระจ่าง นายกสมาคมนักเขียนฯ ในฐานะกรรมการและเลขานุการกองทุนศรีบูรพา ได้จัดงานวันครบรอบชาตกาล ๑๐๔ ปี “ศรีบูรพา” (กุหลาบ สายประดิษฐ์) ขึ้นดังเช่นทุกปี
สำหรับในช่วงเช้าเป็นการทำบุญถวายสังฆทานพร้อมเลี้ยงพระเพล ณ ศาลามณเฑียร วัดเทพศิรินทราวาส โดยผู้ที่มาร่วมแสดงความน้อมรำลึกถึง “ศรีบูรพา” นั้น นอกเหนือจากคณะกรรมการกองทุนศรีบูรพา ครอบครัวสายประดิษฐ์ และทีมงานจากสมาคมนักเขียนฯ แล้ว ยังพร้อมพรั่งไปด้วยแขกผู้มีเกียรติซึ่งคุ้นหน้าคุ้นตากันดีอย่าง ดุษฎี พนมยงค์, สุดา พนมยงค์, จีรวรรณ พนมยงค์, สัมพันธ์ ก้องสมุทร, สินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย ฯ รวมถึง อาจารย์นพมาตร พวงสุวรรณ อาจารย์หมวดวิชาภาษาต่างประเทศจากโรงเรียนเทพศิรินทร์ ที่นำนักเรียนโรงเรียนเทพศิรินทร์มาคารวะศิษย์เก่าอย่าง“ศรีบูรพา”      “ศรีบูรพา” หรือ กุหลาบ สายประดิษฐ์ เกิดเมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๘ ท่านเป็นทั้งนักคิด นักเขียน และนักหนังสือพิมพ์ที่ได้รับการยกย่องจากยูเนสโก หรือองค์การวิทยาศาสตร์ การศึกษา และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก  นั่นเป็นเพราะ “ศรีบูรพา” เพียบพร้อมด้วยความสามารถทั้งงานเขียนประเภทร้อยแก้ว และร้อยกรอง โดยใช้นามปากกา “ศรีบูรพา” “อิสสรชน” และ “อุบาสก” ฯลฯ
“ศรีบูรพา”  มีผลงานเขียนมากมาย ทั้งด้านการเมือง, ศาสนา, ปรัชญา, สังคม, นวนิยาย, เรื่องสั้น, เรื่องแปล รวมถึงบทกวี โดยผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้ “ศรีบูรพา” เป็นอย่างมาก ได้แก่ นวนิยายเรื่อง ข้างหลังภาพ , สงครามชีวิต   และลูกผู้ชาย ฯ    ครั้นเสร็จสิ้นพิธีการต่างๆ ที่วัดเทพศิรินทราวาสแล้ว  ช่วงบ่าย คณะฯ ได้เดินทางไปยังบ้านศรีบูรพาที่ซอยราชวิถี 4 (ซอยพระนาง) แล้วก็พบว่า สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการอาวุโส ผู้ซึ่งเคยได้รับรางวัลศรีบูรพา เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๐ พร้อมศรีดาวเรืองคู่ชีวิต และดร. ญาดา อารัมภีร กับบูรพา อารัมภีร ผู้รับหน้าที่พิธีกรตลอดทั้งบ่ายในช่วงของการอ่านบทกวี “จากศรีบูรพาสู่การเมืองวันนี้” นั่งสนทนากับครอบครัวสายประดิษฐ์บริเวณห้องสมุดศรีบูรพาอยู่ก่อนแล้ว

เมื่อเห็นสมควรแก่เวลา ชมัยภร  แสงกระจ่าง จึงนำคณะฯ เข้าไปกราบคารวะ คุณชนิด สายประดิษฐ์ หรือ “จูเลียต” คู่ชีวิตของ “ศรีบูรพา” เพื่ออ่านบทกวีชื่อ คิดถึงศรีบูรพา และบทกวีชื่อ กราบคารวะ คุณชนิด สายประดิษฐ์  พร้อมอ่านเป็นทำนองเสนาะโดย ดร. ญาดา อารัมภีร  ด้วยเนื้อหาที่ดีมีความงดงามในภาษา อีกทั้งยังเขียนขึ้นโดย ชมัยภร  แสงกระจ่าง สร้างความปลาบปลื้มให้แก่ คุณชนิด สายประดิษฐ์ เป็นอย่างมาก

สำหรับกวีกลุ่ม LIVE POET หรือแปลเป็นภาษาไทยตรงตัวว่า กวีมีชีวิต ที่ทยอยกันเดินทางมาร่วมอ่านบทกวี “จากศรีบูรพาสู่การเมืองวันนี้” นั้น ผู้ที่มาถึงเป็นคนแรกคือ อาณัติ แสนโท กวีหนุ่มจากกองบรรณาธิการปาจารยสาร ตามด้วย กฤช เหลือลมัย บรรณาธิการนิตยสารเมืองโบราณ เจ้าของผลงานกวีนิพนธ์ “ปลายทางของเขาทั้งหลาย” ซึ่งเข้ารอบ ๘ เล่มสุดท้ายซีไรต์เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๐หลังจากนั้นไม่นานนักกวีกลุ่มใหญ่ นำทีมโดยเสรี ทัศนศิลป์ หรือ เคี่ยว โคมคำ ผู้ดูแลคอลัมน์กวีทรรศน์ในเนชั่นสุดสัปดาห์ก็เดินทางมาถึงในเวลาใกล้เคียงกับ นรีภพ สวัสดิรักษ์ บรรณาธิการนิตยสารสกุลไทย

นอกจากนักวิชาการ นักคิด นักเขียน และกลุ่มกวีที่ได้กล่าวนามไปแล้วข้างต้น บ้านศรีบูรพายังมีโอกาสได้ต้อนรับสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร รสนา โตสิตระกูล ที่เคียงคู่มากับสันติสุข โสภณศิริ  ตามมาด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ตรีศิลป์ บุญขจร , พินิจ นิลรัตน์ หรือ วรรณฤกษ์ แห่ง น.ส.พ. คม ชัด ลึก และสุริยัน สุดศรีวงศ์ นักเขียนผู้สร้างสรรค์ผลงานด้านวรรณกรรมเยาวชนซึ่งเคยได้รับรางวัลมาแล้วมากมายก็ให้เกียรติมาบรรเลงเพลงในช่วงท้ายเพื่อน้อมรำลึกถึง “ศรีบูรพา” ด้วยเช่นกัน
เมื่อถึงเวลาประมาณ ๑๖.๐๐ น. คุณชนิด สายประดิษฐ์ ได้ย้ายออกจากห้องพักด้านในมานั่งยังประตูด้านหน้าเพื่อให้บรรดาลูกๆ หลานๆ เข้ามากราบคารวะกันอย่างทั่วถึง หลังจากนั้น ชมัยภร  แสงกระจ่าง จึงกล่าวเปิดงาน พร้อมอ่านบทกวีทั้งสองบทอีกครั้งให้แก่ผู้ที่มาไม่ทันในช่วงแรกได้ฟังโดยพร้อมเพรียงกัน ณ บริเวณสนามหญ้าหน้าบ้านซึ่งถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นลานเสวนาขนาดย่อม โดยมุมนี้จะสามารถมองเห็น “ระเบียงประวัติศาสตร์” ได้อย่างชัดเจน


ต่อมาจึงเป็นหน้าที่ บูรพา อารัมภีร เกริ่นนำก่อนเข้าสู่ช่วงเวลาของการอ่านบทกวี “จากศรีบูรพาสู่การเมืองวันนี้”    กวีบทแรกมีชื่อว่า “จนกว่า (พวก) เราจะพบกันอีก” โดย กฤช เหลือลมัย


กวีบทต่อมานำเสนอเป็นคู่ โดยกวีหนุ่มเครางาม ซะการีย์ยา อมตยา และกวีสาวจาก “กลุ่มวรรณกรรมคลื่นใหม่” ลัดดา สงกระสินธุ์ ในบทกวีที่ชื่อว่า “ประชาชน” ของปาโบล เนรูดา ถัดมาเป็นกวีหนุ่มหน้าขรึมที่ตั้งนามปากกาได้น่าสนใจใคร่อยากรู้จัก มัคคุเทศก์ทางวิญญาณ กับบทกวีชื่อ “เจ้าหญิงในสวนสนุก” ต่อด้วยกวีหนุ่มมาดเซอร์ มูหัมหมัดฮาริส กาเหย็ม เจ้าของผลงาน “ชิ้นส่วนจากสงคราม” ซึ่งได้รับรางวัลรองชนะเลิศประเภทกวีนิพนธ์นายอินทร์อะวอร์ดเมื่อปีที่ผ่านมา ครั้งนี้เขามาในบทกวีที่ชื่อว่า “ขบวนรถไฟของเรา”


หลังจากนั้นเป็นหน้าที่ของกวีหนุ่มหน้าผากสวย อาณัติ แสนโท กับบทกวีชื่อ “พายุกำลังจะมา” แล้วจึงถึงคิวของ แก้วตา ธัมอิน กวีสาวหนึ่งในสองของกลุ่ม LIVE POET ที่มาร่วมอ่านบทกวีในชื่อ “ความเงียบบางครั้ง”  ปิดท้ายด้วยน้องเล็ก ปิยะชาติ จองทอง ผู้ซึ่งมีท่วงท่าลีลา PERFORMANCE ในการอ่านบทกวีเฉพาะตัว เนื่องเพราะขณะที่เขาอ่านบทกวีชื่อ “แด่เหล่าวีรชน” อยู่นั้น เด็กหนุ่มเดินไปเดินมาตลอดเวลา กว่าจะจับภาพของเขาได้สักภาพทำเอาช่างภาพถึงกับเวียนหัวไม่น้อยเลยทีเดียว


เมื่อบรรดากวีจากกลุ่ม LIVE POET ทำหน้าที่ของตนเสร็จสิ้นแล้ว สุรพันธุ์ สายประดิษฐ์ ทายาทของ “ศรีบูรพา”  กล่าวขอบคุณผู้ที่เกี่ยวข้อง และผู้มาร่วมงาน พร้อมบอกเล่าถึงเรื่องราวของ “ศรีบูรพา” ที่ปรากฏอยู่ในหนังสือ “ร้อยนักเขียน ร้อยกวี ร้อยปี ศรีบูรพา” ซึ่งทาง กองทุนศรีบูรพา ได้จัดทำขึ้นเมื่อครั้ง “ครบรอบชาตกาล ๑๐๐ ปี กุหลาบ สายประดิษฐ์” พอสังเขป

แล้วก็มาถึงช่วงของการเปลี่ยนบรรยากาศจากการฟังบทกวีมาฟังเพลงอันไพเราะจาก สุริยัน สุดศรีวงศ์ ที่ได้นำเพลง “อาลัยรัก” ซึ่ง ชาลี อินทรวิจิตร แต่งขึ้นโดยได้รับแรงบันดาลใจจากนวนิยายเรื่อง สงครามชีวิต ของ“ศรีบูรพา” ส่วนเพลงต่อมาชื่อ “แสงดาวแห่งศรัทธา” ของ จิตร ภูมิศักดิ์


หลังจากนั้น ชมัยภร  แสงกระจ่าง ได้กล่าวเชิญผู้มาร่วมงานยืนไว้อาลัยแด่ ดร. ขวัญดี อัตราวุฒิชัย อดีตกรรมการสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย และกรรมการตัดสินรางวัลวรรณกรรมซีไรต์ ๙ สมัย ที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคมที่ผ่านมา


ปิดท้ายด้วย สุรพันธุ์ สายประดิษฐ์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ตรีศิลป์ บุญขจร มอบของที่ระลึกให้แก่กวีกลุ่ม LIVE POET แล้วจึงถ่ายภาพร่วมกัน ก่อนนำดอกกุหลาบเข้าไปคารวะภาพเขียนสีน้ำมันขนาดใหญ่ของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ณ บริเวณห้องสมุดศรีบูรพา


สำหรับรางวัลศรีบูรพาในปีนี้ ผู้ที่ได้รับรางวัลได้แก่ ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ก่อตั้ง “กองทุนจิตร ภูมิศักดิ์” ปัจจุบันดำรงตำแหน่งนายกสมาคมจดหมายเหตุสยาม, กรรมการและเลขานุการมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ ฯลฯ
โดยทางกองทุนศรีบูรพาร่วมกับสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย  จัดพิธีมอบรางวัลศรีบูรพาขึ้น ในวันที่ ๕ พฤษภาคม ซึ่งเป็น “วันนักเขียน” ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์.