ม.ล. บุญเหลือ เทพยสุวรรณ

ข้างหลังภาพ ของ “ศรีบูรพา” เป็นนวนิยายที่รู้จักกันดีและได้รับความนิยมชมชอบอย่างกว้างขวาง นวนิยายเรื่องนี้ใช้กลวิธีของประเภทพาฝัน แต่จบลงด้วยความเศร้า แต่ไม่ถึงกับเป็นทราเจดี ตามหลักของตะวันตก คือไม่ใช่เรื่องของบุคคลที่ใหญ่ยิ่งในด้านสังคมหรือจิตใจ ตัวละครเป็นบุคคลสามัญ แต่ในด้านวรรณศิลป์ ข้าพเจ้าถือว่า เป็นงานเขียนที่ดีเด่นเรื่องหนึ่ง

ข้าพเจ้าจะเริ่มด้วยวิเคราะห์เนื้อเรื่องก่อน

เนื้อเรื่อง

เนื้อเรื่องมีว่า ชายหนุ่มคนหนึ่งมาจากสกุลผู้ดี มีฐานะดี กำลังศึกษาอยู่ในประเทศญี่ปุ่น มีอายุ ๒๒ ปี ชื่อนพพร ได้รับหน้าที่ให้ช่วยเหลือต้อนรับเจ้าคุณอธิการบดีอายุ ๕๐ ปี กับภรรยาที่มีฐานันดรศักดิ์เป็น ม.ร.ว. ชื่อกีรติ ชายหนุ่มคนนี้ได้พบกับคุณหญิงกีรติ ต้องใจในรูปสมบัติ ในมารยาทอันมีเสน่ห์ จึงหลงรัก คุณหญิงก็รักตอบ แต่ไม่ได้ประพฤติผิดจากจริยะที่นิยมกันในสมัยนั้น นพพรมิได้ล่วงเกินทางกายมากกว่าการจูบที่แขน นอกจากนั้นคุณหญิงไม่ได้บอกให้นพพรรู้ว่า คุณหญิงมีความรักนพพร คุณหญิงแสดงแต่ความอ่อนหวานต่อนพพร แสดงให้เห็นว่าคุณหญิงมีความสุขที่จะอยู่ใกล้เขา ไปเที่ยวกับเขาในที่ห่างไกลผู้อื่น พร้อมกันนั้นคุณหญิงก็เตือนเขาให้คิดถึงการศึกษา ให้คำนึงถึงความก้าวหน้าในชีวิตของเขา

แล้วเมื่อถึงเวลาที่เจ้าคุณกลับประเทศไทย คุณหญิงก็ลาจากนพพรอย่างมิตรสนิทที่มีความหวังดีต่อมิตรที่เยาว์กว่า ทำให้นพพรเข้าใจว่าแม้คุณหญิงจะมีชีวิตสมรสอันปราศจากความรัก แต่เป็นชีวิตที่ “ผาสุก” คือชีวิตที่ประกอบด้วยความสมบูรณ์ทางทรัพย์ ทางฐานะในสังคม และคุณหญิงเต็มใจทำหน้าที่ภรรยาที่ดีต่อเจ้าคุณตลอดชีวิตของเจ้าคุณ

คุณหญิงกีรติมีอายุ ๓๕ ปี เมื่อพบกับนพพร มีความเปล่งปลั่งเต็มที่ นพพรสำนึกในความแตกต่างระหว่างวัยและฐานะของตนกับเจ้าคุณ แต่ก็หักห้ามใจไม่ให้รักและหวังในความรักอันสมบูรณ์ไม่ได้ และเมื่อคุณหญิงกับเจ้าคุณจากมา นพพรมีความเศร้าโศกมาก ได้ติดต่อกับคุณหญิงทางจดหมาย จดหมายของคุณหญิงถึงนพพรนั้นอ่อนหวานเต็มไปด้วยความรู้สึกลึกซึ้ง ส่วนของนพพรในตอนแรกแสดงความรู้สึกร้อนแรง แล้วนพพรก็ค่อยชินชากับการที่ต้องพรากจากคุณหญิง ชีวิตของนพพรกลับเข้าแนวของนักศึกษาเหมือนก่อนที่จะได้พบคุณหญิง

เวลาล่วงไปจนนพพรเรียนจบและกลับมาประเทศไทย เจ้าคุณสิ้นชีวิตไปแล้ว คุณหญิงเป็นม่าย มีทรัพย์มีความงามอย่างเดิมไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก แต่เมื่อนพพรพบคุณหญิงอีก นพพรมีความรู้สึกเยี่ยงมิตรที่ดีพึงมีต่อกัน นพพรเห็นว่าคุณหญิงสวย มีเสน่ห์ แต่นพพรไม่มีความเร่าร้อนในอันที่จะยึดถือคุณหญิงมาเป็นที่รักของตน นพพรยินยอมแต่งงานกับหญิงที่บิดามารดาแนะนำให้ และส่งข่าวให้คุณหญิงทราบโดยไม่คำนึงถึงความสัมพันธ์เก่า เรื่องจบลงโดยคุณหญิงกีรติตายด้วยโรคที่เป็นมานานกำเริบขึ้น ซึ่งการกำเริบของโรคเป็นผลมาจากความเสียใจที่นพพรสลัดรักคุณหญิง

ต่อไปนี้จะวิเคราะห์ตัวละคร ด้วยเหตุว่านวนิยายเรื่องนี้กล่าวถึงความรู้สึกภายในของบุคคลสองคนโดยเฉพาะ การวิจารณ์ย่อมจะต้องเป็นไปเชิงจิตวิทยา พฤติกรรมของนพพรและ ม.ร.ว. กีรติ มิได้มีส่วนกระทบกระเทือนชีวิตของผู้ใดเลย แม้แต่คู่หมั้นของนพพรและสามีของ ม.ร.ว. กีรติ ดังนั้นการวิเคราะห์ตัวละครจึงเป็นการวิเคราะห์ลักษณะจิตใจของคนทั้งสอง

ลักษณะนิสัย

การวิเคราะห์เชิงจิตวิทยานี้ถึงแม้จะมีหลักวิชาเป็นที่ยึดอยู่บ้าง แต่จิตวิทยานั้นคือวิชาว่าด้วยพฤติกรรมทางจิตใจของมนุษย์ และพฤติกรรมทางจิตใจนั้นตามธรรมดาย่อมรู้ได้โดยทางวาจาหรือทางการกระทำเท่านั้น ในนวนิยายผู้แต่งมักตั้งตัวเป็นผู้มีญาณวิเศษ สามารถเข้าใจความคิดความรู้สึกของตัวละครแล้วแจ้งให้ผู้อ่านทราบด้วย แต่ผู้แต่งเรื่องนี้เลือกบอกเล่าเฉพาะที่เป็นประโยน์แก่การดำเนินเรื่อง เพื่ออธิบายการกระทำของตัวละคร การวิเคราะห์จึงเป็นการติดตามตัวละครในเรื่องนี้ “พฤติกรรมทางกายมีน้อย มีแต่วจีกรรมกับความนึกคิดของนพพรเป็นส่วนใหญ่” เพราะผู้แต่งใช้กลวิธีให้นพพรเป็นผู้เล่าเรื่อง เราจึงเข้าใจนพพรได้มาก แต่ฝ่ายกีรตินั้น เราเข้าใจตามที่นพพรบอก ลักษณะนิสัยของนพพรจึงแจ่มแจ้งแก่ผู้อ่านมากกว่า นพพรเป็นชายหนุ่มที่ได้รับการอบรมตามแบบแผนของคนมีสกุลของไทยในช่วงหลัง พ.ศ. ๒๔๗๕ ไม่กี่ปี ชายหนุ่มทั่วไปยกย่องผู้หญิงที่มีมารยาทอ่อนโยน แสดงความคิดนึกอย่างสุภาพและไม่มากเกินกว่าที่สังคมจะยอมรับนิยมผู้หญิงที่เอาใจใส่กับการแต่งตัวทะนุบำรุงตนเองให้ดูสดชื่น แต่ไม่ถึงกับให้เห็นเป็นการแต่งชัดเจนโจ่งแจ้ง นิยมผู้หญิงที่มีคุณสมบัติของแม่บ้าน รู้จักการจัดอาหาร การรับแขกให้สุขสบายไม่เก้อเขิน เป็นต้น ลักษณะนิสัยที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ มีอยู่ในคุณหญิงกีรติซึ่งเป็นทุนเรียกความสนใจจากนพพรเป็นอันมาก

นอกจากจะมีคุณสมบัติของผู้หญิงที่มีสกุลครบถ้วนแล้ว คุณหญิงกีรติยังรู้จักแสดงความปรานีต่อชายหนุ่มที่เยาว์วัยกว่า โดยทำให้ชายหนุ่มรู้สึกถึงความสำคัญของตนด้วย  คุณหญิงเป็นคนไวต่อความงาม มีฝีมือในการวาดภาพ แม้ไม่ถึงขั้นจิตรกรเรืองนามแต่ก็มีฝีมือพอสมควร ภาพที่คุณหญิงวาด ผู้ได้เห็นใช้คำว่าเป็นภาพธรรมดา ซึ่งก็แปลว่าไม่เลว  คุณหญิงเป็นผู้มีเสน่ห์ทางวาจา รู้จักพรรณนามโนภาพและสิ่งที่เห็นด้วยถ้อยคำที่ตรึงใจผู้ฟัง โดยเฉพาะชายหนุ่มอายุ ๒๒ ปีเช่นนพพร สรุปแล้วก็คือ ทั้งหญิงและชายตัวเอกของเรื่อง มีลักษณะนิสัยตามแบบแผนของคนที่รับรองกันว่าเป็น “ผู้ดี” ในสมัยของตน บวกกับอารมณ์ที่ประณีตเป็นพิเศษกว่าคนทั่วไป

นพพรได้กระทำสิ่งที่อาจเรียกว่า “ผิด” ของค่านิยมสมัยนั้นครั้งเดียว คือจุมพิตคุณหญิงกีรติที่มิตาเกะ ซึ่งเป็นตำบลตากอากาศใกล้เมืองโตเกียว ในเวลาที่ใกล้จะลาจากกัน  นพพรคงอยู่ศึกษาต่อในประเทศญี่ปุ่น และคุณหญิงกลับประเทศไทยในฐานะภรรยาที่ดีของเจ้าคุณก่อนที่ทั้งสองจะได้พบกันอีกครั้ง

พฤติกรรมทางจิตของคนทั้งสองนี้ เราจะวิเคราะห์ไปในทางใด ข้าพเจ้าจำได้ดีว่า เมื่อแรกอ่านหนังสือเรื่องนี้ ข้าพเจ้าอ่านพร้อมกับญาติผู้หญิงหลายคน ทุกคนที่อ่านก็ว่าเป็นนวนิยายที่ตรึงใจ ทั้งเนื้อเรื่องและสำนวนภาษารวมทั้งลักษณะนิสัยของตัวละคร นี่ก็หมายความว่า เมื่อแรกที่นวนิยายเรื่องนี้ออกสู่บรรณโลก ผู้อ่านรับเอาว่าไม่ขัดต่อความจริง และเป็นความจริงที่ละเมียดละไม ไม่ผิดศีลธรรม เป็นความจริงที่น่าเห็นใจ น่าเศร้า และไม่ทำให้เกิดความเกลียดหรือรังเกียจ

ก่อนที่จะวิจารณ์นวนิยายเรื่องนี้ ข้าพเจ้าขอร้องให้เพื่อนนักอ่านหนังสือที่มีอายุ ๔๐ ปีกว่าๆ อ่านและวิเคราะห์ลักษณะนิสัยของตัวละคร นักอ่านคนนี้เป็นนายแพทย์ ท่านบอกว่า เข้าใจจิตใจของนพพรดี แต่ไม่เข้าใจจิตใจ ม.ร.ว. กีรติ นพพรนั้นเป็นชายหนุ่มเมื่อพบผู้หญิงมีเสน่ห์ที่มีอายุมากกว่า ก็ย่อมหลงรักตามธรรมชาติของคนวัยนี้ แต่ ม.ร.ว. กีรตินั้น เหตุใดจึงรักนพพรและรักอยู่ช้านาน ขอให้ข้าพเจ้าชี้แจงด้วย

ลักษณะจิตใจของ ม.ร.ว. กีรตินั้น สำหรับคนวัยข้าพเจ้าก็คิดว่าเข้าใจได้ง่าย เพราะได้พบเห็นชีวิตที่คล้ายกันมา เป็นจิตใจของผู้หญิงที่ถูกเลี้ยงดูมาในโลกแคบ ความรู้ของคุณหญิงกีรติเกี่ยวกับความรักนั้น ก็คงได้จากหนังสืออ่านเล่น คือนวนิยายไทยและนวนิยายฝรั่ง ที่ไม่บอกกล่าวเรื่องนี้อย่างจริงจังนัก ผู้หญิงไทยในสมัยของ ม.ร.ว. กีรติ แทบจะไม่ได้รับความรู้จากคนที่มีประสบการณ์เรื่องเพศ ผู้หญิงสมัยนั้นย่อมไม่กล้าถามถึงเรื่องความรักจากพ่อหรือแม้แต่พี่ชายหรือน้องชาย และหนังสือที่ชี้แจงเรื่องนี้ก็คงไม่ผ่านสายตา นวนิยายที่มีก็คงเป็นประเภทพาฝัน ส่วนนวนิยายที่แปลจากภาษาฝรั่งซึ่งคนไทยนิยมแปลในสมัยรัชกาลที่ ๕ หรือ ๖ ก็มีผลงานของ แมรี คอเรลลี ซึ่งก็ไม่สนใจปัญหาทางเพศ หรือ เพิร์ล บัค ก็ไม่สนใจปัญหานี้ แล้วนวนิยายอย่างชู้รักของเลดี้แชตเตอร์ลีย์ คงไม่ผ่านสายตาของ ม.ร.ว. กีรติเท่าใดนัก ดังนั้นการที่คุณหญิงกีรติซึ่งเป็นคนรักความสวยงาม แลเห็นพืชพันธุ์ผักเป็นสิ่งที่ให้ความรื่นรมย์ แลเห็นลูกมะเขือเทศเหมือนกับว่าเป็นเด็กหนุ่มวัยเดียวกับนพพร ก็คงเป็นคนที่เรียกว่าโรแมนติก เชื่อถือในทางดี เชื่อในทางอุดมคติ คงจะมีความฝันว่าตัวได้ประสบกับความรัก เมื่อนพพรได้แสดงความรู้สึกต่อตน และคงจะภาคภูมิใจที่ตนรู้จักหน้าที่ ไม่ตื่นไปกับความรักของชายหนุ่ม เมื่อเป็นม่ายจึงสร้างความหวังไว้ในใจ ว่าพอนพพรกลับมาเมืองไทยก็คงรักษาความรู้สึกเดิมไว้ ถึงแม้จะไม่เร่าร้อนดังแต่ก่อน ก็คงยังมีรอยเหลืออยู่ ครั้นพบว่าความรักนั้นอันตรธานไปแล้ว ก็แลเห็นชีวิตปราศจากความหมาย โรคประจำตัวจึงกำเริบ และเสียชีวิตได้ง่าย

เนื้อเรื่องของนวนิยายนี้ ข้าพเจ้าว่าสมจริง และลักษณะนิสัยของบุคคลก็สมจริง แต่สำหรับเพื่อนนายแพทย์วัย ๔๐ ที่เขาไม่เข้าใจ เพราะสมัยนี้คนที่เป็นผู้ใหญ่ อายุเข้ากลางมัชฌิมวัยที่จะรู้จักโลกน้อยอย่างคุณหญิงกีรตินั้น ไม่น่าจะมีได้ แต่ข้าพเจ้าเห็นจะต้องยืนยันว่า สำหรับสมัยของคุณหญิงกีรตินั้น น่าจะมีได้

เมื่อวิเคราะห์เนื้อเรื่องและตัวละครแล้ว ก็จะไปถึงขั้นที่ ๒ คือ วินิจสาร หรือตีความว่าผู้แต่งส่งสารอะไรมาให้ผู้อ่าน

สาร

สารของนวนิยายเรื่องนี้จับได้ไม่ยากนัก นั่นคือความรักของชายหนุ่มนั้นไม่แน่นอน แต่ความรักของผู้หญิงที่พ้นวัยจะได้รับความรักจากชายวัยเดียวกันแล้ว ย่อมจะฝังลึกนอกจากเรื่องของความรักต่างวัยแล้ว ก็คงเป็นการแสดงทัศนะว่า ผู้หญิงทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในฐานะสูงหรือต่ำในสังคม ย่อมต้องการความรัก แม้จะมีความผาสุก ก็ยังเห็นความรักมีค่ายิ่งนัก ถึงจะไม่เป็นไปอย่างที่ใจหวังแต่การหล่อเลี้ยงความรักไว้ในความทรงจำก็มีความหมายแก่ผู้หญิง สารที่ส่งมาอีกอย่างหนึ่งคงจะเป็นว่า ภาวะแวดล้อมเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดความรัก เช่นนพพรรักคุณหญิงเพราะได้ใกล้ชิดกันในสถานที่อันงดงาม อีกทั้งวัยของคุณหญิงก็ต่างกับสามี คุณหญิงรักความสดชื่นของนพพร ขณะเดียวกันก็ไม่พึงใจกับวัยเสื่อมของสามี และสารที่สำคัญที่สุดอาจเป็น ผู้ที่เคยมีความรักแม้รักนั้นจะไม่สมบูรณ์แบบยังดีกว่าผู้ที่ไม่เคยประสบความรักเลย ซึ่งคนโดยมากทั้งไทยและเทศออกจะเห็นพ้องต้องกัน

กลวิธี

ในขั้นต่อไป เราจะพิจารณากลวิธี ซึ่งพาเราเข้ามาในขั้นวิจารณ์อันแท้จริง ในการพิจารณากลวิธีของนวนิยาย ต้องดูว่าใช้วิธีที่แยบยลในการส่งสารหรือไม่ เราจึงต้องวิพากษ์พร้อมไปกับวิจารณ์ว่ากลวิธีอันนี้ๆ ตึงหรือหย่อนประการใด จะพิจารณาในข้อที่อาจใช้หลักวิชาได้พอประมาณก่อน

สิ่งที่เราจะพิจารณาตามหลักวิชาได้ โดยไม่พึ่งความเห็นส่วนตัวถ่ายเดียว คือการใช้ภาษา นวนิยายเรื่องนี้มีบทที่ใช้ภาษาอย่างงดงาม ไพเราะทั้งเสียงและทั้งก่อให้เกิดมโนภาพหลายตอน ซึ่งข้าพเจ้าจะคัดมาให้ดู แต่ขอชี้ข้อบกพร่องที่มีอยู่เพียงเล็กน้อยก่อน ขอให้สังเกตสำนวนที่ ม.ร.ว. กีรติใช้ในการสนทนากับนพพร ซึ่งเป็นสำนวนเหมือนไม่ใช่คนพูดแต่ราวกับสำนวนนักประพันธ์ที่เรียบเรียงมาอย่างดี ไม่เหมือนคนที่คิดพลางพูดไปพลาง

กระนั้นความบกพร่องข้อนี้ก็ไม่ทำให้คุณภาพหย่อนไปมากนัก เพราะผู้แต่งให้นพพรเป็นผู้เล่าเรื่อง ภายหลังจากที่เหตุการณ์เกิดขึ้นนานมาแล้ว นพพรเห็นภาพ ม.ร.ว. กีรติเป็นคนผิดธรรมดาสามัญ เรียกชื่อว่า ม.ร.ว. กีรติตลอดเวลา ไม่ตกหล่นเลย ดังนั้นคำพูดของ ม.ร.ว. กีรติจึงผิดธรรมดาบ้าง ก็ย่อมจะถือได้ว่าเป็นไปเพราะความนึกคิดของนพพร แต่น่าเสียดายว่าหากผู้แต่งรำลึกได้ ทำให้คุณหญิงกีรติใช้คำพูดที่เพราะไม่ให้เหมือนสำนวนนักประพันธ์ที่กำลังเรียบเรียงบทพรรณนาหรือบทบรรยาย นวนิยายเรื่องนี้ก็จะมีคุณภาพสมบูรณ์เกือบจะหาที่ติไม่ได้ทีเดียว ตัวอย่างสำนวน ม.ร.ว. กีรติ เมื่อเดินเล่นกับนพพรตามถนนในชนบทชานเมือง

“เธอไม่เห็นหรือว่าสีเขียวของใบผักกาด เมื่อต้องแสงแดดอ่อน ก็แลดู

คล้ายกำมะหยี่นั่นน่ะเป็นภาพที่สวยงามน่าดูเพียงไร แล้วก็บรรดามะเขือสี

ช็อกโกแลตที่เยาว์วัยเหล่านั้น ไม่ได้ทำให้เธอรู้สึกว่า มันเป็นเพื่อนที่มีอายุรุ่นราว

คราวเดียวกับเธอดอกหรือ แล้วก็ถัดออกไป ไร่ผักต้นสูงๆ ใบเล็กเรียวที่หมุน

พลิ้วไปตามกระแสลมนั้น ไม่ได้ช่วยให้จิตใจของเธอ ร่าเริงไปด้วยดอกหรือ”

และอีกตัวอย่างหนึ่ง เมื่อเห็นสาวญี่ปุ่นในวัยสาวกำดัด

“แต่เธอยังไม่ทราบจุดแห่งความกังวลของฉัน ความสดชื่นของฉัน-

ถ้าเธอเห็นว่ามี-จะนำไปเปรียบเทียบกับความสดชื่นของแม่สาวสองคนนั่นไม่ได้

ความสดชื่นของหล่อนนั้น ฉันบอกแล้วว่า เช่นดอกไม้ตูมที่กำลังจะแย้มบาน

เป็นความสดชื่นแรกรุ่งอรุณ ส่วนความสดชื่นของฉันนั้น ถ้าหากว่ายังคงมีอยู่

ในเวลานี้ก็นับว่าเป็นความสดชื่นในยามย่ำยอแสงแล้ว จะจางหายไปในมิช้า

บัดนี้เธอคงจะเห็นว่า ฉันมีเหตุผลทีเดียวที่จะพูดว่าใจหาย”

ในส่วนดีของภาษาที่มีการคัดมาเกือบตลอดทั้งเล่ม ถ้าเป็นสำนวนของนพพรพูดกับ ม.ร.ว. กีรติจะเป็นสำนวนของชายหนุ่มนักศึกษาที่สำนึกในคุณวุฒิของตน พยายามทำตนให้เหมือนเพื่อนสนิทกับผู้ที่สูงกว่าตนทั้งวัยวุฒิและคุณวุฒิ การที่นพพรใช้สำนวนที่ดีเรียบร้อยเกือบไม่มีที่ติเลยตลอดเวลาที่พูดกับผู้หญิงที่เขารักจึงน่าฟังมากกว่าน่ารำคาญ และนพพรยังพูดเหมือนคนพูดอีกด้วย ไม่ใช้สำนวนเหมือนคนเขียนหนังสืออย่างสำนวนของ ม.ร.ว. กีรติ

การพรรณนาตั้งแต่ต้นเรื่อง ซึ่งเป็นตอนสำคัญของนวนิยาย ผู้แต่งใช้สำนวนภาษาอันรื่นหูที่ช่วยวาดภาพในจินตนาการได้อย่างน่าชื่นชม ทำให้เห็นความก้าวหน้าของร้อยแก้วไทยในเชิงพรรณนาอย่างเด่นชัด และในการบรรยาย ผู้แต่งก็สามารถใช้ร้อยแก้วเป็นเครื่องมือในงานประพันธ์นวนิยายได้น่าชื่นชมเช่นกัน

มองดูภาพนั้น เมื่ออยู่แต่ลำพัง ข้าพเจ้าแลเห็นน้ำในลำธารไหลเอื่อยๆ

และไหลแรงบางตอน เมื่อผ่านจากที่สูงไปสู่ที่ลาดต่ำ เห็นจนกระทั่งแสงแดด

อ่อนๆ ของฤดูออตั้ม คนสองคนที่นั่งอยู่บนชะง่อนหินซึ่งผู้เขียนได้ใช้สีป้ายๆ

ไว้เหมือนอย่างไม่เอาใจใส่เลยนั้น ข้าพเจ้าสามารถแลเห็นได้ แม้จนกระทั่ง

ขนตาอันยาวงอนของคนๆ หนึ่งในภาพนั้น และจนกระทั่งรูปสามเหลี่ยมสีแดง

สดใส ๓ รูป ที่วาดไว้บนริมฝีปากบางจนทำให้ความบางของริมฝีปากนั้นมีเสน่ห์

อย่างน่าประหลาด ข้าพเจ้าย่อมทราบดีว่า ผู้เขียนได้เขียนภาพนั้นด้วยชีวิต

มิใช่โดยไม่เอาใจใส่เลย ข้าพเจ้าแลเห็นความเคลื่อนไหวทุกสิ่งทุกอย่างในภาพ

อันสงบและดูเป็นธรรมดาที่สุดนั้น ทุกฉาก ทุกตอน ตั้งแต่บทต้น จนกระทั่ง

บทสุดท้ายซึ่งได้ปิดฉากลงอย่างแสนเศร้า เมื่อเร็วๆ นี้เอง…

ได้กล่าวแล้วว่านวนิยายเรื่องนี้ เหตุการณ์ทางกายมีความสำคัญน้อยกว่าเหตุการณ์ภายในจิตใจของตัวละคร คือนพพรและคุณหญิงกีรติ นวนิยายเรื่องนี้มุ่งให้เห็นความก้าวหน้านั้นได้อย่างละเมียดละไม เริ่มด้วยนพพรพิศวงความเปล่งปลั่งของคุณหญิงกีรติ คิดว่าคุณหญิงอยู่ในวัยสาวกว่าที่เป็นจริง และแตกต่างจากเจ้าคุณสามีมาก แล้วคุณหญิงก็เริ่มแสดงท่าทีต่อนพพรอย่างหญิงที่มีจิตใจอารีปฏิบัติต่อชายหนุ่มที่อยู่ในวัยเยาว์กว่า โดยไม่ต้องห่วงใยกับปฏิกิริยาของชายหนุ่มผู้นั้นเลย เมื่อเห็นเสื้อเปื้อนก็เรียกให้ถอดออก แล้วจัดการทำความสะอาดให้ เมื่อเห็นเนกไทมีรอยปริก็เรียกมาเย็บให้ ซึ่งเป็นพฤติการณ์ที่ไม่ผิดไปจากธรรมดาสามัญ ซึ่งเจ้าคุณสามีผู้รู้วัยของคุณหญิงและวัยของนพพร ย่อมจะไม่พะวงสงสัยไปในทางเสื่อมเสียประการใด เว้นเสียแต่เจ้าคุณจะเป็นคนขี้หึงพิเศษ แต่ตามเรื่องนี้ เจ้าคุณไม่มีอุปนิสัยเช่นนั้น ดูเหมือนจะเป็นไปในทางตรงกันข้าม คือไม่มีระแวงเลย

ผู้ประพันธ์แสดงให้เห็นสภาพทางใจของนพพรว่า ขยับเข้าไปหาความรักทีละขั้นๆ ได้อย่างไร เมื่อได้รับความปรานีจากผู้ที่ตนนิยม ทั้งในความสวยงามและความเฉลียวฉลาด นพพรก็เคลิ้มฝัน เห็นแต่ความสวยงามและสติปัญญาของหญิงงามว่าพิเศษน่าพิศวง อันเป็นไปตามธรรมชาติของชายหนุ่มวัยนั้น เมื่อเกิดนิยมในสิ่งใดก็มักนิยมอย่างสุดขีด สิ่งแวดล้อมก็ช่วยอนุเคราะห์ให้นพพรเป็นไปเช่นนั้น โอกาสที่นพพรจะได้ใกล้ชิดคุณหญิง ได้ฟังความคิดเห็นที่นพพรเห็นว่าเลิศมีบ่อยมาก คุณหญิงกับนพพรไปเดินเล่นด้วยกันตามถนนเล็กๆ ชานเมือง เพลิดเพลินกับภูมิภาพงดงามของประเทศญี่ปุ่นในฤดูกาลอันยั่วเย้าความรู้สึกที่เกี่ยวโยงกับการเพิ่มพันธุ์ของมนุษย์ ตามที่นักวิทยาศาสตร์ทุกสาขารับรองและกวีทั้งโลกยืนยัน ผู้หญิงที่นพพรใกล้ชิดก็มีอุปนิสัยที่จะทำให้นพพรเคลิบเคลิ้ม รสนิยมตรงกัน เป็นผู้ฟังและผู้พูดพอเหมาะพอดีกัน ดังที่นพพรเล่า

เมื่อเราอยู่ด้วยกันแต่ลำพัง เรามีเรื่องสนทนากันมาก เรื่องหนึ่งหมดไป

เรื่องใหม่ก็เข้ามาแทนที่ บางเรื่องก็เป็นเรื่องยืดยาว และบางเรื่องก็จบลงด้วย

คำพูดเพียงสองสามประโยค

นพพรมองดูคุณหญิงแต่ความเจริญหูเจริญตา

ท่าทีที่สงบเสงี่ยม เจือปนอาการกิริยาของเด็กเล็กน้อยนั้น ทำให้ข้าพเจ้า

แลเห็นเสน่ห์และความงามของหม่อมราชวงศ์กีรติอย่างที่ไม่มีคราใดจะ

เปรียบปาน ข้าพเจ้าก็ได้แต่เพลินชมและสรรเสริญอยู่แต่ในใจ

นพพรไม่ละเมิดในทางใด ยิ่งเกิดความรัก ก็ยิ่งมีความนับถือเพิ่มขึ้น และคุณหญิงกีรติก็ทำให้นพพรนับถือไม่เสื่อมคลายตามความนิยมของยุคสมัยนั้น ในตอนหลัง นพพรรู้ว่าวัยที่แท้จริงของคุณหญิงสูงกว่าที่นพพรเข้าใจ โดยคุณหญิงเป็นผู้บอกเอง แทนที่นพพรจะรู้สึกว่าคุณหญิงอยู่ในวัยสูงเกินกว่าจะใฝ่ฝันถึง กลับยิ่งเพิ่มความเห็นใจต่อคุณหญิงขึ้นไปอีก และยิ่งได้ฟังว่าคุณหญิงมีความเศร้าเจืออยู่ในความรู้สึกเกี่ยวกับวัย นพพรยิ่งรู้สึกคล้ายกับว่าเขาควรจะชดเชยด้วยความภักดี

โอกาสที่ชายหนุ่มและหญิงต่างวัยจะใกล้ชิดกันยังคงมีอยู่เรื่อยๆ จากสถานที่งดงามพอประมาณ ไปสู่สถานที่ที่ชวนเคลิบเคลิ้มยิ่งขึ้น นพพรกับคุณหญิงมีโอกาสไปนั่งเรือในทะเลสาบ และได้แสดงความรักต่อคุณหญิงเป็นครั้งแรกด้วยการใช้ผ้าเช็ดหน้าผืนใหญ่คลุมเท้าของคุณหญิง

ข้าพเจ้าปลดผ้าเช็ดหน้าผืนใหญ่ออกจากคอ แล้วจัดแจงคลุมลงไป

บนเท้าขาวผ่องของเธอ

เมื่อคุณหญิงท้วงติง นพพรก็ว่า

“คุณหญิงไม่ทราบดอกหรือว่า เท้าของคุณหญิงนั้นงามกว่าลำคอของผม

เสียอีก และควรได้รับความทะนุถนอมยิ่งกว่า”

นับแต่นั้นมา ความสนิทสนมเยี่ยงมิตรก็เปลี่ยนเป็นความสนิทสนมระหว่างชายที่ใฝ่รัก กับหญิงที่รู้ว่าชายตกอยู่ในห้วงรัก แต่หญิงก็ไม่หลีกเลี่ยงโอกาสที่จะอยู่ด้วยกันตามลำพัง ฝ่ายหญิงทำให้ฝ่ายชายเห็นใจด้วยการให้รู้ว่าตนเป็นผู้อาภัพเกี่ยวกับความรัก และชีวิตสมรสนั้นก็ปราศจากความรัก ผู้ประพันธ์ได้เลือกถ้อยคำให้ ม.ร.ว. กีรติใช้อย่างเหมาะสมและควรระทึกใจโดยเฉพาะสำหรับชายหนุ่มวัย ๒๒ ปี

“ความผาสุก ที่ฝ่ายหญิงแสดงว่าได้รับหรือได้มีอยู่นี่แหละ อาจทำให้

คนโดยมากเข้าใจไปว่า ความรักย่อมอุบัติขึ้นได้ในระหว่างวัยแก่กับวัยสาว

นอกจากนั้น เจ้าตัวผู้หญิงเองเมื่อมีความผาสุกพอสมควรแล้ว ก็มักไม่สนใจ

ในปัญหาที่เกี่ยวกับความรัก เพราะว่าจะเป็นความรักหรือไม่ก็ตาม เมื่อมี

ความผาสุกแล้วจะต้องการอะไรอีก คนทั้งหลายอยู่กันได้ด้วยวิธีนี้และคนโดย

มากเชื่อถือว่า ความรักเป็นมารดาของความผาสุก ซึ่งตามความเห็นของฉันแล้ว

ฉันเห็นว่า ไม่ใช่ของจริงเสมอไป ความรักอาจทำให้เกิดความขมขื่น หรือ

ความร้ายกาจต่างๆ นานาแก่ชีวิตก็ได้ แต่ว่าในดวงใจของผู้มีความรักนั้น จะ

มีน้ำทิพย์แห่งความหวานชื่นหล่อเลี้ยงอยู่เป็นนิจนิรันดร-เป็นความหวานชื่น

ที่ซาบซึ้งใจอย่างประหลาดมหัศจรรย์ ฉันยังไม่เคยประสบสิ่งนี้ด้วยตัวเอง

ฉันพูดตามความเชื่อถือของฉัน”

ในบทสนทนานี้ ผู้ประพันธ์แสดงสารของ ม.ร.ว. กีรติ และของผู้ประพันธ์ไปด้วยในตัว ประโยคต้นๆ ผู้พูดชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่างความผาสุกกับความรัก ในประโยคต่อๆ ไป พยายามจะเตือนตัวเองและเตือนเพื่อนสนทนาถึงความขมและความหวานของความรัก ซึ่งความหวานระคนความขมนั้นเองเป็นรสทิพย์ที่หล่อเลี้ยงใจ ในตอนปลาย

ผู้พูดมีมารยาทของหญิง ด้วยการจบคำสนทนาโดยบอกว่าตนไม่เคยประสบความรู้สึกหวานขมและความเป็นทิพย์ พร้อมกันนั้นก็ทำให้คู่สนทนาเข้าใจว่าตนปรารถนารสทิพย์นั้น ในขณะเดียวกันคำพูดตอนนี้ไปประสานกับคำพูดของ ม.ร.ว กีรติ ก่อนตายและก่อนที่เรื่องจะจบ ว่าคนที่เคยรักนั้น ถึงแม้จะมีความระทมทุกข์ แต่ก็น่าภาคภูมิใจกว่าคนที่เคยประสบแต่ความผาสุกโดยไม่มีความรัก

วิจารณ์และวิพากษ์

ในจังหวะนี้ เห็นควรตั้งข้อสังเกตข้อแรกคือ การที่คุณหญิงกีรติชี้ว่า ความรักระหว่างวัยแก่กับวัยสาวจะเกิดไม่ได้นั้น น่าสงสัยว่าผู้ประพันธ์จงใจให้เป็นเหตุการณ์เฉพาะ ม.ร.ว. กีรติกับเจ้าคุณสามีหรือถือว่าเป็นธรรมดา ม.ร.ว. กีรติกล่าวเรื่องนี้หลายครั้ง ตอนหนึ่งกล่าวว่า

“วัยของเราแตกต่างกันมาก สิ่งนี้เปรียบเสมือนภูเขาลูกใหญ่ ที่กั้น

ระหว่างความรักของเราทำให้ความรักของเราพบกันไม่ได้”

และอีกตอนหนึ่ง

“วัยแห่งรสรักได้ผ่านพ้นท่านไปเสียแล้ว”

ข้าพเจ้าอดที่จะคิดตามไม่ได้ว่า เมื่อผู้ประพันธ์อายุ ๕๐ ปี ย้อนกลับมาอ่านนวนิยายเรื่องนี้ ผู้ประพันธ์มีความรู้สึกอย่างไร เพราะผู้ชายอายุ ๕๐ ปีที่มีสมรรถภาพสูงมีมากพอใช้ ถ้าหากสุขภาพดี มีอุปนิสัยในเชิงรัก ก็อาจทำให้ผู้หญิงสาวๆ หลงด้วยซ้ำ และผู้ชายบางคนมีสมรรถภาพในเชิงนี้สูงจนกระทั่งอายุกว่า ๖๐ ก็มี ถ้าหากคุณหญิงจะกล่าวถึงเจ้าคุณว่าเป็นคนทุ่มเทกับงานหรือขาดความเข้าใจผู้หญิง ก็จะทำให้สารของผู้ประพันธ์แจ่มชัดขึ้น

ความแตกต่างระหว่างวัยเพียง ๑๕ ปีมิได้เป็นอุปสรรคเชิงรักแก่คู่ผัวเมียทั่วไป โดยเฉพาะเมื่อชายอายุเพียง ๕๐ ปี ผู้ชายวัยนี้หากอ่านนวนิยายเรื่องนี้คงมีปฏิกิริยาต่างๆ กัน น่าจะมีผู้ติดตามสอบถาม แต่ถ้าตัดปัญหาเรื่องนี้ออกเสียซึ่งอาจเป็นข้อบกพร่องเชิงกลวิธีที่ผู้แต่งหลงลืมไม่ได้ให้คุณหญิงกีรติกล่าวถึงอุปสรรคอื่นระหว่างความรักของเจ้าคุณและคุณหญิง และเน้นเรื่องวัยมากไป หรือจะเป็นความบกพร่องเชิงความรู้ก็ตาม ต้องถือว่าเป็นความบกพร่องเล็กน้อยเมื่อเทียบกับคุณภาพของนวนิยายในด้านวรรณศิลป์ ซึ่งผู้ประพันธ์ใช้กลวิธีอย่างพินิจพิเคราะห์ในส่วนสำคัญที่สุดของเรื่อง คือความรู้สึกของนพพรซึ่งเป็นผู้เล่าเรื่อง ทำให้เห็นว่านพพรเขยิบเข้าสู่ห้วงรักได้อย่างไร และหลุดออกจากห้วงรักได้อย่างไร ความสนิทสนมระหว่างนพพรกับกีรตินั้นคืบหน้าทีละก้าว จากการแสดงความปรานีธรรมดาของคุณหญิง ทำให้นพพรพอใจและนับถือ เข้าไปหาความพึงพอใจที่จะสนทนากัน เพราะคุณหญิงชักนำอารมณ์ของนพพรไปในทางประณีตงดงามอันเหมาะแก่ความสวยงามของตัวคุณหญิง นพพรแสดงความรักต่อคุณหญิงด้วยการเอาผ้าเช็ดหน้าคลุมเท้าให้กลางแสงจันทร์ กลางทะเลสาบ แล้วคุณหญิงก็เอาผ้าพันคอให้นพพร จากการเป็นเพื่อนสนทนา ทำให้มีโอกาสเข้าใกล้ถึงสัมผัส นพพรกล่าวว่า

ความรู้สึกประหลาดอย่างหนึ่งแล่นเข้ามาจับหัวใจข้าพเจ้าอย่าง

ปัจจุบันทันด่วน…ประดุจเป็นมืออันแข็งแรงจับและสั่นหัวใจของข้าพเจ้าจน

ข้าพเจ้าแทบจะรู้สึกหวั่นไหวไปทั่วสรรพางค์กาย ความรู้สึกประหลาดนั้นได้

ขับไล่ความรู้สึกปกติของข้าพเจ้า และได้เข้าครอบครองมีอำนาจเหนือข้าพเจ้า

อยู่ชั่วขณะหนึ่ง

ความสนิทสนมเขยิบขึ้นไป จวบจนเวลากลับของคุณหญิง นพพรมีความรู้สึกเกี่ยวกับคุณหญิงกีรติและจินตนาการมาก สมกับเป็นชายหนุ่มที่ช่างคิดช่างสังเกต ถึงกับวาดภาพว่า จะไม่ยอมลาจากคุณหญิงที่สถานีโตเกียว

เพราะรถไฟจะพาดวงหน้าและมือน้อยๆ ของเธอที่โบกลาข้าพเจ้า

ลับตาไปอย่างรวดเร็ว…ข้าพเจ้าจะเดินทางออกจากโตเกียวไปพร้อมกับเธอ

ไปคอยจับเรือที่โกเบ…เรือเดินทะเลลำใหญ่จะค่อยๆ พาเธอห่างข้าพเจ้าไปช้าๆ

มิใช่ด้วยอาการฮวบฮาบรุนแรงดุจรถไฟ…

บัดนี้หม่อมราชวงศ์กีรติคนแรก ผู้เคร่งขรึมและดูเป็นผู้หลักผู้ใหญ่

แม้ว่าจะอ่อนโยนและหวาน…ได้เลือนหายไปจากความรู้สึกของข้าพเจ้าแล้ว

ข้าพเจ้าจะจดจำภาพแรกของเธอได้ก็แต่ในเวลาคำนึงถึงภาพของหม่อม

ราชวงศ์กีรติที่สิงอยู่ในความรู้สึกของข้าพเจ้าเนืองนิตย์นั้น เป็นภาพของสตรีสาว

ที่แสดงตนเป็นเพื่อนรักสนิทของฉัน…เป็นผู้ให้ความชุ่มชื่นอเนกประการแก่

ชีวิตอันเปล่าเปลี่ยวของข้าพเจ้า…

และก็เพราะนพพรยืดเวลาการอยู่ใกล้คุณหญิงกีรติออกไป นพพรจึงไปเที่ยวตามลำพังกับคุณหญิงที่มิตาเกะ และได้ฝากรักอย่างเป็นที่แน่ใจแก่คุณหญิงกีรติ พฤติการณ์ที่มิตาเกะนี้เองทำให้คุณหญิงต้องเสียชีวิตด้วยความโศกเศร้า เพราะที่นี่ได้สร้างความฝันให้กับคุณหญิง เมื่อเจ้าคุณตายแล้ว ความฝันก็เปลี่ยนเป็นความหวังแจ่มขึ้น และแจ่มขึ้นอีกเมื่อนพพรกลับประเทศไทย แต่ความหวังและความฝันนั้นก็สลายไป คงเหลือแต่ความทรงจำ

ถ้าจะตีความหรืออ่านสารของเรื่องไปอีกด้านหนึ่งว่า

หม่อมราชวงศ์กีรตินั้นเป็นคนที่มีอุปาทานยึดอยู่กับวัย มีความรู้สึกถึงความแตกต่างระหว่างวัยของตนกับของสามีมากเป็นพิเศษกว่าคนอื่นๆ แล้วก็เกิดภาคภูมิใจว่า วัยระหว่างตนกับนพพรนั้นหาได้เป็นอุปสรรคที่จะทำให้นพพรรักตนไม่ และตนเองมีความรักอย่างดูดดื่มตอบสนอง คุณหญิงได้หล่อเลี้ยง “รสทิพย์” ของความรักนั้นไว้เป็นเวลานานถึง ๕ ปี แล้วการสลายของความฝันและความหวังก็มาถึง

นวนิยายเรื่องนี้ย่อมจะเรียกความเศร้าจากผู้อ่านตอบสนองความเศร้าของตัวละครเป็นอย่างยิ่ง

กล่าวโดยสรุปอีกครั้งหนึ่ง ข้าพเจ้าขอยืนยันว่า นวนิยายเรื่องนี้เป็นวรรณศิลปกรรมอันหนึ่ง ถึงแม้ภาษาจะมีข้อบกพร่องบ้าง แต่เป็นข้อบกพร่องของระยะพัฒนาการร้อยแก้วซึ่งเป็นเครื่องมือใหม่ของวรรณคดีไทย และถึงแม้จะมีข้อบกพร่องด้านอื่นบ้างดังที่ได้ชี้ไว้ แต่นวนิยายเรื่องนี้แสดงถึงความตั้งใจสร้างศิลปะ มีความบรรจงในการเรียบเรียง และมีความละเมียดละไมเชิงอารมณ์ สารที่ส่งออกมาจากนวนิยายนั้นมิใช่ชนิดที่ปราศจากความหมายต่อชีวิต และมิใช่ชนิดที่ไม่นำพาต่อกลศิลป์.