วิภาพ คัญทัพ

หากจะกล่าวถึงความเป็นที่รู้จักของนวนิยายเรื่องข้างหลังภาพ (พ.ศ. ๒๔๘๐) และลูกผู้ชาย(พ.ศ. ๒๔๗๑) ของ “ศรีบูรพา”  ข้างหลังภาพดูเป็นเรื่องที่มีภาษีดีกว่าสักหน่อย ตรงที่เคยเป็นภาพยนตร์ร่วมสมัยอยู่หลายครั้ง  ดังนั้นตัวละครเอกฝ่ายหญิงของเรื่องคือ “ม.ร.ว. กีรติ” จึงเป็นที่รู้จัก กระทั่งมีเพลงประกอบภาพยนตร์ชื่อ “กีรติ” ในขณะที่ “มาโนช” ซึ่งเป็นตัวละครเอกฝ่ายชายของเรื่องลูกผู้ชาย เป็นที่รู้จักน้อยกว่ามาก  ยิ่งพูดถึงแก่นเรื่องก็ดูจะห่างไกลความสนใจทั่วไป  แต่เป็นที่รู้จักและประทับใจในหมู่นักอ่านที่นิยมสัมผัสความเป็นมนุษย์

ในที่นี้จึงจะเพ่งเล็งพิจารณาตัวละครเอกสองตัวจากนวนิยายสองเรื่องดังกล่าว ตัวหนึ่งเป็นตัวละครฝ่ายหญิง อีกตัวหนึ่งเป็นตัวละครฝ่ายชาย เป็นการพิจารณาในแง่ของความเป็นมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์รักในบทบาทของหญิงชายที่ถูกกำหนดด้วยสถานะทางเพศและสถานะทางสังคม  ซึ่งวิถีสังคมกำหนดกรอบในการดำเนินชีวิตไว้แตกต่างกัน และ “ศรีบูรพา” ได้สะท้อนถ่ายทอดในหลายมุมมองที่น่าสนใจ  ทั้งนี้เพื่อแสวงหาคุณธรรมในความรักโดยสรุปผลจากกรณีศึกษาบทบาทของตัวละครที่ “ศรีบูรพา” ได้บรรจงวาดไว้

ข้างหลังภาพ : สุภาพสตรีสูงศักดิ์ผู้งามพร้อม

ในเรื่องข้างหลังภาพ ผู้อ่านมองภาพคุณหญิงกีรติผ่านสายตาของนพพรที่เฝ้าสังเกตคุณหญิงกีรติอย่างชื่นชม นับแต่ครั้งแรกที่เขาได้เห็นความงามของคุณหญิงกีรติเมื่อไปต้อนรับที่สถานีรถไฟ

…แลดูเป็นสาว และเต็มไปด้วยความเปล่งปลั่ง แต่งกายงดงามมีสง่า  แม้เพียงชั่วการชำเลืองเห็นเป็นครั้งแรก

ส่วนภายในจิตใจคุณหญิงกีรติเป็นอย่างไรนั้น นพพรรับรู้จากข้อความในจดหมายของเจ้าคุณอธิการบดีผู้สามีว่า

…กีรติเป็นคนที่ค่อนข้างเงียบอยู่สักหน่อยสำหรับผู้ที่ยังไม่คุ้นเคยกัน แต่เป็นคนใจคอโอบอ้อมอารี ไม่ต้องสงสัย…

ต่อมาเมื่อได้ใกล้ชิดกัน ในฐานะผู้นำเที่ยวของคุณหญิงในเวลาที่เจ้าคุณมีกิจกับมิตรสหายในประเทศญี่ปุ่น นพพรได้สังเกตเห็นกิริยาท่าทีของคุณหญิง พร้อมกับแนวคิดและรสนิยมอันมีลักษณะเฉพาะตัวที่น่าสนใจ

…ในเวลาที่เธอได้รับความเบิกบานใจในการสนทนากับข้าพเจ้าสองต่อสอง เธอเคยเปล่งหัวเราะเต็มที่ เสียงหัวเราะของเธอเต็มไปด้วยชีวิตและความบริสุทธิ์ของเด็ก

สุภาพสตรีผู้งดงามกับกิริยาอ่อนหวานและการวางตัวเป็นผู้ดีสมชาติตระกูล คือภาพคุณหญิงกีรติที่ผู้อ่านได้รับผ่านสายตานพพร เป็นภาพอันชวนชื่นใจ แม้จะเป็นหญิงสูงวัยถึง ๓๕ ปีในตอนต้นเรื่อง และ ๔๐ ปีเศษในตอนท้าย  หากแต่จะมีการขยายความว่าคงความสวยงามและความอ่อนเยาว์ไว้ได้ดีเป็นพิเศษเสมอ

…เป็นเวลานานไม่ต่ำกว่าชั่วโมง ข้าพเจ้าได้สังเกตเห็นว่าวัย ๔๐ ปีของหม่อมราชวงศ์กีรติได้ปรากฏออกให้เห็นเล็กน้อย จากริ้วรอยบางแห่งตามพื้นผิวอันงามของเธอ แต่ในส่วนกิริยาการและการพูดจาพาทีนั้น เธอมิได้เปลี่ยนแปลงไปจากหม่อมราชวงศ์กีรติคนเดิมเลย แช่มช้อยและหวานอย่างไรก็อย่างนั้น…

แต่ในทัศนะของคุณหญิงนั้นมองเรื่องความงามของสตรีในสังคมไทยว่า

“ยิ่งกว่านั้น บางทีคุณความดีของสตรีก็ถูกมองข้ามเลยไป ถ้ามิได้อาศัยอยู่ในความงาม”

คุณหญิงโชคดีที่ได้เป็นคนดีในร่างงาม จึงได้รับความสนใจ หากแต่ว่ามีชีวิตที่น่าสงสารเพราะดิ้นรนอยู่ในกรอบแห่งความดีตามการเรียกร้องของสังคม ทั้งที่โดยความคิดเป็นอิสระ  น้ำเสียงของคุณหญิงที่มีต่อทัศนคติของผู้คนในสังคมนั้น จึงเป็นน้ำเสียงที่ไม่ชื่นชมศรัทธา

“…เป็นการถูกต้องหรือที่เราจะปกป้องกำบังความเป็นสาวสดชื่นของเราไว้เสียจากนัยน์ตาของคนภายนอก? ชีวิตได้กำไรที่ตรงไหนเล่า ในการกระทำเช่นนั้น? เป็นการฉลาดหรือที่ไม่เปิดเผยวัยงามที่สุดของเรา  ฉันไม่ใคร่ได้คิดอะไรในเวลานั้น เพราะว่าเราไม่ได้ถูกอบรมให้เป็นคนช่างคิด เรามีทางที่เขากำหนดไว้ให้เดิน เราต้องเดินอยู่บนทางแคบๆ ตามจารีตประเพณีขนบธรรมเนียม”

ม.ร.ว. กีรติ : “คนนอก” ทางความคิด

คุณหญิงกีรติเป็นคนงามที่ยึดมั่นในความดี ขณะเดียวกันก็ต้องสู้กับความคิดของตัวเองที่คอยคัดง้างกับสังคมอยู่ร่ำไป โดยเฉพาะเมื่อมีนพพรมาเป็นโจทย์ใหญ่ในชีวิต

ความสมบูรณ์พร้อมทั้งฐานะ ร่างกาย และจิตใจอันบริสุทธ์นั้น  ชวนให้ผู้อ่านรู้สึกสงสารหนัก เมื่อพบว่าคุณหญิงมีความเป็นตัวของตัวเองเพียงแค่ในโลกของความคิด

ที่ดูเป็นคนกล้าคิดกล้ารู้สึกเยี่ยงศิลปิน การแสดงออกของคุณหญิงกลับเป็นไปตามขนบธรรมเนียมของสังคม ทำให้เด็กหนุ่มที่ผ่านโลกในความจริงมาเพียง ๒๐ ปีเศษอย่างนพพร ยากที่จะเข้าใจความคิดกับการแสดงออกที่ขัดแย้งกันนั้น และท้ายที่สุดเขาก็เลือกที่จะเข้าใจเฉพาะสิ่งที่เป็นหน้าที่หรือเรื่องเฉพาะหน้าของเขา

นพพรจึงเป็นเพียงตัวละครคู่กรณีของคุณหญิง ที่อยู่กับอารมณ์พาฝันไม่นานนัก อาจฟุ้งซ่านอยู่ชั่วระยะหนึ่งตามจังหวะของอารมณ์คนหนุ่ม แล้วก็กลับมาเข้าที่อยู่ในโลกของความเป็นจริงได้ในเวลาอันรวดเร็ว

โดยเขามีข้อสรุปชัดเจน และกล่าวกับคุณหญิงกีรติว่า

“…ความรักให้ความชุ่มชื่นในเบื้องต้น แต่ได้จบลงด้วยทุกข์ทรมานอย่างแสนร้ายกาจ ผมได้คิดในตอนหลังว่า ผมได้ปล่อยตัวให้เตลิดเพริดไปอย่างไม่สมควรยิ่ง ผมควรจะรักและนับถือคุณหญิงดุจพี่สาวของผม”

กล่าวได้ว่าความอ้อมค้อมระวังตนของคุณหญิงในทางสังคมทำให้ไม่เกิดความประจวบเหมาะกับอารมณ์รัก ทั้งที่คุณหญิงเริ่มรักนพพรพร้อมๆ กับที่นพพรรัก เมื่อนพพรสารภาพว่าความรักของเขาเกิดที่มิตาเกะ

คุณหญิงแย้งว่า

“ความรักของเรา นพพร”

คุณหญิงทราบดีในความรักที่นพพรมีต่อเธอ เนื่องเพราะการสื่อความหมายชัดเจนของนพพร หากแต่คุณหญิงเลือกที่จะแสดงออกอย่างผู้ดี นั่นคือจำกัดขอบเขตของตัวเองไว้ และสื่อความอย่างซ่อนเร้นภายใต้ภาษาท่าทางและคำพูด ทั้งนี้เพราะคุณหญิงอยู่ในฐานะของผู้มีสามีแล้ว

อยู่อย่างหมดหวังกับเสรีภาพของตัวเองโดยสิ้นเชิง

สำหรับข้างหลังภาพ  “ศรีบูรพา” ได้เลือกเสนอภาพลักษณ์ของสุภาพสตรีในสังคมชั้นสูงที่มีความสมบูรณ์พร้อมทางกาย แต่มีเงื่อนไขทางสังคมหลายประการ เช่น ความเป็นผู้หญิง ความมีชาติตระกูล ความรักและการครองเรือนกำหนดให้ไม่สามารถวางตัวและแสดงออกได้อย่างอิสระ ยังผลให้จังหวะชีวิตผิดพลาดคลาดเคลื่อนไป ที่ควรจะได้พบกับความรักและคนรักมาตั้งแต่ในวัยสาว กลับปล่อยให้เวลาล่วงเลยมาจนต้องยอมแต่งงานกับคนชรารุ่นพ่อ

แม้คุณหญิงมีอิสระเมื่อสามีตาย ก็เป็นจังหวะที่นพพรกำลังจะเข้าพิธีแต่งงาน  การไม่สามารถทำใจไปร่วมงานแต่งงานของนพพรได้ ทำให้คุณหญิงกลายเป็นคนนอกสังคมซ้ำแล้วซ้ำอีก ในขณะที่นพพรเป็นคนดีของสังคม

ความเป็นคนดีของนพพรนั้นเข้าใจได้ง่าย คือ ลูกที่ดีของพ่อแม่ ศิษย์ที่ดีของสถาบัน หรือนักทำงานที่ดีขององค์กร  แต่ความเป็นคนนอกสังคมของคุณหญิงดูเป็นเรื่องประหลาดซับซ้อนและยุ่งยากที่ต้องการคำอธิบาย

บนยอดเขาแห่งอิสรภาพ

ด้วยเหตุที่เป็นลูกผู้หญิง คุณหญิงจึงมีกรอบกำหนดให้เดินไป ในขณะที่หัวใจนั้นเป็นอิสระเกินและไกลไปจากกรอบที่กำหนด  ในวัยสาวดูเหมือนความสวยงามของคุณหญิงทำให้ยิ่งต้องระมัดระวังและวางตัวอยู่ในกรอบ เป็นพี่สาวคนโตของบ้านที่น้องสาวได้พบกับความรักและแต่งงานไปก่อนหน้า

“…ฉันเป็นคนโชคดีที่เกิดมาสวย แต่ฉันเป็นคนโชคร้ายที่เกิดมาไร้ความรัก และก็อาจเป็นเพราะความสวยนั่นเองที่ฉันได้ถูกปกป้องกีดกัน จากการติดต่อกับโลกภายนอกยิ่งกว่าน้องๆ…”

การแต่งงานจึงเป็นพิษหนักของคุณหญิง ทั้งการแต่งงานของคนอื่นและการแต่งงานของตนเอง  ในการแต่งงานกับเจ้าคุณอธิการบดีนั้นคุณหญิงจำต้องน้อมปฏิบัติเพื่อสนองคุณบิดา  การไม่ได้เลือกวิถีชีวิตด้วยตนเอง ทำให้เสียใจหนักหนาสาหัส

“…ทรงขอร้องให้ฉันรับรองการแต่งงานกับเจ้าคุณ ฉันถึงแก่น้ำตาตก ฉันร้องไห้ด้วยความตกใจและด้วยความรู้สึกอย่างอื่นอีกหลายอย่าง…”

การก้าวเข้าไปในชีวิตแต่งงานของคุณหญิงกีรติเป็นเหตุผลแบบคนนอกสังคม เพราะไม่ได้แต่งงานด้วยความรักหรือความพอใจในเกียรติยศฐานะที่เหมาะสม หรือแม้แต่ด้วยใจศิโรราบต่อประเพณีคลุมถุงชน  หากแต่การแต่งงานของคุณหญิงคือการปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสรภาพจากบ้านใหญ่หลังหนึ่งไปสู่บ้านใหญ่อีกหลังหนึ่ง โดยชัดเจนว่าสังคมครอบครัวบีบคั้นความเป็นตัวของตัวเองของคุณหญิงให้เล็กลงไปจนเกือบดับสิ้น

ถ้าหากไม่มีนพพรมาช่วยปลุกวิญญาณอิสระให้เติบโตขึ้นอีกครั้ง

ที่มิตาเกะ คุณหญิงจึงพูดอะไรเป็นสัญลักษณ์แทนชีวิตตัวเอง อันดำเนินเรื่อยมาภายใต้เงื่อนไขของสังคมที่ไม่เปิดโอกาสให้หญิงสูงศักดิ์สามารถทำอะไรตามอำเภอใจ

“นพพร, ถ้าเราทั้งสองจะดำรงชีวิตอยู่แต่บนยอดเขามิตาเกะนี้ตลอดไปจนชั่วชีวิตหาไม่ คำพูดของเธอก็เป็นการถูกต้องทุกอย่าง แต่ความจริงอีกประเดี๋ยวเราก็จะลงไปจากภูเขาลูกนี้ ไปเผชิญหน้ากับฝูงชน…”

การแต่งงานของนพพรแสดงพิษหนักอีกระลอกหนึ่ง ทำให้คุณหญิงถึงกับล้มป่วย ไม่อาจทรงกายไปอวยพรให้นพพรได้ในฐานะมิตร และเพราะคุณหญิงเป็นผู้มีอุดมคติในการแต่งงาน จึงแสดงความแปลกใจที่นพพรให้คำตอบเมื่อจะแต่งงานว่า เขาเป็นผู้ไม่มีอุดมคติในการแต่งงาน

คุณหญิงตกตะลึงถึงกับรำพึงถามนพพรว่า

“ผู้ชายทุกคนเป็นอย่างเธอหรือนพพร?”

คุณหญิงจากโลกนี้ไปด้วยโรคร้ายที่เข้ามากัดกร่อนร่างอันโสภา ร่างอันโสภาของคุณหญิงจึงเป็นเสมือนตัวแทนของสุภาพสตรี ผู้ถูกลิขิตชีวิตด้วยค่านิยม ขนบและประเพณีของสังคม

การแต่งกายอย่างผู้ดี…ครั้งสุดท้าย

ในขณะที่โรคร้ายคุกคามนั้น คุณหญิงยังมีแก่ใจลุกขึ้นแต่งตัวอวดเพื่อให้ดูดีดูสวยเมื่ออยู่ต่อหน้านพพร ชายหนุ่มคนสำคัญที่อุตส่าห์มาเยือนถึงบ้าน

การแต่งตัวครั้งนั้นจึงแสดงความสูงศักดิ์อัครฐานและความเป็นผู้ดีในสังคมครั้งสุดท้ายก่อนสิ้นลม  ดูคล้ายกับว่าสังคมนั้นเรียกร้องอะไรไม่มาก ข้อเรียกร้องเป็นเพียงเปลือกที่สวยงามน่าชื่นชม แต่สภาพจิตใจของคุณหญิงนั้นย่ำแย่ คุณหญิงต้องขายวิญญาณให้แก่สังคมโดยยินยอมจำกัดเสรีภาพของตัวเอง  นพพรคือตัวแทนของคนในสังคมปรกติที่ไม่เข้าใจถึงความลึกซึ้งละเอียดอ่อนอันเป็นปัจเจกภาพที่อยู่นอกเหนือกฎกติกาทั่วไป

ในเวลาที่ความเป็นคุณหญิงอ่อนแอลงเพราะร่างกายถูกกัดกร่อนจนไม่สามารถจะพูดจาอะไรต่อไปได้อีกนั้น  เธอสู้อุตส่าห์เขียนประโยคสุดท้ายตั้งใจฝากให้นพพร ซึ่งที่จริงก็คือฝากให้สังคมไว้พร้อมกันว่า

ฉันตายโดยปราศจากคนที่รักฉัน แต่ฉันก็อิ่มใจว่า ฉันมีคนที่ฉันรัก

ความหมายอันชวนสะดุดใจ จึงไม่ใช่เพียงแค่แสดงความเป็นมนุษย์ว่าอิ่มใจที่ได้รัก ความน่าสนใจมากกว่านั้นยังอยู่ที่ข้อความในส่วนต่อมาคือ

ฉันตายโดยปราศจากคนที่รักฉัน

ผู้อ่านทราบดีว่า นพพรรักคุณหญิง และพร่ำบอกเสมอว่า “…ผมรักคุณหญิง” โดยพยายามจะถามคุณหญิงว่า “คุณหญิงรักผมไหม?” ก่อนหน้าที่ความรักของเขาจะค่อยๆ ยุติความงอกงาม ในระหว่างวันที่คุณหญิงยังไม่สามารถจะให้คำตอบอะไรได้ และในระหว่างที่ความเป็นเนื้อแท้ของตนกับความเป็นผู้ดีในสังคมกำลังทะเลาะแย้งกันอยู่ภายในจิตใจของคุณหญิงอยู่นั้น คุณหญิงระล่ำระลักบอกนพพรแทนคำตอบว่า>

“..นพพร…รีบไปเสีย ฉันแทบใจจะขาด”

ความหมายของการปราศจากคนที่รักฉันในเวลาที่คุณหญิงจะหมดลมหายใจนั้น จึงหมายถึงปัจจุบันขณะ เมื่อคุณหญิงตระหนักแน่ว่าความรู้สึกของนพพรได้เปลี่ยนไปแล้ว และเขากำลังจะก้าวหน้าไปมีชีวิตที่ดีตามครรลองของสังคมที่เปิดโอกาสให้เฉพาะผู้ชายที่มีความเพรียบพร้อมอย่างเขา

“ศรีบูรพา” ได้เชิญชวนให้ผู้อ่านที่ติดตามเรื่องราวข้างหลังภาพมาด้วยความระทึกใจในโศกนาฏกรรมของชีวิตลูกผู้หญิงจากครอบครัวชนชั้นสูงของยุคสมัย และแฝงฝังคำตอบไว้พร้อมกันว่า เหตุใดคุณหญิงจึงไม่สามารถตอบรักนพพรได้ในเวลาที่เขารู้สึกร้อนรนเหลือเกิน

จึงนับว่า ม.ร.ว. กีรติ รักเกียรติในความเป็นลูกผู้หญิงและความเป็นวงศ์สกุลที่สังคมกำหนด มากกว่าตัวตนและอารมณ์ส่วนตัว ยินยอมปล่อยให้ความรักรุ่งโรจน์อยู่เพียงในจิตใจและร่างกายอันสวยงาม และท้ายที่สุดก็แตกดับลงไปพร้อมกัน

ลูกผู้ชาย : เจ็บ ทน และกล้าหาญอย่างลูกผู้ชาย

ในลูกผู้ชาย “ศรีบูรพา” เชิญชวนให้ผู้อ่านเห็นความเป็นลูกผู้ชายของ “มาโนช” ผ่านพฤติกรรมที่สะท้อนความเจ็บปวดทั้งกายและใจหลายครั้งหลายครา นับแต่ยังเยาว์วัยที่เริ่มชกต่อยกับคีรี ลูกชายเศรษฐีผู้ทำอะไรเอาแต่ใจตัวเองโดยไม่คิดถึงความรู้สึกของคนอื่น

วันหนึ่งคีรีรังแกรำพรรณ เด็กผู้หญิงผู้เป็นเพื่อนสนิทของเขา  มาโนชเจ็บตัวเพราะเข้าไปปกป้อง  แต่ผลของการทำดีนี้คือถูกพ่อของตัวเองแท้ๆ ตบหน้าซ้ำ ด้วยเข้าใจผิดคิดว่าลูกชายเข้าไปรังแกเขาก่อน

เนื่องจากการใส่ความเอาประโยชน์เข้าข้างตัวของคีรี

มาโนชต้องเผชิญกับความเจ็บปวดอีกหลายครั้ง เพราะความเข้าใจผิด และการฉวยโอกาสของคนไร้คุณธรรมอย่างคีรีผู้ไม่วางตัวอยู่ในกฎกติกาข้อใด นอกเสียจากความต้องการของตนเอง

ครั้งหนึ่งที่มาโนชต้องเจ็บใจที่พลาดโอกาสเข้าชิงตำแหน่งที่หนึ่งในการแข่งขันวิ่งระดับโรงเรียน เพราะคีรีเล่นผิดกติกา แกล้งขัดขาเขา ในนาทีที่มาโนชกำลังจะวิ่งเข้าสู่เส้นชัย

“คุณคีรี! คนนรก!” รำพรรณร้องเสียงดังด้วยความเคียดแค้น “เล่นเฮี้ยวอย่างร้าย! เขาปัดขาเธอ ฉันกับแม่ละเมียดเห็นกับตาทีเดียว”

“แต่ดูเหมือนเขาไม่ได้เจตนา” มาโนชตอบไม่สู้เต็มเสียง

มาโนชมีแนวโน้มยอมรับทุกอย่างที่เกิดขึ้น แม้จะเจ็บปวดอยู่ภายใน ดังนั้นเมื่อเติบโตเป็นหนุ่ม เกิดรักชอบผู้หญิงคนเดียวกับทำนองผู้เป็นเพื่อนรัก มาโนชจึงยอมหลีกทางให้อยู่เงียบๆ ไม่แสดงตัวว่ารักซ้อน แม้กับหญิงคนรักก็ไม่ยอมบอกเล่าให้ล่วงรู้ความในใจ

มาโนชเสียสละเพื่อเพื่อนแล้ว ซ้ำยังต้องทำหน้าเป็นพ่อสื่อให้ด้วยความเต็มใจอีก ขณะชอกช้ำระคนสงสัยว่ารำพรรณรักทำนอง

…มาโนชเอนหลังกลับพิงพนักเก้าอี้ตามเดิมและถอนใจใหญ่ นึกพิศวงเป็นหนักหนาว่า เหตุไฉนรำพรรณจึงแสดงอาการมึนชาต่อตนถึงเพียงนั้น หล่อนคงจะรักทำนองเป็นแน่แล้ว ก่อนหน้าที่ยังไม่ได้ชักนำให้คนทั้งสองรู้จักกัน หล่อนอ่อนหวานจนเธอแทบจะเป็นบ้าคลั่งให้ได้ เดี๋ยวนี้เปลี่ยนไปเป็นคนละคน

มาโนชผิดหวังในรัก แต่ก็อดทนสร้างเนื้อสร้างตัว ประกอบกับความไม่อวดตัว สงบนิ่ง และพากเพียรทำดี อันเป็นวิสัยพื้นเดิมที่ผู้ประพันธ์วาดไว้ให้เห็นความเป็นลูกผู้ชายผ่านพฤติกรรมของมาโนช  ผู้อ่านได้เห็นผลว่าชีวิตของมาโนชดีขึ้นเรื่อยมาเป็นลำดับ นับแต่สอบเข้าเรียนกฎหมายได้ และเรียนดีจนทำให้เพื่อนฝูงชนชั้นสูงยอมรับ เช่น ทำนอง เป็นต้น โดยเฉพาะทำนองนั้นได้แสดงความเป็นลูกผู้ชายปกป้องและเสียสละเพื่อมาโนช

มาโนชได้เรียนรู้น้ำใจเยี่ยงนี้ ผ่านความช่างสังเกตของอาภาผู้น้องสาวของทำนอง

“…สิ่งที่คุณพี่เกลียดมากในโลกคือ ‘การดูถูก’ ‘การยกตนข่มท่าน’ หรือ ‘การข่มเหงเหยียบย่ำเกียรติยศของคนที่ต่ำกว่า’ สิ่งเหล่านี้เท่านั้นที่สามารถเรียกความโกรธทั้งหมดที่มีอยู่ในโลกให้มารวมอยู่ที่คุณพี่คนเดียว  ดิฉันได้ทราบเรื่อง ‘การดูถูก’ ที่เกี่ยวกับคุณพี่ราว ๔-๕ ครั้ง และไม่มีสักครั้งเดียวที่แกจะงดการต่อยตี ดิฉันรู้นิสัยของพี่ทำนองดี โดยมากเรื่องที่เกิดขึ้นก็ไม่เกี่ยวกับตัวหรอกค่ะ เป็นแต่เจ็บร้อนแทนคนอื่นเขาไปอย่างงั้นเอง…”

ทำนองเคยเจ็บร้อนแทนมาโนช เมื่อรู้ว่าได้รับการดูถูกและกลั่นแกล้งจากคีรี แต่ทำนองก็เติบโตขึ้นมาเป็นคู่เปรียบของมาโนชในวัยหนุ่ม  ในฐานะผู้หมายปองผู้หญิงคนเดียวกัน มาโนชจึงยอมหลีกทางให้อย่างง่ายดาย

ในท้ายที่สุดเรื่องมาเปิดเผย หลังจากวันที่รำพรรณแต่งงานกับทำนองไปนานแล้ว มาโนชพบบันทึกรักของรำพรรณเข้าโดยบังเอิญ จึงรู้ว่าที่ตนข่มใจเสียสละเพื่อเพื่อนนั้น ได้ทำร้ายน้ำใจของลูกผู้หญิงอย่างรำพรรณไปพร้อมกัน

การชะงักงันในรักสามรูปแบบ

มาโนชเป็นผู้เผชิญหน้ากับความรักถึงสามรูปแบบ แต่เกิดผิดพลาดไปเสียทั้งนั้น ด้วยเหตุเกี่ยวกับการสื่อสารไม่ชัดเจนอันเป็นบุคลิกส่วนตัวของเขา ผสมกับปัจจัยแวดล้อมอันไม่เอื้ออำนวยประกอบกัน

รูปแบบที่ ๑ รำพรรณ กับความสับสนในท่าทีของมาโนช

เรื่องราวปูพื้นมาตลอดว่ารำพรรณเป็นคนจากครอบครัวฐานะดีและเป็นหญิงไทยที่ไม่สามารถแสดงความรู้สึกอย่างตรงไปตรงมาได้ โดยเฉพาะในเรื่องความสนใจต่อเพศตรงข้าม  การต่อสู้ภายในจิตใจของรำพรรณแสดงออกชัดเจนในบันทึกรักส่วนตัวของเธอ

“…อยากถามเธอนักว่าแม่อาภาน่ะเป็นคู่รักกันจริงๆ หรือ ทำไมหนอธรรมชาติจึงทรมานผู้หญิงอย่างนี้ทำไมไม่เปิดสิทธิ์ให้ผู้หญิงได้กล่าวความรักแก่ผู้ชายก่อนบ้าง…”

ต่อมาเมื่อมาโนชพบบันทึกลับนี้และได้อ่านโดยบังเอิญ เขาจึงรู้สึกหัวใจเต้นเหมือนตีกลอง เหตุที่เป็นไปเช่นนั้นเกิดจากความสับสนในการสื่อสาร  ค่าที่ว่ามาโนชไม่มั่นใจในสถานะทางสังคมของตัวเอง คิดแต่ว่ารำพรรณคงจะสนใจคนที่มีฐานะเสมอกันเช่นทำนอง

ขณะเดียวกันอาภาก็กล้าแสดงออกต่อมาโนชฉันคนรัก ประจวบกับท่าทางสงบเสงี่ยมเจียมตัวของมาโนชเอง ยิ่งทำให้รำพรรณเข้าใจผิดคิดว่ามาโนชรักอาภา

“…แม่อาภานั่งกลาง เธอนั่งขวา คุณทำนองนั่งข้างซ้าย ดูดั่งกับดาวล้อมเดือน เป็นภาพที่บาดตาบาดใจดิฉันเหลือเกิน โธ่! นี่ยังไม่ชัดเจนแจ่มแจ้งอีกหรือว่าคนทั้งสองรักกัน?…”

รูปแบบที่ ๒ ละเมียด กับความไม่มั่นใจในสถานะทางสังคมของตน และการมองข้ามไปของมาโนช

ละเมียดเป็นเพื่อนที่สนิทสนมกันมากในวัยเด็ก มาโนชมองละเมียดเป็นอย่างน้องมาตลอด จนเมื่อพบกันอีกครั้ง เขาเห็นละเมียดเป็นสาวสวย แต่ค่าที่มีรำพรรณอยู่ในใจทำให้มาโนชไม่คิดจะแสดงออกอะไร

ขณะที่ละเมียดสนใจมาโนช แต่ก็ไม่กล้าแสดงออกเพราะสถานะทางสังคมที่ดีขึ้นของมาโนช จนละเมียดเกิดความรู้สึกแตกต่างห่างเหิน อย่างดีที่สุดจึงทำได้เพียงแค่ส่งจดหมายมายินดีในวันแต่งงานของมาโนชกับอาภาด้วยน้ำเสียงติดน้อยใจ

…มิตรภาพแต่ครั้งเด็กๆ ระหว่างเราเห็นจะยับเยินไปในวันแต่งงานนั่นเองนะคะ…ดิฉันไม่มีสิ่งใดจะส่งมาเป็นของขวัญ นอกจากหัวใจที่บริสุทธิ์ อันได้ผูกไมตรีระหว่างคุณพี่กับดิฉันมาช้านาน  ขอให้การแต่งงานครั้งนี้จงนำคุณพี่ไปสู่โลกแห่งความผาสุกและรุ่งเรืองตราบกระทั่งกาลอวสาน

แต่น้องสาวคนผู้วาสนาน้อยของคุณพี่ละเมียด

รูปแบบที่ ๓ อาภา กับการแสดงออกอย่างใจร้อนของเธอ และการยอมรับอย่างง่ายๆ ของมาโนช

อาภาเป็นผู้หญิงที่กล้าแสดงออกอย่างใจคิด และแสดงว่าสนใจและมุ่งหมายจะมีชีวิตคู่กับมาโนช ผนวกเข้ากับการยอมรับอย่างง่ายๆ แบบไม่ได้คิดอะไรให้ถี่ถ้วนของมาโนช ทำให้เกิดปัญหาภายหลัง  มาโนชไม่อาจจะแสดงความรักใคร่ใยดีในตัวอาภาผู้เป็นภรรยาได้ตามปกติ ทำให้อาภาใช้ชีวิตคู่อย่างไม่เป็นสุข ประกอบกับแรงยุยงของคีรีทำให้อาภาเข้าใจผิดว่ามาโนชแอบรักใคร่กับละเมียดผู้เพื่อนเก่า

อาภานั่งซึมไปเป็นครู่ใหญ่ ความที่นึกระอิดระอาในสามีแต่ก่อนๆ ผสมกับความขุ่นแค้นในกาลบัดนี้ทำให้นึกเกลียดชังเธอเป็นที่สุด เพราะมาโนชมียอดรักยอดอาลัยอยู่แล้วนี่เล่า เธอจึงมิได้อาลัยอาวรณ์ในหล่อนกี่มากน้อย…

จากข้างหลังภาพ ถึงลูกผู้ชาย : ปัญหาความรักอยู่ที่การสื่อสาร

เรื่องราวความรักระหว่าง ม.ร.ว. กีรติ กับนพพร ในข้างหลังภาพ คือการสื่อสารอ้อมค้อมบนสถานะสังคมที่มีช่องว่าง  แม้นพพรจะดูกล้าหาญ สื่อแสดงความรู้สึกตรงไปตรงมาอยู่มากกว่า กระทั่งกล้าที่จะบอกรักแก่คุณหญิงสูงศักดิ์ผู้มีสามีแล้ว แต่ในความห้าวหาญยอมรับนั้น นพพรไปไม่ถึงที่สุด

นพพรไม่ได้บอกหรือจงใจซ่อนเร้นความจริงอย่างหนึ่ง เป็นความจริงที่สำคัญมากเพราะหากคุณหญิงล่วงรู้ย่อมมีผลต่อการคิด การวางตัว และการตัดสินใจของคุณหญิงเอง

นพพรจึงถือโอกาสที่คุณหญิงตั้งคำถามอ้อมค้อมเปิดช่องว่างให้ตอบได้หลายวิธี หลีกเลี่ยงความเป็นจริงข้อนี้ออกไปเสีย

คำถามของคุณหญิง และคำตอบของนพพรมีว่า

“…การอาชีพและการแต่งงาน เธอได้กะการไว้อย่างไรบ้างเล่า?”

“…การแต่งงานนั้น ผมยังไม่มีความคิดที่จะกะการอย่างไรเลย ผมรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องใหญ่โตเกินกว่าที่ผมจะนำตัวเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยในเวลานี้”

นพพรตอบไปอย่างนั้น แต่ในใจคิดว่า-

ข้าพเจ้าไม่สบายใจนิดหน่อยที่ไม่ได้ตอบหม่อมราชวงศ์กีรติออกไปให้เป็นที่แจ่มแจ้งชัดเจนว่า การที่ข้าพเจ้าไม่ได้คิดกะการอะไรในเรื่องนี้ ก็เพราะเหตุว่าการนั้นได้ถูกกะไว้แล้ว…ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าเพราะเหตุใดจึงไม่เล่าความเรื่องนี้สู่หม่อมราชวงศ์กีรติ…

นับเป็นความในใจของชายหนุ่มที่คิดเข้าข้างตัวเองโดยแท้

คุณหญิงมาทราบความจริงเอาเมื่อนพพรแจ้งข่าวเรื่องการแต่งงานกับคู่หมั้นที่ตกลงกันไว้เมื่อ ๗-๘ ปีมาแล้ว

จึงเป็นความจริงที่จู่โจมคุณหญิงจนตั้งตัวไม่ติด

“นพพรจะแต่งงาน?” เธอทวนคำอย่างไม่แน่ใจ…

“แต่ตลอดเวลาที่ฉันพบเธอในโตเกียว เธอไม่ได้บอกเรื่องคู่หมั้นของเธอให้ฉันทราบเลย” เสียงของเธอแสดงว่ามีความพิศวงสงสัยยิ่งขึ้น

สำหรับเรื่องราวปัญหาความรักระหว่างมาโนชกับรำพรรณ ในลูกผู้ชาย ก็เช่นกัน เกิดขึ้นจากการสื่อสารอ้อมค้อม  มาโนชเข้าใจผิดว่ารำพรรณสนใจทำนองเพราะฐานะเสมอกัน ค่าที่คิดเอาเองโดยสามัญสำนึกจากประสบการณ์ที่เห็นช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน  เมื่อไม่คิดแยกแยะ การพูดจาจึงติดจะน้อยใจรำพรรณ และคิดลบกับตัวเองอยู่บ่อยๆ

ข้างรำพรรณก็เชื่อมั่นว่ามาโนชรักชอบกับอาภา จึงพูดจาเป็นทำนองตัดรอนอยู่ในที

“สุดแล้วแต่คุณ”

“เอ๊ะ! การคุยต้องอาศัยคนอย่างน้อยถึงสองคน ทำไมคุณจะมาให้สำเร็จเด็ดขาดอยู่แต่เฉพาะที่ผมเพียงคนเดียว” เธอเหน็บ

“นั่นมันก็แล้วแต่คุณอีก” รำพรรณตอบด้วยเสียงชาเย็น “คุณอาจมีสิทธิ์จะให้มันสำเร็จเด็ดขาดลงที่คนอื่นด้วยก็ได้”

“เอ ผมไม่เข้าใจคำพูดของคุณเลย” เธอระบายลมหายใจด้วยความอึดอัด “หรือคุณคิดรังเกียจ?”

มาโนชเองก็ยิ่งทำให้รำพรรณผิดหวังในตัวเขาเพิ่มมากขึ้นไปอีก เมื่อกล้ามาทำหน้าที่เป็นพ่อสื่อให้ทำนอง

“ผมหมายความว่า ถ้าถึงคราวที่คุณจะแต่งงาน คุณควรจะเลือกแต่งงานกับสุภาพบุรุษเช่นคุณทำนอง”

รำพรรณกัดริมฝีปาก สีหน้าแสดงความรู้สึก ซึ่งมาโนชเองก็เดาไม่ออก

“เรื่องนี้ดอกหรือคะที่คุณขอเวลาพูดกับดิฉันถึงหนึ่งชั่วโมง?” หล่อนพูดเสียงเครือๆ “ดิฉันเห็นจะต้องถอนคำอนุญาต”

มาโนชไม่เคยอ่านคำพูดและภาษาท่าทางที่มีนัยซ่อนเร้นของรำพรรณเช่นนี้ได้ เพราะอคติที่มีอยู่ในใจ

ข้างรำพรรณก็มีอคติเช่นเดียวกัน

สารที่สื่อออกมาจึงเป็นคนละชุดกับที่อัดแน่นอยู่ในหัวอก ด้วยต่างฝ่ายต่างก็มีข้อจำกัด ฝ่ายหญิงมีข้อจำกัดคือความเป็นลูกผู้หญิงตามค่านิยมแบบรักนวลสงวนตัว ผสมกับความเข้าใจผิด คิดน้อยใจว่าฝ่ายชายให้ความสนใจหญิงอื่น  ข้างฝ่ายชายคิดน้อยเนื้อต่ำใจในสถานะทางสังคมของตนอยู่เป็นทุนเดิม และไม่ชอบพร่ำบ่นแบบลูกผู้ชายใจแข็ง หนำซ้ำยังทำต้องหน้าที่ของเพื่อนที่ดีในฐานะของพ่อสื่ออีกด้วย

การแสวงหาคุณธรรมในความรัก : กรณีศึกษาจาก ม.ร.ว. กีรติ และมาโนช

ความรักจึงเป็นเรื่องที่ทุกคนควรเรียนรู้เพื่อจัดวางแผนและออกแบบให้ถูกต้องเหมาะสมเป็นเฉพาะรายไป โดยพยายามให้เกิดอุปสรรค จุดสะดุด หรือการชะงักงันน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้  ไม่ใช่ยอมจำนนให้เป็นไปตามยถากรรม เพราะเหตุว่าเป็นเรื่องของอารมณ์ที่จะเข้าไปจัดการออกแบบหรือกำหนดได้ยากยิ่ง

แต่ความจริงมนุษย์มีแบบอย่างเรื่องความรักให้ศึกษาเป็นอุทาหรณ์ตั้งมากมาย ไม่ว่าจากข่าวคราวของหญิงชายในชีวิตประจำวัน หรือเรื่องรักใคร่ของตัวละครในโลกของวรรณกรรม  หลายต่อหลายเรื่อง มักจะได้ข้อสรุปตรงกันว่า  ความรักนั้นแม้จะเป็นเรื่องภายในหัวใจของคนสองคน แต่ปัจจัยภายนอกที่แวดล้อมคนสองคนนั้น ก็มักจะเข้ามามีอิทธิพลส่งเสริมหรือเป็นอุปสรรคต่อความรักเสมอมา ไม่โดยสาเหตุใดก็สาเหตุหนึ่ง

จากกรณีศึกษาตัวละครในบทประพันธ์ทั้งสองเรื่องของ “ศรีบูรพา” แสดงให้เห็นว่า ม.ร.ว. กีรติ จากข้างหลังภาพ และมาโนชจากลูกผู้ชายต่างอยู่ในสถานะเดียวกัน คือระทมทุกข์เพราะความไม่ประจวบกับผู้เป็นที่รัก ด้วยเหตุผลที่กำหนดให้เป็นไปภายในปริบทของตัวละครที่ถูกล้อมกรอบด้วยสถานะทางเพศและสถานะทางสังคมต่างๆ กัน

ในส่วนของ ม.ร.ว. กีรติ มีเรื่องช่องว่างระหว่างวัย แม้ชดเชยได้ด้วยความอ่อนกว่าวัยและการดูแลรักษาร่างกายมาเป็นอย่างดี ทำให้นพพรไม่รู้สึกถึงความห่างตรงนี้

สำหรับสถานะทางสังคมนั้นเล่า ความเป็นหญิงสูงศักดิ์ของ ม.ร.ว. กีรติ ก็ไม่ใช่ข้อจำกัดที่ทำให้นพพรเอื้อมไปไม่ถึง บทบาทและหน้าที่ในสังคมมากกว่าที่มากำหนดวิธีคิดและการแสดงออกให้อยู่ในรูปแบบของ “การสื่อสารอ้อมค้อม” จนเป็นอุปสรรคทำให้ ม.ร.ว. กีรติ และนพพรเข้าใจผิด  จำต้องห่างไกลกันออกไปเพราะ “ช่วงเวลา” ของความรู้สึกและการแสดงออกต่างไม่สอดคล้องต้องกัน

บทบาทของ ม.ร.ว. กีรติ คือภรรยาที่ดีของสามี  บทบาทของนพพร คือลูกที่ดีของพ่อแม่ ที่ต้องตั้งใจศึกษาเล่าเรียนจนสำเร็จการศึกษา เพื่อกลับมามีครอบครัว ทำหน้าที่สืบเชื้อสายของสกุล อยู่อย่างก้าวหน้าและมีเกียรติในสังคมต่อไป

ความรักของ ม.ร.ว. กีรติ กับนพพรที่เกิดขึ้นระหว่างการพักผ่อนของเจ้าคุณอธิการบดี จึงเป็นได้แค่ “ชู้ทางใจ”  การแสดงออกทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชายอยู่ในขอบเขต เพราะต่างก็รู้บทบาทและหน้าที่ของตัวเองดี จึงไม่เกิดความขัดแย้งอันเป็นรักสามเส้าขึ้นมาในระหว่างตัวละคร แต่เกิดความขัดแย้งขึ้นภายในใจของตัวละครที่ต้องต่อสู้กับอารมณ์รักและพยายามเรียนรู้ว่าจะจัดการอย่างไรเพื่อให้อารมณ์สงบลงได้

ฝ่ายคุณหญิงซึ่งมีวัยอาวุโสกว่า สามารถยับยั้งชั่งใจได้ก่อน และกล่าวเตือนสติฝ่ายชายว่า

…ฉันจึงใคร่ขอต่อเธออีกครั้ง ดังที่เคยขอไปแล้วครั้งหนึ่งในจดหมายฉบับก่อน คือขอว่า เธอจงเงยหน้าขึ้นเผชิญหน้ากับของจริง ของจริงที่ว่า หน้าที่ของเธอในกาลปัจจุบันนี้มีอยู่อย่างไร และหน้าที่ของฉันมีอยู่อย่างไร…

จนกระทั่งฝ่ายคุณหญิงมามีอิสระและคิดใหม่อีกครั้งเมื่อสามีตาย แต่ทว่าฝ่ายชายนั้นได้จัดการกับอารมณ์ตัวเองสำเร็จแล้ว กลายเป็นคนมีสมาธิและมุ่งมั่นแสวงหาการสร้างอนาคต ทั้งด้านครอบครัวและการงานในแบบที่เหมาะสมสำหรับตน

ปัญหาจึงตกแก่ฝ่ายคุณหญิงที่เคยดูสงบนั้นเป็นเพราะหน้าที่ในสังคม แต่หัวใจยังยึดติดอยู่กับความรักเดิมนั้น ดิ้นไม่หลุดจนนาทีสุดท้ายของชีวิต

สำหรับในเรื่องลูกผู้ชาย มาโนชแสดงความเป็นลูกผู้ชายของเขาที่อดทน อดกลั้น ข่มใจรักไว้ภายใน เมื่อทราบว่าทำนอง-เพื่อนรักมาหมายปองหญิงคนเดียวกันกับเขา  แน่นอนความดีของทำนองที่มีต่อเขามาตั้งแต่ครั้งเยาว์วัยจนปัจจุบัน ทำให้มาโนชไม่กล้าทำร้ายจิตใจเพื่อนผู้มีน้ำใจ

มาโนชจึงเป็นฝ่ายยอมเสียสละเสียเอง ประกอบกับความเข้าใจผิดว่ารำพรรณสนใจทำนองเพราะฐานะเสมอกัน  มาโนชจึงเห็นว่าความรักของทำนองและรำพรรณดูเหมาะสมแก่กันมากกว่าเขา

ทั้งรำพรรณและมาโนชต่างไม่เลือกที่จะสื่อสารความในใจ คงหมกหมุ่นครุ่นคิดอยู่ในอารมณ์เศร้าหมอง มองข้ามท่าทีของอีกฝ่ายหนึ่ง และตีความอยู่ข้างทำร้ายจิตใจตัวเอง

เมื่อมาโนชรู้ความจริงจากบันทึกลับของรำพรรณ ก็เป็นเวลาที่ต่างฝ่ายต่างมีครอบครัวแล้ว

มาโนชได้กล่าวเตือนสติรำพรรณ ด้วยหัวใจแข็งแกร่งของลูกผู้ชายว่า

“เราต้องมองถึงชีวิตภายหน้า ที่รัก” กล่าวด้วยเสียงหนักแน่น “เราต้องไม่ปล่อยให้ธรรมดาฝ่ายต่ำเข้ามาครอบงำได้เป็นอันขาด ความอ่อนแอแห่งใจเป็นช่องทางที่จะนำไปสู่ความชั่วช้าลามก ขอให้เราสู้กับเหตุวิบัติต่างๆ อย่างใจเย็นัอย่างใจนักกีฬาแท้! ชาติหน้าของเราต้องมีแน่ รำพรรณ…”

เรื่องราวการชะงักงันของความรัก ทั้งข้างหลังภาพ และลูกผู้ชายจึงตั้งอยู่บนพื้นฐานเดียวกันสองประการ  ประการแรก คือการสื่อสารอปกติระหว่างตัวละครคู่กรณีที่ไม่พยายามเข้าใจกันและกัน และกลับสื่อสารอย่างชวนให้สับสน  ประการต่อมา ได้แก่ ความต่างสถานะทางสังคม กำหนดให้ตัวละครมีบทบาทและหน้าที่ต่างกัน  แม้ว่าโดยหัวใจทั้งคุณหญิงกีรติกับนพพร และรำพรรณกับมาโนช จะไม่รู้สึกถึงความห่างกัน แต่นวนิยายก็สะท้อนให้เห็นว่าสังคมมีบทบาทต่อปัจเจกภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ผู้ประพันธ์สร้างสรรค์นวนิยายทั้งสองเรื่องนั้น ปัจเจกภาพอ่อนแอกว่าสังคมอย่างเห็นได้ชัด  ดังนั้นสังคมจึงเข้ามาเบียดเบียนทำเอาความรักของคู่กรณีต้องจบลง เกิดการสื่อสารอ้อมค้อม สับสน อันเป็นผลสืบเนื่องสะสมมาจากความไม่มั่นใจในสถานะทางสังคมของตัวละคร กับความกังวลในบทบาทหน้าที่ที่สังคมมอบหมายให้และมองดูอยู่อย่างคาดหวัง

กล่าวได้ว่าในปัจจุบันเรื่องราวปัญหาความรักเช่นนี้คงพ้นสมัยไปแล้ว  หากนำมาเทียบกับความรู้สึกของคนร่วมสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงสถานะทางสังคมตามสภาพโอกาส และมีการสื่อสารกันอย่างรวดเร็วและตรงไปตรงมา มีเครื่องมือสื่อสาร เช่น โทรศัพท์มือถือที่คอยกระตุ้นเร้าให้มีการสื่อสารทำความเข้าใจกันได้โดยอิสระมากกว่า จึงมีข่าวว่าผู้หญิงในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงค่านิยมเดิมของหญิงไทยเสียใหม่  จากที่เคยมีว่า “รักนวลสงวนตัว” กลับเป็น “รักนวลเสนอตัว”  หรือมีศัพท์ใหม่ว่า “กิ๊ก” อันสะท้อนค่านิยมของนักรักชายหญิงที่พร้อมจะมีคนรักหรือคนรู้ใจ ได้อีกหลายๆ คนนอกเหนือจากการมี “แฟน” เพียงผู้เดียวอย่างที่เคยเป็นมา จึงนับเป็นปรากฏการณ์ใหม่อันหนึ่งของสังคมไทย สอดคล้องกับที่นักอนาคตศาสตร์ระดับโลกทำนายไว้ว่า ความเป็นปัจเจกภาพของบุคคลในสังคมทั่วทั้งโลกจะแข็งแกร่ง หรือมีเสรีภาพมากขึ้น เริ่มแต่ในกลางศตวรรษที่ ๒๑ นี้.

หนังสืออ้างอิง

“ศรีบูรพา”. ข้างหลังภาพ . กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า, ๒๕๔๕.

_______. ลูกผู้ชาย . กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า, ๒๕๔๖.