จิรกิตติ์ สุนทรลาภยศ

…ฉันตายโดยปราศจากคนที่รักฉัน แต่ฉันก็อิ่มใจว่า ฉันมีคนที่ฉันรัก…

ประโยคอมตะจากนวนิยายชื่อดัง ข้างหลังภาพ ที่เคยได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์

มาแล้วหลายต่อหลายครั้ง ยังคงปรากฏให้ผมนึกถึงยามที่กล่าวถึงนามกวีผู้ยิ่งใหญ่ผู้นี้

“ศรีบูรพา”

“ศรีบูรพา” หรือ กุหลาบ สายประดิษฐ์ หาได้เป็นเจ้าขุนมูลนายใดๆ ไม่ ท่านเป็น

เพียงสามัญชนคนธรรมดาคนหนึ่งเท่านั้น แต่ที่ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติทั้งจากประชาชนคนไทยและได้รับการประกาศให้เป็นบุคคลสำคัญท่านหนึ่งของโลกจาก UNESCO (องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ) แสดงให้ประจักษ์ว่า ในความธรรมดานี้กลับมีความยิ่งใหญ่และทรงพลังทางความคิดและความสามารถอย่างน่าอัศจรรย์

มีคำโบราณกล่าวไว้ว่า สำเนียงส่อภาษา กิริยาส่อสกุล หมายถึงสิ่งใดที่แสดงออกมาย่อมแสดงถึงตัวตนของบุคคลนั้น ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับชีวิตของ “ศรีบูรพา” ก็เห็นจะจริงอยู่ไม่น้อย เพราะงานเขียนอันมากมายนั้น นอกจากจะแสดงถึงจุดยืนทางความคิดที่อิสระและเป็นตัวของตัวเองแล้ว ยังแสดงถึงคุณธรรมหรือความดีงามของท่านอีกด้วย

เอกลักษณ์เฉพาะตัวของท่าน “ศรีบูรพา” ที่ผมรู้สึกประทับใจเป็นอย่างมาก อาจจะด้วยความที่เราต่างเป็นนักเรียนเทพศิรินทร์ด้วยกัน ซึ่งมีคติธรรมประจำใจคือ “ไม่ควรเป็นคนรกโลก” ที่ได้สอนให้นักเรียนเทพศิรินทร์ประพฤติตนให้เป็นประโยชน์นั้น เมื่อผมหวนนึกถึงท่าน ผมจะประทับใจและภาคภูมิใจว่าท่านเป็น “รุ่นพี่” ที่ประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี เพราะท่านมีความเสียสละ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก ทำทุกสิ่งที่เป็นสิ่งที่ถูกต้องเพื่อเรียกร้องผลประโยชน์ให้แก่เพื่อนมนุษย์ผู้ถูกเอาเปรียบ โดยไม่คำนึงถึงผลที่อาจเกิดขึ้นกับตนเองเลย เปรียบดังนักต่อสู้ของประชาชนที่หาได้ยากยิ่งในปัจจุบัน ซึ่งลักษณะดังกล่าวนี้มีแทรกอยู่ในแทบทุกงานเขียนของท่าน เช่นในนวนิยาย จนกว่าเราจะพบกันอีก ที่ว่า

…ฉันจะอยู่ไปทำไมถ้าฉันไม่เป็นประโยชน์แก่ใครเลย นี่เป็นหลักที่

ฉันสรุปขึ้นจากการศึกษาใคร่ครวญสภาพของชีวิต ฉันไม่คิดว่า การมีชีวิตอยู่

เพียงแต่จะหากินไปวันหนึ่ง และแสวงหาความสุขไปวันหนึ่ง แล้วก็รอวัน

เจ็บป่วยและตายนั้น เป็นสิ่งที่มีค่าอะไรตามความเห็นของฉัน ชีวิตเช่นนั้น

เป็นของว่างเปล่า เท่ากับไม่ได้เกิดมาเลยในโลกนี้ ชีวิตเฉยๆ ไม่มีความหมาย

สำหรับฉัน ถ้าฉันอยู่ ฉันต้องอยู่ในชีวิตที่ดีงาม และชีวิตที่ดีงามนั้นต้องมี

อะไรมากกว่าการหากิน การแสวงหาความสุข แล้วก็รอวันตาย ชีวิตที่ดีงาม

ย่อมมีอยู่และถูกใช้ไปเป็นประโยชน์แก่คนอื่น…

ท่านมีปณิธานอันหนักแน่นที่จะปลุกคนไทยให้ตื่นขึ้นจากการถูกครอบงำ และการปกครองอย่างไม่เป็นธรรม โดยสร้างสรรค์งานเขียนไว้มากมาย อาทิ นวนิยาย บทร้อยกรอง บทความ บทวิจารณ์ต่างๆ โดยเฉพาะบทความ “มนุษยภาพ” ที่นำเสนอเกี่ยวกับข้อบกพร่องของการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งได้รับการวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก เพราะสมัยนั้นการพูดถึงเรื่องเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างหลบๆ ซ่อนๆ ดังนั้นบทความหลายชิ้นของท่าน “ศรีบูรพา” จึงเป็นเหตุให้หนังสือพิมพ์หลายฉบับ หนังสือหลายเล่มถูกสั่งปิด หรือห้ามจำหน่าย ด้วยความที่เจ้านายชั้นผู้ใหญ่หรือเจ้านายชั้นสูงไม่พอใจในเนื้อหาที่ตรงไปตรงมาในงานเขียนและนำเสนออย่างที่เรียกได้ว่า “อุกอาจ” แต่เพราะในการเขียนงาน โดยเฉพาะบทวิจารณ์การเมืองต่างๆ นั้น ท่านได้ยึดหลักที่นักหนังสือพิมพ์รุ่นหลังควรนำไปเป็นแบบอย่างอย่างยิ่งว่า

…การเสาะแสวงหาความเป็นไปตามจริง มาเสนอแก่ประชาชนนี่แหละ

เป็นหน้าที่สำคัญของหนังสือพิมพ์…

และด้วยการที่ยึดหลักความตรงไปตรงมาในการเขียนบทวิจารณ์หรือหนังสือต่างๆ ทำให้ท่านถูกจับเข้าเรือนจำหลายครั้ง แต่ถึงแม้ในคราวที่ตัวท่านถูกคุมขังอยู่ ท่านก็ยังสรรค์สร้างงานเขียนต่างๆ ขึ้นอีกมากมาย ด้วยกำลังจากคติอีกข้อที่น่าจดจำ นั่นคือ

…ใช้เวลาแห่งความทุกข์ยากให้เป็นกำไรแก่ชีวิต และเป็นคุณประโยชน์แก่ผู้อื่น…

นอกจากนี้ความเป็นผู้นำของท่านยังเป็นอีกหนึ่งลักษณะที่ก่อให้เกิดสิ่งต่างๆ มากมาย หากย้อนมองตั้งแต่สมัยที่ยังศึกษาอยู่โรงเรียนเทพศิรินทร์นั้น ได้เริ่มสนใจหนทางนักเขียน โดยเขียนบทร้อยกรอง “ต้องแจวเรือจ้าง” ลงหนังสือแถลงการณ์เทพศิรินทร์ ต่อจากนั้นจึงผลิตงานเขียนเรื่อยมา เป็นผู้ริเริ่มการทำหนังสือในชั้นเรียน (ดรุณสาร และศรีเทพ) โดยร่วมจัดทำกับเพื่อนๆ เช่น ม.จ. อากาศดำเกิง เป็นต้น ซึ่งเมื่อจบการศึกษาและผ่านประสบการณ์การทำงานมาบ้างแล้วนั้น ท่านได้ทำสิ่งหนึ่งที่ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์วงการวรรณกรรมไทย นั่นคือการรวบรวมนักเขียนมากมายหลายชีวิตทั้งเพื่อนเก่าสมัยเรียนและคนอื่นๆ มาทำงานร่วมกันในนาม “คณะสุภาพบุรุษ” จัดทำนิตยสารรายปักษ์สุภาพบุรุษ ขึ้น ต่อมาทำงานในวงการหนังสือพิมพ์ ก็เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้ง “สมาคมนักหนังสือพิมพ์” และ “สมาคมนักเรียนเก่าเทพศิรินทร์” ท่านก็เป็นหนึ่งในคณะผู้ก่อตั้งเช่นกัน

ในสมัยทำนิตยสารสุภาพบุรุษ หรือเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ต่างๆ นั้น ก็ได้รับการตอบรับอย่างดีเยี่ยม เพราะนอกจากจะมีผลงานของนักเขียนชื่อดังมากมาย ซึ่งเป็นงานที่เต็มไปด้วยคุณภาพทั้งด้านเนื้อหาและสำนวนโวหาร ยังประกาศรับเรื่องและซื้อเรื่องของนักเขียนหน้าใหม่หลายคนมาลงไว้ด้วย ซึ่งการซื้อเรื่องหรือจ่ายค่าเรื่องให้นักเขียนนั้น ก็เพิ่งจะมีขึ้นเป็นครั้งแรกเช่นกัน เป็นการให้โอกาสแก่นักเขียนใหม่ๆ ซึ่งแสดงถึงความเป็นคนใจกว้าง เปิดโอกาสให้แก่ทุกคน ดังเช่นที่เคยเขียนบันทึกเกี่ยวกับความดีความเลวของคนว่า

…เรื่องคนเรากระทำชั่วร้าย เพราะสภาพแวดล้อมทางวัตถุทำให้เป็น

เช่นนั้น และคนดีก็เปลี่ยนแปลงไปได้เมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป

คนชั่วร้ายถ้าได้รับการปฏิบัติที่ดีอย่างยิ่งก็อาจเปลี่ยนให้เขาเป็นคนดีได้…

และคุณลักษณะที่ผมประทับใจและจะกล่าวถึงเป็นสิ่งสุดท้าย ก็คือความยุติธรรมของท่าน ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับท่าน ทั้งในด้านการทำงานและการใช้ชีวิต ท่านก็ไม่เคยละทิ้งสิ่งนี้ เพราะท่านเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนนั้น ย่อมมีสิทธิ เสรีภาพ และความเท่าเทียมกันในสังคม ไม่ควรที่จะมีคนหมู่ใดพวกใดที่มีอำนาจมากกว่ามากดขี่เสรีภาพของคนอื่นๆ ซึ่งแม้แต่ในเรื่องของความรัก ท่านก็ยังแสดงให้เห็นถึงความยุติธรรมเอาไว้ แนวคิดนี้ปรากฏอยู่ในนวนิยาย ลูกผู้ชาย ตอนหนึ่งว่า

ชายหญิงเกิดมาก็สำหรับจะต้องรักกัน ใครรักก่อน ใครรักทีหลังนั้น

ไม่เห็นจำเป็นต้องเอามาถือเป็นประเพณี ผู้หญิงเขามีหัวใจเขารักผู้ชายก่อน

จะเหยียดเอาว่าเป็นความเสียหายเสียทีเดียว เห็นว่าโลกไม่ได้ให้ความยุติธรรม

แก่ผู้หญิงในเรื่องนี้เลย

จากที่กล่าวมาทั้งหมด หากเป็นผู้อ่านที่เป็นผู้ใหญ่สักหน่อย ก็คงจะคุ้นเคยกับข้อความต่างๆ ที่ยกมาและรู้สึกหวนนึกถึง “ศรีบูรพา” ที่ยังคงเป็นนักเขียนในดวงใจคนหนึ่งแต่กลับไม่มีใครนึกถึง (หรือนึกไม่ถึง) ว่าทำไมวัยรุ่นไทยไม่รู้จัก “ศรีบูรพา”?

อย่างที่กล่าวมาแล้วว่าท่าน “ศรีบูรพา” เป็นทั้งนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ และนักต่อสู้ของประชาชน ที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก แต่วัยรุ่นไทยส่วนใหญ่กลับไม่เคยอ่านผลงานของท่าน หรือแม้แต่รู้จักว่าท่าน “ศรีบูรพา” เป็นใคร ซึ่งหากจะศึกษาหาสาเหตุก็คงหนีไม่พ้นอิทธิพลของความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่มีมากขึ้น ทำให้วัยรุ่นไทยและเด็กที่กำลังเติบโต ห่างจากการอ่านหนังสือเพราะสามารถหาความบันเทิงผ่านทางสื่ออื่นได้มากมาย ทั้งทางโทรทัศน์ หนังสือการ์ตูน และโดยเฉพาะอินเทอร์เน็ต แต่พวกเขาหารู้ไม่ว่า การอ่านหนังสือนั้น นอกจากจะได้รับความบันเทิงแล้ว ตัวหนังสือที่เรียงร้อยเป็นเรื่องราว ยังให้อะไรมากกว่านั้น ทั้งเนื้อหาที่มีความลึกซึ้ง ความละเอียดอ่อน ตลอดจนความประณีตในการเลือกใช้ภาษา ซึ่งหาไม่ได้จากความบันเทิงฉาบฉวยอื่นๆ และ (หรือ) อีกสาเหตุหนึ่งก็คือ เราไม่ได้ให้ความสนใจนักเขียนไทยในอดีตเท่าที่ควรก็เป็นได้

ผมคิดว่าน่าจะถึงเวลาแล้วที่พวกเราเยาวชนรุ่นใหม่จะต้องรู้จัก รู้สึกหวงแหน และรู้ถึงคุณค่าของนักเขียนไทยและผลงานต่างๆ ของท่านเหล่านั้น โดยเฉพาะท่าน “ศรีบูรพา” ที่ได้เป็นบุคคลสำคัญของโลกคนแรกของไทยที่ไม่ได้มียศถาบรรดาศักดิ์ หรือเกิดมาในฐานะที่เหนือกว่าคนอื่นๆ หากเป็นเพียงสามัญชนคนเดินดินเหมือนคนธรรมดาทั่วไป เพราะ

…มิใช่ว่าวีรบุรุษและบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์จะเป็นสิ่งที่ไร้

ความหมายเสียทั้งหมดก็หาไม่ แท้จริงบุคคลประเภทนั้นย่อมมีความหมาย

และคุณค่ายิ่งต่อสังคม ในเมื่อบทบาทของท่านสอดคล้องกับผลประโยชน์

ของมหาชน และบทบาทของท่านเป็นบทบาทเพื่อการปกป้องเชิดชูผลประโยชน์

ของมหาชนและนามของท่านเหล่านี้ที่ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ก็มีอยู่มิใช่น้อย

ท่านผู้มีบทบาทเช่นนี้ย่อมสมควรได้รับการศึกษาด้วยความเคารพและกตัญญูจาก

รุ่นหลัง…

ผมขอฝากวัยรุ่นไทยทั้งหลายทั้งลูกผู้ชาย ลูกผู้หญิง ในฐานะที่ผมก็เป็นวัยรุ่นไทยคนหนึ่งแต่ได้ศึกษาและอ่านงานเขียนของท่าน อยากจะบอกว่าสิ่งที่ข้าพเจ้าได้เห็นมา นั้นช่างน่าอัศจรรย์ทั้งในความดี และความสามารถของท่าน หากทุกคนได้ลองศึกษา ไม่ว่าในส่วนของสงครามชีวิต ของท่านที่เกิดอะไรขึ้น “ในกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลง” มากมาย และในส่วนงานเขียนต่างๆ ที่มีคุณค่ายิ่งทั้งในทางวรรณศิลป์และการเมืองของประชาชน ก็เปรียบดังได้รับ “อาหารแห่งชีวิต” หรือสิ่งที่ชีวิตต้องการ โดยไม่รู้ตัว  และยิ่งขณะนี้ชาวต่างชาติและคนอื่นๆ ต่างพากันมองว่า “อะไรกัน?” นักเขียนไทยแท้ๆ แต่คนไทยกลับไม่รู้จัก ฉะนั้นจงร่วมกันทำไม่ให้ “คนพวกนั้น” มาว่าเราได้ นอกจากนี้ยังเสมือนเป็นการแสดง “คำขานรับ” ต่อ “คนที่ลืมไม่ได้” เช่นท่าน “ศรีบูรพา” ด้วย ซึ่งอย่างน้อยท่าน”ศรีบูรพา” …สามัญชนและสุภาพบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ก็คง “ชื่นใจ” ที่ได้รับ “ความรักของปุถุชน” และได้รู้ว่าเมื่อแลไปข้างหน้า ยังคงเห็น “คนคิด” คนทำ ในสิ่งที่ดี ที่ถูกต้องและทำเพื่อความเท่าเทียมทาง “มนุษยภาพ” ของคนส่วนรวมอยู่ เพราะนั่นเป็นสิ่งที่หัวใจปรารถนา ให้เราทุกคนต่างมีความเท่าเทียมและเป็นอิสระด้วยกันทุกคน.

…จนกว่าเราจะพบกันอีก…

นายจิรกิตติ์ สุนทรลาภยศ

ท.ศ. ๔๖-๔๙ เลขประจำตัว ๓๖๖๔๓