ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์

ข้างหลังภาพ อาจไม่ใช่นวนิยายที่ดีที่สุดของ “ศรีบูรพา” แต่ก็เป็นนวนิยายที่ได้รับความนิยมจากผู้อ่านทุกยุคทุกสมัยมากกว่านวนิยายเล่มอื่นๆ ของ “ศรีบูรพา” ทั้งยังเป็นนวนิยายเล่มเดียวของท่านที่มักถูกนำมาดัดแปลงสร้างเป็นภาพยนตร์ แม้จะไม่ถี่และบ่อยครั้งเท่านวนิยายรักอย่าง บ้านทรายทอง คู่กรรม หรือ ดาวพระศุกร์ ก็ตาม

แต่สิ่งที่ทำให้ข้างหลังภาพ พิเศษกว่านวนิยายเล่มอื่นๆ ของท่าน และแตกต่างจาก นวนิยายรักทั่วไป ก็คือ ข้างหลังภาพ เป็นงานที่นักวิจารณ์สำนักต่างๆ นิยมนำมาวิเคราะห์

ค้นหาความหมายที่ซ่อนอยู่ “ข้างหลังภาพ” มาโดยตลอด

ข้างหลังภาพ ตีพิมพ์ครั้งแรกเป็นตอนๆ ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติ รายวัน เมื่อ

ปี พ.ศ. ๒๔๘๐ มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับชีวิตรักที่ไม่สมหวังของ ม.ร.ว. กีรติ กุลสตรีผู้เพียบพร้อม

แต่กลับหาคนรักมาแต่งงานด้วยไม่ได้ เมื่ออายุล่วงเลยมาถึง ๓๕ ปี เธอจึงจำต้องแต่งงาน

กับพ่อม่ายวัย ๕๐ หลังแต่งงานทั้งคู่เดินทางไปฮันนีมูนที่โตเกียว ที่นั่นเธอได้รู้จักกับนพพร

นักเรียนนอกวัย ๒๒ ทั้งคู่สนิทสนมกันจนกลายเป็นความรัก โดยนพพรได้สารภาพรักกับ ม.ร.ว. กีรติ คราวเมื่อทั้งคู่ไปเที่ยวธารน้ำตกที่มิตาเกะ ส่วน ม.ร.ว. กีรติ แม้จะรักนพพร แต่เธอกลับไม่ยอมบอกความในใจ

หลังจากที่ ม.ร.ว. กีรติและสามีเดินทางกลับเมืองไทย ในช่วงแรกนพพรได้เขียน

จดหมายถึง ม.ร.ว. กีรติ พร่ำรำพันถึงความรักของเขา แต่นานวันเข้าความรู้สึกหลงใหลนี้

ก็เจือจางไป เมื่อศึกษาที่ญี่ปุ่นสำเร็จ นพพรเดินทางกลับประเทศไทยและแต่งงานกับคู่หมั้น

ที่ครอบครัวจัดหาให้ หลังจากนั้นไม่นาน ม.ร.ว. กีรติได้ล้มป่วยจนถึงขั้นเสียชีวิต ก่อนตาย

เธอมอบภาพวาดริมลำธารที่มิตาเกะ และคำสารภาพรักที่กลายเป็นประโยคอมตะกินใจผู้อ่าน

รุ่นแล้วรุ่นเล่า ฉันตายโดยปราศจากคนที่รักฉัน แต่ฉันก็อิ่มใจว่า ฉันมีคนที่ฉันรัก

อาจเป็นเพราะอมตวาจานี้เองที่ทำให้ประเด็นในการพูดถึงนวนิยายเล่มนี้ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเสมอคือ เรื่องการยึดมั่นในคุณธรรมจริยธรรมเหนือความรักของ ม.ร.ว. กีรติ ในทำนองว่าแม้จะรักนพพร “ใจจะขาด” แต่เธอก็ไม่ยอมตอบรับรักของนพพร เพราะเธอ

รักเกียรติและศักดิ์ศรีกุลสตรีที่ไม่อาจประพฤติผิดต่อสามีได้ การตีความปริศนาข้างหลังภาพ

ทำนองนี้ยังคงมีปรากฏให้เห็นอยู่ประปรายในปัจจุบัน และคงจะมีสืบต่อไปในอนาคตโดย

ไม่ต้องสงสัย

แต่สิ่งที่อยู่ข้างหลังภาพ มีเพียงเท่านี้หรือ?

“ศรีบูรพา” พยายามนำเสนอนัยของนวนิยายเล่มนี้ผ่านคำพูดของนพพรในบท

เกริ่นนำเรื่องไว้ว่า

            …ข้างหลังภาพนั้นมีชีวิต และเป็นชีวิตที่ตรึงตราอยู่บนดวงใจของ

        ข้าพเจ้า สำหรับคนอื่น ข้างหลังภาพนั้นก็คือกระดาษแข็งแผ่นหนึ่ง และต่อไป

        ก็คือผนัง ฉะนั้นเขาจะมองเห็นภาพนั้นเป็นอย่างอื่น นอกจากที่เป็นแต่ภาพ

        ธรรมดาสามัญภาพหนึ่งอย่างไรได้

คำพูดดังกล่าวเตือนสติผู้อ่านและนักวิจารณ์ให้ตระหนักว่า การตีความมีสองประเภท คือการตีความตามความหมายตรงตัว กับการตีความตามนัยประหวัด แน่นอนว่าในที่นี้

“ศรีบูรพา” คงมิได้พูดถึงเฉพาะการตีความ “ข้างหลังภาพ” ของ ม.ร.ว. กีรติเท่านั้น แต่

น่าจะหมายรวมถึงการตีความนวนิยายข้างหลังภาพ ของท่าน และอาจครอบคลุมไปถึงการ

ตีความวรรณกรรมทั่วไปอีกส่วนหนึ่งด้วย

หากเรายึดเอาข้อพึงสังวรดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นของการวิเคราะห์ จะพบว่าการตีความข้างหลังภาพ ให้เป็นเรื่องเสียสละความรักเพื่อรักษาศีลธรรมและอื่นๆ ดูน่าจะไม่ต่าง

ไปจากการมองว่า “ข้างหลังภาพ” คือ “กระดาษแข็งแผ่นหนึ่งและต่อไปก็คือผนัง” เพราะ

เป็นการตีความตามความหมายตรงตัวเกินไป จนมองไม่เห็นความยอกย้อนที่ซ่อนอยู่ในงาน

ที่ผ่านมามีนักวิจารณ์หลากรุ่นหลายสำนักตระหนักดีว่า “ข้างหลังภาพ” นี้มีมากกว่า

กระดาษแข็งและผนัง โดยได้พยายามตีความนัยประหวัดที่ซ่อนอยู่ในข้างหลังภาพ เป็นต้นว่า นักวิจารณ์วรรณกรรมแนวมาร์กซิสม์ลายครามอย่าง บรรจง บรรเจิดศิลป์ วิเคราะห์

นวนิยายเล่มนี้โดยมุ่งเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของตัวละครเอกทั้งสอง เข้ากับสภาพสังคมไทย

ยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง อันเป็นช่วงที่ชนชั้นสูงเริ่มสูญเสียอำนาจให้กับชนชั้นนายทุน

บรรจงชี้ว่า ม.ร.ว. กีรติเป็นตัวแทนของชนชั้นศักดินาที่กำลังร่วงโรยไปตามกาลเวลา ส่วนนพพรเป็นตัวแทนของชนชั้นนายทุนนายหน้าที่กำลังก้าวขึ้นมามีบทบาทในสังคมขณะนั้น  ความรักของ ม.ร.ว. กีรติที่ต้องจบลงด้วยความตายจึงไม่ใช่เรื่องของการยึดมั่นในความซื่อสัตย์ต่อสามีแต่อย่างใด หากเป็นผลมาจากความแตกต่างทางชนชั้นเป็นสำคัญ

บรรจงสรุปว่านพพรปฏิเสธที่จะแต่งงานกับ ม.ร.ว. กีรติ เพราะว่า

            ชนชั้นนายทุนนายหน้าผู้ซึ่งขึ้นครองตำแหน่งแทนชนชั้นผู้ดีในสังคม

        นั้น ก็ย่อมไม่สามารถจะรับเอาระบบศักดินาอันเก่าคร่ำครึมาเป็นระบบคู่ครอง

        ของตนได้

    จาก “ดูวรรณคดีจากสังคม ดูสังคมจากวรรณคดี” ใน ชีวิตกับความใฝ่ฝัน ฉบับพิมพ์ปี พ.ศ. ๒๕๒๑ หน้า ๑๑๓

ในสายตาของบรรจง คำสารภาพรักอันสุดแสนซาบซึ้งกินใจของ ม.ร.ว. กีรตินั้นเป็นเพียงคำปลอบประโลมใจต่อความล่มสลายของชนชั้นตนเท่านั้น

ส่วน ม.ล. บุญเหลือ เทพยสุวรรณ เสนอว่า ปัญหาความรักของ ม.ร.ว. กีรติและนพพรเป็นปัญหาเรื่องช่องว่างระหว่างวัย มากกว่าเรื่องช่องว่างระหว่างชนชั้น โดยตั้งข้อสังเกตว่า

            “หม่อมราชวงศ์กีรตินั้นเป็นคนที่มีอุปาทานยึดอยู่กับวัย มีความรู้สึกถึง

        ความแตกต่างระหว่างวัยของตนกับสามีมากเป็นพิเศษกว่าคนอื่นๆ แล้วก็เกิด

        ภาคภูมิใจว่า วัยระหว่างตนกับนพพรนั้นหาได้เป็นอุปสรรคที่ทำให้นพพรรัก

        ตนไม่”

จาก วิเคราะห์รสวรรณคดี ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๓ ปี พ.ศ. ๒๕๔๓ หน้า ๑๙๐

ทว่า ตรีศิลป์ บุญขจร มิได้มองกีรติเป็นเหยื่อของอุปาทานที่ยึดติดอยู่กับวัยดังที่

ม.ล. บุญเหลือเสนอ แต่ชี้ว่า

            กีรติเป็นหญิงที่ตกอยู่ในกรอบอันเข้มงวดของจารีตประเพณีในสังคม

        ชั้นสูง ความตายของกีรติจึงเป็น “ความตายของ เหยื่อž ชิ้นหนึ่งของกรอบ

        จารีตใน โลกเก่าž ที่เมื่ออยู่ในสังคมนั้นก็ต้องมีชีวิตอันขมขื่น เมื่อออกมา

        เผชิญโลกภายนอกก็ไม่อาจสมหวัง”

จากนวนิยายกับสังคมไทย (๒๔๗๕-๒๕๐๐) พ.ศ. ๒๕๒๓ หน้า ๑๒๕-๒๖

การวิเคราะห์ทั้งสามแนวข้างต้นแม้จะมีข้อสรุปต่างกัน แต่ตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่คล้ายคลึงกัน นั่นคือเป็นการมองวรรณกรรมในฐานะภาพสะท้อนชีวิตและสังคม ตัวละครคือตัวแทนของบุคคลประเภทต่างๆ ที่สามารพบเห็นได้ โดยบรรจงเลือกมองตัวละครในฐานะตัวแทนของชนชั้นในสังคม ขณะที่ ม.ล. บุญเหลือมองตัวละครในฐานะตัวแทนของปัจเจกชนที่ยึดติดอยู่กับอุปาทานบางอย่าง แต่ตรีศิลป์มองตัวละครในฐานะที่เป็นผลผลิตของกรอบความคิดและอุดมการณ์ในสังคม

วิธีการวิเคราะห์ดังกล่าวพยายามบอกเราว่า ศิลปะนั้นจำลองมาจากชีวิต แต่ผมคิดว่าในนวนิยายเรื่องข้างหลังภาพ ชีวิตต่างหากที่จำลองศิลปะ โศกนาฏกรรมของ ม.ร.ว. กีรติคือโศกนาฏกรรมของผู้ใช้ชีวิตเลียนแบบวรรณกรรมความรักต้องห้าม และความตายของเธอคือความตายของวรรณกรรมที่ตกไปอยู่ในมือของคนอ่านหนังสือไม่แตก

อ่านตามตัวอักษร vs อ่านระหว่างบรรทัด

ในขณะที่นักวิจารณ์หลายท่านมองว่าปัญหาความรักระหว่างกีรติและนพพรเป็นปัญหา

ของช่องว่างระหว่างวัย ทัศนคติ อุดมการณ์ และชนชั้น แต่ผมมองว่าช่องว่างระหว่างคำพูด ความหมาย และการตีความคือหัวใจสำคัญของข้างหลังภาพ (ชื่อของนวนิยายเล่มนี้บอกโดยนัยถึงความสำคัญของปัญหาเรื่องความหมายและการตีความดังได้กล่าวมาแล้ว)

ม.ล. บุญเหลือตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับข้างหลังภาพ ไว้ว่า “พฤติกรรมทางกาย

มีน้อย มีแต่วจีกรรม กับความนึกคิดของนพพรเป็นส่วนใหญ่” (วิเคราะห์รสวรรณคดีหน้า ๑๗๗) นี่คือลักษณะพิเศษของนวนิยายเล่มนี้ที่ไม่ควรมองข้ามอย่างยิ่ง ความรักระหว่างนพพรกับ ม.ร.ว. กีรติเป็นการแสดงออกผ่านการพูดล้วนๆ ตลอดทั้งเรื่อง จะมีข้อ

ยกเว้นเพียงครั้งเดียว คราวที่ทั้งคู่ไปเที่ยวธารน้ำตกมิตาเกะเมื่อนพพรจูบที่แขนของ

ม.ร.ว. กีรติ คำพูดและการตีความคำพูดจึงมีบทบาทอย่างมากในนวนิยายเรื่องนี้ เพราะคำพูดมิได้เพียงเผยอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดของตัวละครเท่านั้น แต่คำพูดหรือ “วจีกรรม”

ยังคือการกระทำที่สำคัญที่สุด สำคัญกว่าพฤติกรรมทางกายใดๆ ด้วยซ้ำไป

นพพรแสดงความรักของตนก็ด้วยการพูดเป็นสำคัญ ม.ร.ว. กีรติแสดงความรักของเธอด้วยการพูดเช่นกัน

            มีปัญหาข้อหนึ่งตามรบกวนข้าพเจ้าแม้ได้หลับตาลงไปแล้ว ตามที่

        ข้าพเจ้าได้เข้าใจเอาว่าข้าพเจ้าได้ชนะความรัก ได้ชนะดวงใจหม่อมราชวงศ์กีรติ

        นั้น เป็นความเข้าใจที่ถูกต้องแล้วหรือ? หม่อมราชวงศ์กีรติได้บอกข้าพเจ้า

        ดังนั้นหรือ? ข้าพเจ้าระลึกขึ้นได้ในบัดนั้นว่า หม่อมราชวงศ์กีรติยังมิได้ให้

        ถ้อยคำแก่ข้าพเจ้าเลย (การเน้นข้อความเป็นของผู้เขียนบทความ)  

ในที่นี้จะเห็นว่า นพพรจะมั่นใจว่า ม.ร.ว. กีรติรักเขา ก็ต่อเมื่อเธอบอกเขาว่า

“ฉันรักเธอ” เท่านั้น ดังนั้นแม้ ม.ร.ว. กีรติจะแสดงออกด้วยวิธีการใดๆ ไม่ว่าจะเป็นสีหน้า แววตา ท่าทาง หรือกระทั่งภาพวาด ก็ไม่อาจสร้างความพึงพอใจให้นพพรได้ สำหรับนพพร

การบอกว่า “รัก” จึงมีค่าเท่ากับ “การกระทำ” ที่จะผูกมัดเขาและเธอด้วยกันได้แน่นแฟ้น

กว่าการกระทำใดๆ

ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่าง ม.ร.ว. กีรติและนพพร จึงมิใช่ปัญหาความแตกต่าง

ระหว่างวัย หรือชนชั้น หรือโลกทัศน์ แต่เป็นปัญหาของการตีความโดยเฉพาะการตีความคำพูดที่ต่างกันของคนทั้งสอง กล่าวคือ นพพรมีแนวโน้มที่จะตีความคำพูดหรือพฤติกรรม

ของ ม.ร.ว. กีรติตามความหมายตรงตัว (literal meaning) ในขณะที่ ม.ร.ว. กีรตินั้นจะสื่อความรู้สึกในใจโดยอิงอยู่กับความหมายเชิงโวหาร (rhetorical meaning)

โศกนาฏกรรมของ ม.ร.ว. กีรติจึงมิได้อยู่ที่ไม่มีคนรักเธอ แต่อยู่ที่คนที่เธอรัก

มุ่งตีความตามตัวอักษร และไม่สามารถจะตีความตามนัยโวหารที่เธอใช้ได้ ดังจะเห็นว่า

ทุกครั้งที่นพพรรบเร้าว่ารักเขาหรือไม่ ม.ร.ว. กีรติจะตอบโดยใช้โวหารการพูดอ้อม (peri-

phrasis) เป็นส่วนใหญ่

เช่นในฉากริมลำธารที่มิตาเกะอันเป็นที่มาของภาพวาดสำคัญในเรื่อง เมื่อนพพรถามว่าเกลียดเขาหรือไม่ ม.ร.ว. กีรติตอบแต่เพียงว่า “…ฉันจะรู้สึกเธอเป็นนพพรคนเก่า

และคนเดียวตลอดชั่วชีวิตของฉัน”

หรือวันที่เธอเดินทางกลับกรุงเทพฯ เมื่อนพพรคาดคั้นให้บอกว่ารัก เธอได้แต่บอกว่า “รีบไปเสีย ฉันแทบใจจะขาด”

หรือในจดหมาย เธอเขียนว่า “เราคงจะจำกันได้ เพราะว่าเรามีบางสิ่งที่จะจำกันได้ไม่รู้ลืม” และในอีกท่อนหนึ่งว่า “เดี๋ยวนี้ฉันไม่มีอะไรที่จะแนะนำสั่งสอนเธออีกแล้ว

เพราะว่าเธอเป็นผู้บังคับบัญชาของตัวเธอเองได้แล้ว และดูเหมือนว่าจะเป็นได้ดียิ่งกว่าฉัน

อีก” และท้ายที่สุดคือภาพริมลำธารดังที่กล่าวมาข้างต้น

ทว่านพพรกลับไม่สามารถตีความหมายเชิงโวหารที่ซ่อนอยู่ในคำพูดของ ม.ร.ว. กีรติ

ได้ ตราบใดที่เธอยังไม่ “ให้ถ้อยคำ” แก่เขา ที่สำคัญไม่ว่าเธอจะ “ให้ถ้อยคำ” มากมายเพียงใด แต่หากเธอยังมิมอบคำว่า “รัก” ให้กับเขา นพพรก็ไม่อาจมั่นใจได้ว่าเธอรักเขา

และความเคลือบแคลงใจนี้เองทำให้ความรักของนพพรที่มีต่อเธอเสื่อมคลายจนหมดใจ

ในท้ายที่สุด

และกว่านพพรจะเรียนรู้ถึงวิธีการตีความนัยประหวัดของคำพูด ก็ต่อเมื่อทุกอย่าง

สายเกินไป เขาได้เรียนรู้ว่าสิ่งที่อยู่ “ข้างหลังภาพ” มีมากกว่ากระดาษและฝาผนัง ดังที่

เขากล่าวไว้ใน “บทเกริ่นนำ” ของนวนิยายเล่มนี้ ก็ต่อเมื่อเจ้าของผลงานภาพชิ้นนี้สิ้นชีวิต

ไปแล้ว

เราจะเห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างนพพรและ ม.ร.ว. กีรตินั้น แท้จริงแล้วเป็นปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างนักอ่านและวรรณกรรม นพพรคือนักรัก/นักอ่านอ่อนหัดที่ไม่สำเหนียกในความแยบยลยอกย้อนของวรรณกรรมที่ไม่พูดอะไรอย่างตรงไปตรงมา

ชีวิตเลียนแบบวรรณกรรม

ในขณะที่นักวิจารณ์หลายสำนักพยายามวิเคราะห์ ม.ร.ว. กีรติในฐานะภาพสะท้อน

ชีวิตหรือตัวแทนของชนชั้นในสังคม แต่ผมใคร่เสนอว่า ม.ร.ว. กีรติดำเนินชีวิตโดยจำลองแบบมาจากนวนิยายรักคล้ายๆ กับที่มาดามโบวารีในนวนิยายอมตะของโฟลแบรต์ใช้ชีวิต

เลียนแบบนวนิยายพาฝันที่เธออ่านในวัยสาว

แม้เราจะไม่รู้ว่า “หนังสือภาษาอังกฤษดีๆ” ที่ครูแหม่มแนะนำให้ ม.ร.ว. กีรติอ่านสมัยยังสาวคือหนังสืออะไรบ้าง แต่พฤติกรรมความรักของเธอที่มีกับนพพรนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่าคล้ายคลึงกับแบบฉบับวรรณกรรมโรมานซ์ในยุคกลางของโลกตะวันตกที่เรียกว่า courtly love romance อันเป็นเรื่องราวความรักต้องห้ามระหว่างหญิงสูงศักดิ์ (lady)

ผู้มีเจ้าของแล้ว กับชายหนุ่มผู้บูชาความรักยิ่งชีวิต แบบแผนสำคัญของวรรณกรรมประเภทนี้คือ ตัวละครฝ่ายหญิงต้องพยายามบ่ายเบี่ยงหลีกเลี่ยงที่จะตกปากรับคำหรือปล่อยตัวปล่อยใจให้ชาย โดยมักหยิบยกประเด็นทางศีลธรรมขึ้นมาเป็นข้ออ้าง ขณะที่ตัวละครฝ่ายชายจะพร่ำรำพันขอความเห็นใจ และคร่ำครวญถึงความทุกข์ระทมอันเกิดจากความรักที่มีต่อนาง ตัวอย่างวรรณกรรมแนวนี้ที่รู้จักกันโดยทั่วไป คือเรื่องราวความรักต้องห้ามระหว่างอัศวินลานซะล็อตกับราชินีกวินเนอเวียร์ มเหสีของกษัตริย์อาเธอร์

ม.ร.ว. กีรติบ่ายเบี่ยงที่จะบอกความในใจ ไม่ใช่เพราะว่าเธอยึดมั่นในศีลธรรมหรือจารีตของ “โลกเก่า” แต่เป็นเพราะเธอกำลังเล่นบทหญิงสูงศักดิ์ตามแบบฉบับของ courtly love romance ที่จะต้องทั้งยั่วยุและยับยั้งชายหนุ่มที่มาหลงใหลตนเอง ดังจะเห็นความสัมพันธ์ของเธอกับนพพรในโตเกียวนั้น แม้เธอจะเตือนสตินพพรอยู่เสมอๆ ว่าเธอแต่งงานแล้ว แต่ขณะเดียวกันเธอก็ย้ำอยู่ตลอดเวลาว่าเธอโหยหาความรักจากชายในฝัน อีกทั้งเธอไม่เคยปิดโอกาสที่จะสนิทสนมใกล้ชิดกับนพพร

ที่สำคัญ บ่อยครั้งที่เธอจะเป็นฝ่ายพูดจายั่วยวนให้นพพรแสดงออกถึงความรัก

ที่มีต่อเธอ เช่นในคราวที่ทั้งสองปลีกตัวมาคุยกันแต่ลำพังในสวนของโรงแรม ม.ร.ว. กีรติต้องการหยั่งเชิงความรู้สึกของนพพร จึงเปรยขึ้นว่า เจ้าคุณอธิการฯ ยินดีที่ทั้งสองคน

“สนิทสนมรักใคร่กันดี”

            “ท่านแสดงความยินดีด้วยน้ำใสใจจริงโดยแท้หรือ? ท่านไม่รังเกียจ

        ในความสนิทระหว่างคุณหญิงและผมจริงหรือ?”

            “เพราะเหตุใดเล่า เธอจึงถามเช่นนี้” เธอกลับย้อนถาม “มีอะไรใน

        ความสนิทสนมของเราที่น่าจะรังเกียจ และด้วยเหตุผลอะไรที่ทำให้เธอสงสัย

        ในน้ำใจของท่านเจ้าคุณ”

            ข้าพเจ้างงไปครู่หนึ่ง

ในที่นี้เราจะเห็นว่า ม.ร.ว. กีรติเป็นฝ่ายเริ่มเปิดประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ของเธอกับนพพร และใช้วิธีถามนำเช่น “มีอะไรในความสนิทสนมของเราที่น่าจะรังเกียจ”

เพื่อชักจูงความรู้สึกของนพพรให้คล้อยตามไปว่าทั้งสองมีอะไรมากกว่าความเป็นเพื่อนสนิท ซึ่งนับว่าได้ผล คำถามของเธอทำให้นพพร “งงไปครู่หนึ่ง” เพราะนพพรไม่เคยคิดมาก่อน

ว่าเขาและเธอจะเป็นอะไรได้มากกว่าเพื่อน

จากนั้น ม.ร.ว. กีรติได้เปิดฉากรุกนพพรหนักขึ้นไปอีก โดยถามอย่างตรงๆ ว่า “เธอกลัวว่าเจ้าคุณท่านจะหึงเธอใช่ไหม” ซึ่งทำให้นพพรถึงกับ “สะดุ้ง” นี่เป็นอีกครั้งหนึ่ง

ที่เราเห็นว่า ม.ร.ว. กีรติทำตัวเป็นผู้ชี้โพรงให้กระรอก โดยเปิดประเด็นเรื่องหึงขึ้นมาเพื่อโน้มน้าวนพพรให้เกิดความรู้สึกว่าความสัมพันธ์ฉันเพื่อนกับเธอแท้จริงคือความรัก อีกทั้งยังเป็น “ความรักต้องห้าม” ที่ต้องคอยหวาดระแวงว่าจะถูกสามีเธอจับได้อีกด้วย

จากบทสนทนาที่ยกมานี้ จะพบว่านพพรไม่เคยคิดหรือรู้สึกว่าตนเองรัก ม.ร.ว.

กีรติมากไปกว่าเพื่อน แต่ ม.ร.ว. กีรติเป็นฝ่ายถามนำอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อให้นพพร

คิดและรู้สึกไปเองว่าเขารักเธอฉันชู้สาว ซึ่งก็ได้ผลเร็วทันตาเห็น เมื่อนพพรออกปากว่า

“คุณหญิงเป็นคล้ายๆ พวกแม่มด” ที่สามารถล่วงรู้จิตใจของเขา ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง

แล้ว ความรู้สึกทั้งหมดนี้ ม.ร.ว. กีรติค่อยๆ เพาะหว่านลงไปในจิตใจนพพร

แต่ปัญหาสำคัญของ ม.ร.ว. กีรติ คือ นพพรไม่คุ้นเคยกับขนบและแบบแผนของนวนิยายรักต้องห้าม เขาจึงไม่ได้เล่นตามบทที่เธอคาดหวัง ขณะเดียวกันก็มีความ

คาดหวังผิดๆ ในตัว ม.ร.ว. กีรติ การที่เขาเรียกร้องให้ ม.ร.ว. กีรติต้องเปล่งคำว่า “ฉันรักเธอ” จึงเป็นเสมือนการเรียกร้องให้เธอฆ่าตัวตายนั่นเอง เพราะตามแบบแผนวรรณกรรม

ความรักต้องห้ามที่ ม.ร.ว. กีรติถือเป็นสรณะแห่งชีวิตนั้น หากหญิงผู้สูงศักดิ์ยอมเผยความ

ในใจออกมาเสียแล้ว ความรักดังว่าก็ไม่อาจจะดำเนินในสภาพเดิมต่อไปได้อีก แต่ต้องแปรเปลี่ยนไปสู่ความรักในรูปแบบอื่น เช่น ความรักแบบชู้สาว เป็นต้น

หากนพพรคือนักอ่านอ่อนหัดดังได้เสนอมาข้างต้น ม.ร.ว. กีรติก็คือวรรณกรรมหรือตัวบท (text) ที่รอการตีความ ตราบใดที่ตัวบทยังคงเป็นปริศนากระตุ้นให้ผู้อ่านกระหายใคร่รู้ ตัวบทนั้นก็ยังมี “ชีวิต” อยู่ แต่ถ้าตัวบทสูญเสียความลึกลับอันยั่วยวนใจ

ผู้อ่าน ตัวบทนั้นก็มาถึงจุดจบและสูญเสียเหตุผลในการดำรงอยู่ของตนเอง ดังนั้นทันทีที่เธอเขียนข้อความ “ฉันตายโดยปราศจากคนที่รักฉัน แต่ฉันก็อิ่มใจว่า ฉันมีคนที่ฉันรัก”

ม.ร.ว. กีรติในฐานะหญิงสูงศักดิ์ตามแบบฉบับ “วรรณกรรมรักต้องห้าม” จึงต้องจบสิ้นลง

ในระดับของเนื้อเรื่องแล้ว ประโยคสารภาพรักอันเป็น “อมตวาจา ที่ทำให้ตัวละครอย่าง ม.ร.ว. กีรติดำรงอยู่ได้ในความทรงจำของนักอ่านไทยรุ่นแล้วรุ่นเล่านั้น แท้จริง

แล้วคือ “เพชฌฆาตวาจา” ที่พรากลมหายใจสุดท้ายของเธอ และของนวนิยายเรื่องนี้ (นวนิยายเล่มนี้จบลงด้วยคำสารภาพของ ม.ร.ว. กีรติ) หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า

เพราะ ม.ร.ว. กีรติเผยความลับในใจนี้ออกมาเธอจึงต้องตาย มิใช่เพราะเธอกำลังจะตาย จึงยอมเผยความลับในใจนี้

ความตายของ ม.ร.ว. กีรติจึงเป็นความตายของวรรณกรรมความรักที่ตกไปอยู่ในมือของนักอ่านอ่อนหัด

ภาพวาด “ริมลำธาร” และ “อมตะ/เพชฌฆาตวาจา” ของกีรติ ได้ช่วยเปลี่ยน

แปลงนพพรจาก “นักอ่านสมัครเล่น” ไปเป็น “นักอ่านอาชีพ” เพราะภายหลังการตายของ ม.ร.ว. กีรติ นพพรจึงตระหนักว่าข้างหลังภาพมิได้เป็นเพียงกระดาษและฝาผนัง แต่มีชีวิตอยู่ด้วย

แต่ถ้านพพรต้องการจะเป็นนักวิจารณ์วรรณกรรม นพพรคงจะต้องมองให้ลึกลงไป

อีกได้ด้วยว่า ชีวิตหลังภาพนั้นมิได้ก่อรูปขึ้นจากเลือดเนื้อ แต่ประกอบสร้างขึ้นด้วยโวหารทางภาษาและขนบทางวรรณกรรมล้วนๆ.

ปรับปรุงแก้ไขจากบทความชื่อ “ปริศนาความรักของ ม.ร.ว. กีรติใน ข้างหลังภาพ พิมพ์ครั้งแรกใน

นิตยสารสารคดี ฉบับเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๔๐