รำลึกความทรงจำครึ่งศตวรรษในจีนจากมิตรร่วมหลังคาเรือน “ศรีบูรพา” : สุชาติ ภูมิบริรักษ์

ชามา

ชีวประวัติและผลงานของ “ศรีบูรพา” ได้มีผู้ศึกษาเอาไว้อย่างละเอียดแทบทุกด้านไม่น้อยทีเดียว  ยกเว้นในช่วงบั้นปลายชีวิตตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๑-๒๕๑๗ ในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้การดูแลที่ดีของรัฐบาลจีน ซึ่งศรีบูรพาได้ลี้ภัยการเมืองอยู่ที่นั่นจวบจนลมหายใจสุดท้ายของชีวิต  แม้จนบัดนี้ ซึ่งทำให้ยังคงเป็นปริศนาคลุมเครือและเป็นที่ใคร่รู้ของผู้สนใจติดตามชีวิตและผลงานของ “ศรีบูรพา”

เหตุเพราะเจ้าของชีวประวัติได้ลาลับจากวงวรรณกรรมไทยไปแล้ว โดยละวางการกล่าวถึงอัตชีวประวัติในช่วงดังกล่าว รวมถึงไม่ได้เปิดเผยผลงานเขียนใดต่อสาธารณะ และไม่มีโอกาสได้บอกเล่าเรื่องราวความจริงที่เกิดขึ้นในประเทศจีนให้ชนรุ่นหลังรับรู้บรรยากาศการใช้ชีวิตในต่างแดนภายใต้การดูแลของรัฐบาลจีน ในช่วงก่อนสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยและจีนให้กระจ่างได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ความจริง” ดังกล่าวนั้นมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับคณะบุคคลหลายฝ่ายและเกี่ยวข้องกับความผกผันของการเมืองไทย รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและจีน จนอาจกล่าวได้ว่า ช่วงเวลาดังกล่าวนั้นเป็นอีกหน้าหนึ่งที่ควรได้รับการเปิดเผยและบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ไทยและจีน เพื่อให้เกิดสัมฤทธิผลในการศึกษาประวัติความสัมพันธ์ไทย-จีนอีกโสตหนึ่ง ผ่านการต่อสู้ของคณะนักหนังสือพิมพ์ไทยกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งที่มุ่งใฝ่หาสันติภาพและความสัมพันธ์ที่เป็นปกติระหว่างประชาชน!

คณะส่งเสริมวัฒนธรรมไทยกลุ่มเล็กๆ ดังกล่าวที่ได้เดินทางไปจีนตามคำเชิญภายใต้การนำของ “ศรีบูรพา” ในฐานะ หัวหน้าคณะส่งเสริมวัฒนธรรม ในช่วงนั้น ในที่สุดก็ได้ตัดสินใจกลับประเทศไทยเกือบหมด และหลายคนถูกจับกุมคุมขัง แต่ก็ยังเหลือนักหนังสือพิมพ์ในกลุ่มนั้นที่ยังตกค้างอยู่ในจีนด้วยความสมัครใจต่อมาอีกสองคนเป็นเวลายาวนาน นั่นคือ ศรีบูรพา หัวหน้าคณะฯ และ “สุชาติ ภูมิบริรักษ์” นักหนังสือพิมพ์ไทยอีกผู้หนึ่งซึ่งไปในนามของเลขานุการของคณะฯ

สำหรับ “ศรีบูรพา” กล่าวได้ว่าได้อาศัยจีนเป็น “เรือนตาย” จนวาระสุดท้ายในชีวิตในเวลาต่อมาอีก ๑๖ ปี

ความเคลื่อนไหวของคนไทยกลุ่มเล็กๆ นอกสายตาของรัฐบาลไทยในยุคดังกล่าว ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นกิจกรรมที่สร้างความหงุดหงิดรำคาญใจให้แก่รัฐบาลในเวลานั้น เป็นเรื่องที่อาจจะลืมเลือนกันไปแล้วในสังคมไทยเวลานี้  แต่หากย้อนกลับไปศึกษาก็จะพบคำตอบบางประการที่ควรค่าแก่การรู้แจ้งอย่างยิ่งว่า ได้เกิดอะไรขึ้นในท่ามกลางบรรยากาศทางการเมืองขณะนั้นที่ได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนไทย-จีนในวงกว้างและด้วยพลังรุนแรง

อย่างไรก็ตามเรื่องดังกล่าวจนถึงปัจจุบันก็ยังคงเป็นสิ่งที่ชนรุ่นหลังบางกลุ่มได้พยายามหาคำตอบ เพื่อเป็นเสมือน “กุญแจ” ที่ไขความกระจ่างซึ่งโยงใยไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในอดีตที่ต้องสะดุดลงเพราะปัญหาสภาพการเมืองและสังคมในยุคหนึ่ง

“ศรีบูรพา” ผู้ได้ชื่อว่าเป็น “ศรีแห่งวงวรรณกรรมไทย” ผู้หนึ่งที่ทราบความจริง ในช่วงดังกล่าวเมื่อครึ่งศตวรรษที่ผ่านมานี้น่าจะมีโอกาสได้มาเปิดเผยความจริงอันมีคุณค่าต่อสาธารณะ ในฐานะที่เป็นผู้เหมาะสมอย่างยิ่งที่จะมาบอกเล่าเรื่องราวทั้งหมดดังกล่าวด้วยตนเอง ทั้งด้วยวาจาและข้อเขียนในฐานะนักเขียนเอกของไทยผู้หนึ่งซึ่งเป็น แขกเมือง ของรัฐบาลจีนในเวลานั้น ดังที่ “ศรีบูรพา” ได้เคยปฏิบัติมาทุกสถานการณ์

อย่างไรก็ตามน่าแปลกใจอย่างยิ่งที่ “ศรีบูรพา” กลับไม่มีผลงานใดปรากฏอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับช่วงชีวิตที่พำนักอยู่ในจีนเลย  แม้จะทราบจากผู้ใกล้ชิดผู้เป็นทั้งมิตรสนิทรุ่นน้องในจีนคือ “สุชาติ ภูมิบริรักษ์” ว่า ความจริง “ศรีบูรพา” ทำงานเขียนแทบไม่เคยหยุดหย่อน “อย่างกับผึ้ง” ก็ตาม  และผู้เขียนยังทราบข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า ความจริงผลงานของ “ศรีบูรพา” ในจีนนั้นมีไม่น้อยเลยทีเดียว แต่ยังไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะ และบางส่วนก็ไม่มีผู้ใดกล้านำกลับประเทศไทยในเวลานั้น หลังจากการไปของ “ศรีบูรพา” ในจีน และครอบครัวได้ค่อยๆ โยกย้ายกลับผืนแผ่นดินบ้านเกิดเมืองนอน ดังคำกล่าวให้สัมภาษณ์ของชนิด สายประดิษฐ์ ภริยาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๔ ที่ “บ้านศรีบูรพา” ที่กล่าวว่า

ตอนนั้นไม่ได้เอาผลงานศรีบูรพากลับไทยเลย เอาตัวมาได้ก็ดีแล้วเพราะทางนี้ (ประเทศไทยในเวลานั้น-ผู้เขียน) ก็กวดขันกัน

บัดนี้แม้ร่าง “ศรีบูรพา” ลาลับ แต่เขากลับทิ้งผลงานอมตะไว้จำนวนหนึ่งซึ่งนับวันกลับยิ่งส่งให้ชื่อเสียงของ “ศรีบูรพา” เรืองรองยิ่งขึ้น อาจเป็นดังที่นักวิชาการชาวอเมริกันผู้หนึ่งนาม เบนจามิน แบตสัน ได้เคยวิเคราะห์เอาไว้ว่า

ฐานะของนายกุหลาบในโลกวรรณกรรมไทยในยุคปัจจุบันสูงกว่าในช่วงเวลาที่เขามีชีวิตอยู่

นี่ย่อมแสดงถึงอมตะของผลงานซึ่งยืนยงยิ่งกว่าร่างของผู้เป็นเจ้าของซึ่งเมื่อถึงวันหนึ่งก็จะต้องดับสูญกลับคืนสู่ธรรมชาติ เสมอเหมือนกันไม่แตกต่าง และไม่อาจมีใครหลีกเลี่ยงพ้น

อย่างไรก็ตามนับเป็นเรื่องโชคดีที่บัดนี้ สุชาติ ภูมิบริรักษ์ มิตรรุ่นน้อง ซึ่งได้เดินทางไปจีนพร้อมคณะนักหนังสือพิมพ์ทั้งหมด ๑๒ ชีวิตในนามของเลขานุการคณะฯ  ภายใต้การนำของหัวหน้าคณะส่งเสริมวัฒนธรรมไทยคือ “ศรีบูรพา” ยังมีชีวิตอยู่ในวัย ๗๗ ปี ด้วยสุขภาพที่ดี  ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเกือบครึ่งศตวรรษนั้น เขายังคงพำนักอยู่ในประเทศจีน ภายใต้การดูแลอย่างดีของรัฐบาลจีนมาตั้งแต่ต้น และเป็นอีกผู้หนึ่งที่เลือกประเทศจีนเป็น เรือนตาย

ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า สุชาติ ภูมิบริรักษ์ จึงน่าจะเป็นผู้หนึ่งที่รู้ “ความจริง” บางด้านดังกล่าวนั้นไม่มากก็น้อย  เพราะเขาเป็นอีกผู้หนึ่งที่เดินเคียงข้าง “ศรีบูรพา” มาตั้งแต่ก้าวแรกที่สัมผัสผืนแผ่นดินจีน  ก้าวต่อมาที่ร่วมคณะกับ “ศรีบูรพา” ไปชมสถานที่ทุกแห่งตามกำหนดการของรัฐบาลจีนในฐานะ “แขกเมือง”  และก้าวสำคัญที่แทบจะเรียกว่า “ร่วมหลังคาเรือน” เดียวกันเป็นระยะเวลายาวนานใน โรงแรมสันติภาพ และ โรงแรมมิตร าพ กรุงปักกิ่ง ซึ่งเป็นที่พำนักที่รัฐบาลจีนจัดสรรให้เป็นการเฉพาะ  จนกระทั่งก้าวสุดท้ายที่ “ศรีบูรพา” ลาลับ ฝากลมหายใจสุดท้ายบนเตียงผู้ป่วย ณ โรงพยาบาลเซียนเหอ ในกรุงปักกิ่ง และกล่าวประโยคสุดท้ายที่จับใจ สุชาติ ภูมิบริรักษ์ ต่อกรณีเหตุการณ์ “๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖” ด้วยความยินดีต่อผลสำเร็จของประชาชนและนักศึกษาไทยในเวลานั้นว่า

นี่เป็นชัยชนะของนักศึกษา!

และต่อมาอีกไม่กี่วัน “ศรีบูรพา” ก็ได้จากไปอย่างไม่มีวันกลับใน พ.ศ. ๒๕๑๗

การเดินทางไปเยือนจีนของคณะส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งประเทศไทยภายใต้การนำของ “ศรีบูรพา” ในช่วงเวลานั้นมีวัตถุประสงค์หลักอย่างหนึ่งคือสืบสานสายสัมพันธ์ระหว่างประชาชนไทย-จีน แม้ว่าระหว่างเส้นทางนั้นจะเต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนามจากปัญหา “ความแตกต่าง” ของนโยบายทางการเมืองของรัฐบาลในยุคนั้น  จึงนับว่ามีความสำคัญควรค่าแก่การศึกษาอย่างยิ่ง  เพราะกว่าจะมาถึงวันนี้ที่ประเทศไทยได้รับการยกย่องจากรัฐบาลจีนว่า “เป็นตัวอย่างของประเทศระบอบการปกครองที่แตกต่างซึ่งมีความสัมพันธ์ที่ดีงาม”

ชนรุ่นหลังของไทยที่เกิดหลังปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ไทย-จีนอย่างเป็นทางการครั้งแรกนั้นอาจไม่เคยรู้ว่าเหตุการณ์แห่งประวัติความสัมพันธ์ในอดีตระหว่างไทย-จีนในช่วงก่อนเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตนั้นมีความตึงเครียดรุนแรงอย่างไร  จากการได้มีโอกาสพูดคุยกับเยาวชนไทยบางส่วนที่ได้เคยไปศึกษาต่อด้านภาษาจีนในกรุงปักกิ่ง รวมถึงสอบถามเรื่องเกี่ยวกับการเดินทางไปเยือนจีนในอดีต ของ “คณะทูตใต้ดิน” ไม่ว่าจะเป็นคณะนักหนังสือพิมพ์ คณะนักกีฬาไทยหรือคณะศิลปินที่เคยเดินทางไปจีนในอดีตยุคก่อนเปิดความสัมพันธ์ มักจะได้รับคำตอบว่า ไม่ทราบ

ขณะเดียวกันนับวันความสัมพันธ์ไทย-จีนในปัจจุบันก็ยิ่งเจริญงอกงามแตกดอกออกช่อเติบโตและยืนยงขึ้น อันจะเห็นได้จากการแลกเปลี่ยนระหว่างรัฐบาลสองฝ่ายแทบทุกด้าน รวมถึงด้านการศึกษาที่มีทั้งนักศึกษาจีนเดินทางมาศึกษาในเมืองไทย และมีนักศึกษาไทยจำนวนมากที่หลั่งไหลไปศึกษาภาษาจีนในประเทศจีนและได้รับการสนับสนุนด้วยดีจากรัฐบาลทั้งสองฝ่าย ทำให้สามารถกลบเกลื่อนร่องรอยชำรุดทางประวัติศาสตร์ที่ถูกทำลายลงด้วยสถานการณ์ทางการเมืองได้

อย่างไรก็ตามเราไม่ควรลืมเลือนว่า กว่าจะมาถึงวันนี้ได้นั้น ความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่ายได้เคยเกิด “อุบัติเหตุ” อะไรขึ้นในระหว่างหนทางอันมือมน จนส่งผลกระทบรุนแรงต่อประชาชนทั้งสองฝ่าย ดังที่เคยมีกล่าวไว้ในหนังสือชื่อ ฉู่ฉือ หรือ ผกางามแห่งจีนใต้ แปลและเรียบเรียงโดยผู้เชี่ยวชาญด้านจีนศึกษาอาวุโสแห่งวงการศึกษาของไทยนาม ยง อิงคเวทย์ ว่า

ขอให้กวีนิพนธ์ทุกบททุกตอนในหนังสือชุด รัตนมณีกวีนิพนธ์จีน นี้จงเป็นสื่อน้อมนำผู้อ่านให้เข้าถึงสุนทรียภาพแห่งภูมิปัญญาจีน เป็นเครื่องเสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างจีนกับไทยสมเจตนารมณ์ของผู้แปล ช่วยให้คลายความเกลียดชังอย่างที่เราเคยเป็นมาในยุคหนึ่งไป…

“ศรีบูรพา” และครอบครัวได้รับการดูแลอย่างที่อาจเรียกได้ว่า “ดีที่สุด” จากรัฐบาลอีกประเทศหนึ่ง เมื่อเทียบกับสภาพความเป็นอยู่ชาวจีนทั่วไปส่วนใหญ่ในเวลานั้น ซึ่งรัฐบาลจีนได้พยายามมอบสิ่งนั้นให้สำหรับชาวต่างชาติทุกชาติทุกภาษาที่มุ่งเดินทางไปขอลี้ภัย และใช้เวลาในระหว่างนั้นร่วมฟื้นฟูบูรณะประเทศชาติในด้านต่างๆ เรื่องนี้มีข้อมูลยืนยันหลายเสียงจากพยานบุคคลเคียงคู่ “ศรีบูรพา” ตลอดเวลายามที่ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศจีน

มีข่าวที่ไม่เปิดเผยคือ อุบัติการณ์ทำลายล้างหนังสือไทยจำนวนมากที่ตกค้าง ทั้งหนังสือที่เขียนโดยนักเขียนไทยและหนังสือที่แปลจากภาษาจีนเป็นภาษาไทยซึ่งพิมพ์โดย รัฐบาลจีนในเวลานั้น ด้วยการจุดไฟเผาเสียเกือบหมด จากความ “รู้เท่าไม่ถึงการณ์” ของผู้บงการบางกลุ่ม ทั้งนี้ก็เพื่อเจตนาดีคือลดผลกระทบด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศลงให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เหตุผลเพราะงานประพันธ์บางเล่มสะท้อนทั้งด้านความคิดและทฤษฎีทางการเมืองอย่างชัดเจนและหนังสือเป็นสื่อถาวรซึ่งไม่สามารถกลบเกลื่อนความคิดได้นั่นเอง  ดังนั้นจึงอาจต้องทำลายเสีย เพื่อมิให้หลงเหลือ หลักฐาน

วัตถุประสงค์สำคัญก็เพื่อดำรงความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทย-จีนที่มีมายืนยาวให้ยืนยงอยู่ต่อไปอย่างราบรื่นไร้ปัญหาใดๆ จึงจำต้องขจัดสิ่งตกค้างทางประวัติศาสตร์ที่อาจเคยมีความบาดหมางหรือหนทางที่แตกต่างนั้น และเพื่อสืบสานความสัมพันธ์ทั้งภาครัฐและประชาชนให้เจริญงอกงามสืบต่อไปชั่วกาลนาน

นับเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่งเพราะท่ามกลางกองเพลิงนั่นคือผลงานอันประมาณค่ามิได้ทั้งที่ประพันธ์โดยนักเขียนไทยและผลงานแปลจากภาษาจีนเป็นไทยนั้นได้แฝงไว้ด้วย มรดกทางปัญญา อันทรงคุณค่าไว้จำนวนไม่น้อย เป็นผลงานร่วมกันของทั้งนักเขียน นักแปลไทยและจีนที่อยู่เบื้องหลัง

อย่างไรก็ตามหนังสือเหล่านั้นไม่อาจจะเผาได้หมด  ดังที่เคยมีผู้กล่าวว่า สำหรับหนังสือนั้น “ยิ่งเผาก็ยิ่งยัง” ไม่ว่าจะปรากฏขึ้น ณ ซอกมุมใดของโลกและชาติภาษาใด  เพราะมักจะปรากฏว่าพลังของหนังสือที่ถูกพิจารณาให้กำจัดให้หมดสิ้นไปในประวัติศาสตร์นั้น มักจะก่อ “ปาฏิหาริย์” ได้อย่างน่าอัศจรรย์เสมอ

หนังสือในจีนก็เช่นกัน เพราะปรากฏว่า บัดนี้ก็ยังมีหนังสือเหล่านั้นเหลือตกค้างต่อมาอีกจำนวนไม่น้อย  กลายเป็นหลักฐานสำคัญและทรงค่าให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และประวัติความสัมพันธ์ไทย-จีนต่อไป  หนังสือดังกล่าวนั้นมีทั้งที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ วรรณกรรม การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งล้วนแต่แปลเป็นภาษาไทยแล้วทั้งนั้น โดยบุคลากรทั้งชาวจีนและชาวไทยกลุ่มหนึ่งที่ทำงานร่วมกันอย่างเงียบๆ อยู่เบื้องหลัง

เคยสอบถามผู้อยู่ในเหตุการณ์เกี่ยวกับกรณีเพลิงไหม้ทางประวัติศาสตร์ครั้งนี้ผู้หนึ่ง ซึ่งแม้แต่หนังสือผลงานเขียนและแปลของเขาบางเล่มก็ถูกเผาไปด้วยนั้น ก็ได้คำตอบว่า

เขาเอาไปเผาหมด ไม่เพียงแต่หนังสือทฤษฎีการเมือง หนังสือเกี่ยวกับวรรณกรรม นิทานพื้นบ้านหรือนิทานสุภาษิตอะไรต่างๆ ซึ่งไม่น่าจะเอาไปเผาเพราะไม่มีผลกระทบต่อแนวคิดทางการเมืองรุนแรงอะไร เขาก็เอาไปเผาหมด  แม้กระทั่งพจนานุกรมและต้นฉบับใหม่ๆ ที่ทำเสร็จแล้วและรอการพิมพ์ของผมก็ถูกเอาไปเผา  เมื่อสอบถามกันดู ได้คำตอบที่แฝงไว้ด้วยอารมณ์ขันที่ว่าเป็นเช่นนั้นก็เนื่องจากว่า… “เพราะคนเผาไม่รู้ภาษาไทยค่ะ!”

นับเป็นเรื่อง “ตลกร้าย” ที่ขำไม่ออก

ครั้งที่ผู้เขียนเคยไปทำงานประจำที่ภาคภาษาไทยของสำนักงาน นิตยสารภาพจีน แห่งกรมการพิมพ์ภาษาต่างประเทศแห่งชาติจีนในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ นั้น ก็ปรากฏว่าได้มีโอกาสเห็นหนังสือภาษาไทยทรงคุณค่าแก่การศึกษาหลายสาขาที่ตกค้างอยู่จำนวนไม่น้อยบนหิ้งหนังสือในห้องทำงาน  ทั้งหนังสือประเภททฤษฎีทางการเมืองปกแดงของผู้นำจีนที่แปลเป็นไทย เช่น สรรนิพนธ์เหมาเจ๋อตง ๕ เล่ม ชุดคติพจน์เหมาเจ๋อตง สรรนิพนธ์เติ้งเสี่ยวผิง ชีวประวัติเติ้งเสี่ยวผิง และอื่นๆ วรรณคดีจีน ผลงานประพันธ์ของ “หลู่ซิ่น” ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นปรมาจารย์นักประพันธ์แห่งศตวรรษที่ ๒๐ ของจีน ผลงานประพันธ์ของ “เหลาเส่อ” นักเขียนเรืองนามอีกผู้หนึ่งของจีน ผลงานเด่นของนักเขียนจีนชื่อดังอื่นๆ เช่น “ปาจิน” และ “เหมาตุ้น” ตำนานและนิทานจีน เป็นต้น  รวมถึงผลงานบางเรื่องที่โดดเด่นของไทย ทั้งที่เป็นภาษาไทยและที่แปลเป็นภาษาจีน เป็นต้น

อย่างไรก็ตามหากย้อนอดีตได้ มรดกทางปัญญาเหล่านั้นอาจยังคงอยู่อีกมาก  แต่เนื่องด้วยในขณะนั้นไม่มีผู้ใดสามารถเล็งการณ์ไกลได้ว่า อนาคตแห่งความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีนจะเจริญงอกงามได้ดั่งเช่นที่เห็นอยู่ในขณะนี้นั่นเอง

ผู้รับผิดชอบภาคภาษาไทย นิตยสารภาพจีน ยังได้เคยยกหนังสือซึ่งสะท้อนภูมิปัญญาจีนหลายเล่มที่เหลือตกค้างอยู่ในตู้หนังสือของภาคภาษาไทย ในสำนักงานนิตยสารแห่งนี้ให้ผู้เขียนในวันแรกที่ไปทำงานประจำที่นิตยสารภาพจีน ในประเทศจีน  ซึ่งผู้เขียนรับไว้ด้วยความประทับใจและเก็บไว้อย่างถนอมมาจนบัดนี้ เช่น ผลงานเรื่องสรรนิพนธ์เหมาเจ๋อตุง ผลงานเรื่องชุมนุมเรื่องสั้น ของ “หลู่ซิ่น” ผลงานเรื่องบ้าน ของ “ปาจิน” ผลงานเรื่องฤดูใบไม้ร่วง ของ “เหมาตุ้น” และจันทร์เสี้ยว ของ “เหลาเส่อ” รวมทั้งนิทานพื้นเมืองจีนเรื่องตามหาพระอาทิตย์ และอื่นๆ

สำหรับประวัติศาสตร์เพลิงไหม้หนังสือในจีนนั้นเป็นเรื่องที่ “ปิดกันให้แซด” ในหมู่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และคงเป็นเรื่องที่ผู้อยู่เบื้องหลังการเขียน การแปล และจากผลิตหนังสือทุกคน รวมถึงคนไทยจำนวนหนึ่งยากที่จะลืม!

สมควรอย่างยิ่งที่จะนำผลงานเหล่านั้นมาพิมพ์เผยแพร่ใหม่ทั้งหมดเพื่อสัมฤทธิ์ผลแห่งการศึกษาทั้งด้านภาษาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ การเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ สังคม และวรรณกรรมทั้งไทยและจีน ในท่ามกลางกระแสการเจริญเติบโตอย่างไม่หยุดยั้งของการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือด้านการศึกษาภาษาระหว่างสองประเทศ อันจะนำไปสู่หนทางแห่งการเชื่อมความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและลึกซึ้งอย่างเต็มไปด้วยความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องยิ่งขึ้นอีกแนวทางหนึ่ง

หลักฐานที่ดีหลักฐานหนึ่งมาจากคำปราศรัยครั้งหนึ่งของ “ศรีบูรพา” เรื่อง “วรรณคดีไทยสมัยปัจจุบัน” ซึ่ง “ศรีบูรพา” ได้รับเชิญไปบรรยายให้นักศึกษาจีนแห่งภาคภาษาไทยฟัง ณ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศจีน เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๑ ความตอนหนึ่งว่า

การปราบปรามผู้รักชาติและรักสันติที่ได้คัดค้านนโยบายร่วมมือกับจักรวรรดินิยมตามวิถีทางประชาธิปไตยและชอบด้วยกฎหมายที่ได้เริ่มขึ้นเมื่อเดือนตุลาคมปีกลายนี้ได้ส่งผลกระทบกระเทือนไม่น้อยมาถึงวงการวรรณคดีด้วย โดยเฉพาะวรรณคดีฝ่ายก้าวหน้า นอกจากการปิดหนังสือพิมพ์รายวันหลายฉบับแล้ว หนังสือพิมพ์รายคาบยังถูกปิดด้วย ไม่เฉพาะแต่หนังสือพิมพ์รายคาบที่เป็นหนังสือพิมพ์การเมืองเท่านั้นที่ถูกปิด  แม้หนังสือพิมพ์ที่ลงพิมพ์นวนิยายและที่มีความมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมวรรณคดีก็ถูกปิด การปิดหนังสือพิมพ์เป็นจำนวนมากเช่นนี้ แสดงอยู่ในตัวว่าประชาชนไม่สนับสนุนนโยบายร่วมมือกับจักรวรรดินิยมของรัฐบาล นอกจากการปิดหนังสือพิมพ์ได้มีการปิดร้านหนังสือที่จำหน่ายหนังสือจากประเทศจีนและสหภาพโซเวียต และได้มีการเก็บหนังสือนวนิยายและสารคดีที่ก้าวหน้าหลายเล่ม  ในขณะนี้จึงนับว่าวงการวรรณคดีไทยฝ่ายก้าวหน้ากำลังเผชิญคำปราศรัยกับคลื่นลมอันร้ายกาจของอิทธิพลจักรวรรดินิยมวงการวรรณคดีไทยฝ่ายก้าวหน้าจะฝ่าคลื่นลมอันร้ายกาจนี้ไป ดุจเดียวกับนกนางแอ่นทะเลอย่างแน่นอน…

เอกสารคำปราศรัยดังกล่าวของ “ศรีบูรพา” บัดนี้ ผ่านมายาวนานถึง ๔๖ ปีเต็มแล้ว  หลังจากที่ “ศรีบูรพา” ได้เหยียบย่างเข้าสัมผัสผืนแผ่นดินจีนได้เพียงปีเดียวก็ได้รับเชิญไปกล่าวคำปราศรัย ณ มหาวิทยาลัยแห่งนั้น เพื่อพบปะกับบรรดานักศึกษา อันเป็นความหวังหรือ “อนาคตของชาติ” ดังที่ “ศรีบูรพา” มักจะให้ความสำคัญเสมอนั้น ต้นฉบับเดิมของคำปราศัยนี้ตกค้างอยู่ในมือของ สุชาติ ภูมิบริรักษ์ ด้วยกระดาษขนาดเล็กกว่าเอ ๔ เล็กน้อย สีเหลืองเข้มจากความเก่าแก่ซึ่งถูกตอกด้วยพิมพ์ดีด าษาไทยด้วยฝีมือของ “ศรีบูรพา” เองจำนวน ๑๔ หน้า และยังไม่เคยตีพิมพ์เผยแพร่ซ้ำอีกเลยหลังจากนั้น อาจเนื่องมาจากสาเหตุดังที่สุชาติ ภูมิบริรักษ์ได้กล่าวว่า

ต้นฉบับคำปราศรัยเกี่ยวกับ วรรณคดีสมัยปัจจุบันของ “ศรีบูรพา” ผมเก็บรักษาไว้ฉบับหนึ่งเป็นเวลา ๔๖ ปีแล้ว  ต้นฉบับคำปราศรัยนี้พิมพ์ด้วยพิมพ์ดีด ผมเข้าใจว่า “ศรีบูรพา” เป็นผู้พิมพ์เพื่อเตรียมไปกล่าวคำปราศรัยและมีอยู่ฉบับเดียว  ต่อมาฝ่ายจีนคงจะขอต้นฉบับไปอัดสำเนาไว้ ความเข้าใจอันนี้ของผมคงไม่ผิด สังเกตเห็นได้จากบรรทัดล่างของหน้าแรกมีตัวหนังสือจีนเขียนด้วยลายมือแปลว่า “ประวัติวรรณคดีไทยสมัยปัจจุบัน” ต้นฉบับที่อยู่ในมือผมเป็นฉบับอัดโรเนียว ฝ่ายจีนคงจะแจกให้ผมฉบับหนึ่งส่วนต้นฉบับฯ เดิมต้องอยู่ในมือของ “ศรีบูรพา” แน่นอน

อย่างไรก็ดีต้นฉบับคำปราศรัยฯ นี้ที่หลงเหลืออยู่ในประเทศจีน และอยู่ในมือของส่วนบุคคลคงจะมีแต่ฉบับของผมเท่านั้น  เพื่อนชาวจีนคงไม่กล้าเก็บรักษาไว้ เพราะตลอดเวลาเกือบครึ่งศตวรรษมานี้ ในประเทศจีนมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายครั้ง  ที่รุนแรงที่สุดคือ “การปฏิวัติใหญ่ทางวัฒนธรรม”  เอกสารภาษาต่างประเทศที่อยู่ในมือของส่วนบุคคลเป็นเป้าที่จะถูกทำลาย  ใครก็คงไม่กล้าเสี่ยงที่จะเก็บรักษาไว้  สำหรับผมที่กล้าเก็บรักษาต้นฉบับคำปราศรัยฯ ของ “ศรีบูรพา” ไว้ก็เพราะแน่ใจว่าเรดการ์ดคงจะไม่มาค้นบ้านผม  สำหรับต้นฉบับคำปราศรัยเดิมผมเชื่อว่าคงอยู่ในมือของ “ศรีบูรพา”  ถ้าคุณชนิดนำกลับมาเมืองไทยด้วย ชะตากรรมของ “ต้นฉบับเดิม” เป็นอย่างไรก็ยากจะทราบได้  แต่ไม่เป็นไรต้นฉบับสำเนายังอยู่ที่ผม

กล่าวได้ว่า สุชาติ ภูมิบริรักษ์ นับถือ “ศรีบูรพา” เป็น “กัลยาณมิตร” ที่เขาเชิดชูยกย่องทั้งในแง่ของการใช้ชีวิตและผลงาน และพยายามเก็บทุกความทรงจำหรือหลักฐานต่างๆ ที่เคยมีโอกาสได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันไว้ได้อย่างน่าประหลาดใจ  ด้วยเวลาที่ผ่านมาเนิ่นนานและความชราภาพที่มาเยือน แต่เขาก็ยังคงจดจำแทบทุกรายละเอียดของ “ศรีบูรพา” ได้เป็นอย่างดี

เหตุผลหนึ่งนั้น สุชาติ ภูมิบริรักษ์ ในฐานะที่เคยเป็นนักหนังสือพิมพ์มาก่อนกล่าวว่า

“เพราะผมจดบันทึกเหตุการณ์ในตอนนั้นไว้เป็นสิบเล่ม”

คำปราศรัยก่อนกล่าวสรุปของ “ศรีบูรพา” ในท่ามกลางบรรยากาศทั้งนักศึกษาจีนที่กำลังศึกษาภาษาไทย รวมถึงนักศึกษาจีนแห่งภาควิชาภาษาต่างๆ ในมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ซึ่งมีล่ามคอยแปลเป็นภาษาจีนแพร่ในวงกว้างอีกทอดหนึ่งนั้นนับว่าทรงพลังน่าสนใจนำมาเผยแพร่ ณ ที่นี้

“ศรีบูรพา” กล่าวสรุปคำปราศรัยว่า

อย่างไรก็ดีสมควรที่จะกล่าวย้ำไว้ว่า จนถึงเวลานี้ วรรณคดีใหม่ของไทยยังอยู่ในระยะเริ่มต้นของการพัฒนา ยังอยู่ในระยะเริ่มต้นของการแสวงหาความจัดเจน เครื่องมือในการศึกษาของเรามีอยู่โดยจำกัดมาก เช่นเดียวกับนักศึกษาภาษาไทยของเราที่นี่ (หมายถึงมหาวิทยาลัยปักกิ่ง-ผู้เขียน) เพราะช่องทางแห่งการศึกษาของเราถูกจำกัดขัดขวาง  เรายังจะต้องศึกษาอีกมาก และยังมีหนทางข้างหน้าอีกไกลที่เราต้องเดินต่อไป

ในขณะนี้ เราอาจกล่าวได้แต่เพียงว่า วรรณคดีใหม่ของไทยได้ทำหน้าที่จุดประทีปแห่งความหวัง ที่วรรณคดีไทยจะได้มีบทบาทสำคัญในอันที่จะได้รับใช้ชีวิตของมวลชนอย่างมีประสิทธิภาพขึ้นแล้ว  และเราได้เห็นอย่างแจ่มแจ้งว่า เวลาได้มาถึงแล้ว ที่ผู้เก็บดอกผลของวรรณคดีจะมิใช่กลุ่มชนน้อยๆ  ที่มีเอกสิทธิ์ในสังคมเท่านั้น  เรามีความเชื่อมั่นว่า การเปลี่ยนแปลงอันมีอยู่ไม่ขาดสายจะต้องดำเนินไปสู่สถานะที่การสร้างสรรค์วรรณคดี และการเก็บดอกผลของวรรณคดีเป็นเรื่องของประชาชนอย่างสิ้นเชิง  และเมื่อประชาชนเป็นผู้สร้างสรรค์วรรณคดีแล้ว เขาก็จะต้องสร้างสรรค์วรรณคดีเพื่อผลประโยชน์และความดีงามแห่งชีวิตของประชาชนอย่างแน่นอน

บัดนี้ข้าพเจ้าขอจบปาฐกถา และขอขอบพระคุณท่านผู้ฟังทุกท่าน

แม้ “ศรีบูรพา” จะทิ้งท้ายคำปาฐกถาไว้อย่างเต็มความหวังเกี่ยวกับ “ดอกผล” แห่งวรรณคดีซึ่ง จะ “งอกงามเป็นความดีงามแห่งชีวิตของประชาชนอย่างแน่นอน” ก็ตาม  แต่ในสภาพสังคมไทยยุคหนึ่งที่จะลืมเลือนเสียมิได้ก็คือ ในช่วงระหว่าง “การปฏิวัติรัฐประหาร” ของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ สองครั้งในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ และ พ.ศ. ๒๕๐๑ โดยเฉพาะการปฏิวัติรัฐประหารในปี พ.ศ. ๒๕๐๑ นั้น นอกจากจะ “เป็นการเลิกล้มสถาบันทางการเมืองที่มีอยู่โดยสิ้นเชิง” แล้วก็มีผลให้รัฐบาลใช้

มาตรการรุนแรงปราบปรามเข่นฆ่าผู้ที่มีความคิดเห็นขัดแย้งกับรัฐบาลได้อย่างเด็ดขาดด้วย

จากการพูดคุยกันกับ “ลู่เผยจง” มิตรร่วมงานผู้หนึ่งของผู้เขียนครั้งอยู่ในจีน ซึ่งเป็นนักแปลและนักเขียนชาวจีนเจ้าของผลงานแปลทั้งจากภาษาไทยเป็นจีนและจากจีนเป็นไทยหลายเรื่อง เช่น สี่แผ่นดิน คำพิพากษา และ เรียนรู้ชีวิตจากผู้หญิง ของ “อันตุ้น”  เป็นต้นซึ่งได้บรรจงถ่ายทอดวรรณกรรมสองภาษาให้ชาวจีนและไทยได้รู้จักกันในวงกว้าง รวมถึงเป็นเจ้าของผลงานเขียนเรื่องหมายเหตุจากปักกิ่ง (เขียนร่วมกับผู้เขียน) นั้น ลู่เผยจงได้เคยกล่าวถึง “ศรีบูรพา” เอาไว้ว่า

“ครั้งที่ศรีบูรพาอยู่ในจีนนั้นไม่เคยพบตัวของศรีบูรพา  แต่ครั้งที่ผมทำงานแปลในสำนักพิมพ์ภาษาต่างประเทศ หรือทำงานแปลที่ นิตยสารภาพจีน ของกรมการพิมพ์ภาษาต่างประเทศแห่งชาติจีนนั้น จำได้ว่าเมื่อทำงานแปลเสร็จก็เคยได้ยินว่า จะส่งไปให้ อาจารย์ ผู้หนึ่งตรวจดูอีกที

“ตอนนั้นผมจำได้ว่า ในจีนมีคนไทยคนหนึ่งที่ชื่อว่า “อาจารย์” หมายความว่าใครๆ ก็เรียกกันว่า อาจารย์ แต่ไม่เปิดเผยชื่อ คอยทำหน้าที่ตรวจทานงานแปลของพวกเราอยู่เบื้องหลัง และเล่ากันว่า หากผ่านการตรวจสอบของ “อาจารย์” แล้ว ก็หมายความว่า ใครจะแตะต้องอีกไม่ได้ ซึ่งก็หมายความว่า ผลงานนั้นผ่านแล้วเรียบร้อย  ต่อมาภายหลังผมจึงทราบว่า “อาจารย์” ที่ถูกกล่าวก็คือ “ศรีบูรพา” นั่นเอง”

หนึ่งในผลงานการ “ตรวจสอบ” ดังกล่าวนั้นยังรวมถึงผลงานสรรนิพนธ์อันลือลั่นทรงพลังของอดีตผู้นำจีนเหมาเจ๋อตงอีกด้วย เรื่องนี้ได้รับคำยืนยันจากหัวหน้าคณะปฏิคมฝ่ายจีนคนสำคัญที่ให้การต้อนรับคณะส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งนำโดย “ศรีบูรพา” คือ นาย “อู๋ตง” นั่นเอง

“ศรีบูรพาบางครั้งก็ไปช่วยทำหนังสือ “สรรนิพนธ์”” ของเหมาเจ๋อตง เป็นคนตรวจแก้ภาษานะ ทำหนักมากในตอนนั้น แต่ตอนนั้นยังแข็งแรง ทำอย่างจริงจัง…”

สำหรับเรื่องนี้ สุชาติ ภูมิบริรักษ์ กล่าวเสริมว่า

หนังสือ “สรรนิพนธ์” ของประธานเหมาเจ๋อตงนั้น การตรวจแก้ผ่านมาหลายคนแล้ว กว่าจะมาถึงมือของอาจารย์ (หมายถึง “ศรีบูรพา”) ท่านแก้เฉพาะคำที่มีปัญหาเท่านั้น ไม่ใช่ตรวจแก้ทั้งหมด

“ลู่เผยจง” ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า “นอกจากนั้นก็ยังมีคนไทยบางคนที่ทำงานอยู่เบื้องหลังในสำนักงานองค์การการพิมพ์ภาษาต่างประเทศแห่งชาติจีนในเวลานั้น แต่ก็ปิดเป็นความลับเหมือนกัน เพราะบางคนเมื่อเปิดเผยออกมาแล้ว ปรากฏว่าเป็น “คอมมิวนิสต์”  แต่เท่าที่ผมทราบ ศรีบูรพาไม่ใช่คอมมิวนิสต์

อย่างไรก็ตามเกี่ยวกับกรณี “คอมมิวนิสต์” นั้น ได้มีผู้กล่าวถึง “ศรีบูรพา” เอาไว้ ซึ่งสะท้อนว่า “ศรีบูรพา” ถูกจับตามองจากฝ่ายรัฐบาลไทยอย่างเข้มงวดในเวลานั้นด้วยข้อหาที่ล่อแหลม  ต่อเรื่องนี้ ชนิด สายประดิษฐ์ ได้เคยกล่าวเอาไว้ว่า

“พวกองค์กรสันติภาพสากลเขาประชุมกันที่กรุงเบอร์ลินต้นปี พ.ศ. ๒๔๙๕ เรียกร้องให้อเมริกาและประเทศบริวารหยุดส่งทหารไปรุกรานเกาหลี แล้วก็แต่งตั้งคนไทยสามคนเป็นกรรมการสันติภาพสากลประจำประเทศไทย มี กุหลาบ สายประดิษฐ์ สมัคร บุราวาศ เพทายโชตินุชิต  เท่านั้นแหละ วิทยุกระจายเสียงของทางราชการไทยก็บอกว่าพวกนี้เป็นคอมมิวนิสต์ ทั้งๆ ที่กรรมการสันติภาพสากลที่เขาประชุมกันเป็นพระจากศาสนาต่างๆ ก็มี  มันเป็นการกล่าวหากันอย่างโคมลอย หลังจากนั้นคุณกุหลาบก็ยังไปพูดในที่ประชุมสมาคมหนังสือพิมพ์ เรียกร้องให้รัฐบาลเลิกเซ็นเซอร์ข่าวหนังสือพิมพ์อีก…”

จากการพูดคุยกับนักศึกษาจีนรุ่นใหม่แห่งภาคภาษาไทย มหาวิทยาลัยกวางสีในจีนผู้หนึ่ง ก็เคยได้คำตอบเกี่ยวกับ “ศรีบูรพา” เมื่อได้ตั้งคำถามว่า “รู้จักนักเขียนไทยไหม” เขาตอบว่า “รู้จัก” และเมื่อถามต่อไปว่า “ชอบผู้ใดเป็นพิเศษ” เขารีบตอบทันทีว่า “ศรีบูรพา” และเมื่อถามต่อว่า “อ่านเรื่องอะไรของศรีบูรพา” เขาตอบว่า “ข้างหลังภาพ”

เหตุผลที่รู้จักกันดีเพราะได้มีโอกาสศึกษาผลงานบางส่วนซึ่งครูอาจารย์มักจะหยิบยกนำไปสอนในห้องเรียนวิชาภาษาไทยของนักศึกษาจีนนั่นเอง

ประมาณช่วงปลายเดือนกรกฎาคมปี พ.ศ. ๒๕๔๗ ซึ่งเป็นช่วงครบรอบการสถาปนาความสัมพันธ์ไทย-จีน ๒๙ ปีในเดือนนั้น  ภาพยนตร์ไทยได้เป็นที่รู้จักกว้างขวางไปทั่วโลก อันเนื่องมาจากผู้สร้างและผู้กำกับภาพยนตร์ไทยทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ได้สร้างผลงานภาพยนตร์ไทยให้ชาวโลกได้ประจักษ์มากขึ้นเรื่อยๆ  ผู้เขียนได้ทราบจากมิตรชาวจีนผู้หนึ่งที่รีบแจ้งให้ทราบอย่างตื่นเต้นว่า ได้มีโอกาสชมเรื่องข้างหลังภาพ ของ “ศรีบูรพา” ทางสถานีโทรทัศน์ส่วนกลางของจีนหรือซีซีทีวี ๖ ถึงสองรอบในวันเดียวกัน  และที่เขารู้สึกตื่นเต้นนั้น ก็เนื่องจากว่าได้ชมภาพยนตร์เรื่องเดียวกันนี้จากซีดีภาษาไทยมาก่อน ซึ่งเวลานั้นซีดีภาพยนตร์ไทยชื่อดังหลายเรื่องหาได้ไม่ยากในจีน และอาจหาได้ทั้งซีดีแท้หรือซีดีเถื่อน เช่นเรื่องสุริโยทัย ของผู้กำกับฯ อาวุโสมีชื่อเสียงของไทย ม.จ. ชาตรี เฉลิม ยุคล เรื่องจันดารา และเรื่องนางนาค ของผู้กำกับภาพยนตร์มือรางวัลรุ่นใหม่ นนทรีย์ นิมิบุตร เรื่องแม่เบี้ย ซึ่งเป็นบทประพันธ์ของ วาณิช จรุงกิจอนันต์ เป็นต้น  เป็นภาพสะท้อนอีกอย่างในสังคมจีนปัจจุบันที่ต้องการเสพภาพยนตร์ไทยกันมากขึ้น

“ภาษาในภาพยนตร์เรื่อง “ข้างหลังภาพ” เป็น “ภาษาวรรณกรรม” ที่ดีทีเดียว

มิตรชาวจีนผู้ศึกษาด้านวรรณกรรมจีนผู้นั้นกล่าววิพากษ์วิจารณ์ภาษาภาพยนตร์ข้างหลังภาพ ซึ่งพากย์จากไทยเป็นจีนอีกชั้นหนึ่ง

ผู้เขียนจึงรีบแจ้งความจริงไปว่าผลงานภาพยนตร์เรื่องนั้นเขียนโดยนักเขียนเรืองนามของไทยคือ “ศรีบูรพา” ซึ่ง สมบูรณ์ วรพงษ์ บรรณาธิการ นักหนังสือพิมพ์ และนักเขียนไทยอาวุโสผู้ซึ่งเพิ่งได้รับการยกย่องให้ได้รับรางวัลศรีบูรพาคนล่าสุดในปี พ.ศ. ๒๕๔๗ ได้เคยอ้างเอาไว้ในหนังสือชื่อจดหมายจากปักกิ่ง ซึ่งได้เขียนร่วมกับนักเขียนชาวจีนนาม “หวังเหมย” ว่า

“อดีตผู้นำจีนเหมาเจ๋อตงได้เคยกล่าวทักทายศรีบูรพาไว้ ณ บริเวณจัตุรัสเทียนอันเหมินว่าเป็น “ไท่กว๋อเตอะหลู่ซิ่น” หรือ “หลู่ซิ่นแห่งประเทศไทย” นั่นเอง”

“รู้ได้อย่างไร” มิตรชาวจีนผู้นั้นแสดงความสนใจใคร่รู้เกี่ยวกับกรณีการเรียก “ศรีบูรพา” โดยเทียบเคียงกับ “หลู่ซิ่น” ซึ่งชาวจีนให้ความนับถือกันสูงส่งในฐานะนักประพันธ์เพื่อประชาชน

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เคยถามชนิด สายประดิษฐ์ก็ได้คำตอบว่า “คงจะใช่” แต่เมื่อได้มีโอกาสพูดคุยกับ “อู๋ตง”ก็ได้คำตอบที่ชัดเจนว่า

เกี่ยวกับคำกล่าวที่ว่า “ไท่กว๋อเตอะหลู่ซิ่น” หรือ “หลู่ซิ่นแห่งประเทศไทย” ที่ประธานเหมาเจ๋อตงพูดนั้นมีที่มาคือ บนหอทวารจัตุรัสเทียนอันเหมินในวันชาติจีน ขณะนั้นเป็นตอนกลางคืน เขาให้แต่หัวหน้าคณะฯ ประเทศต่างๆ ขึ้นไปบนหอชั้นบนเพื่อพบกับประธานเหมาเจ๋อตง ส่วนแขกต่างประเทศอื่นๆ จะนั่งชมดอกไม้ไฟบริเวณบนเชิงเทินชั้นล่างหรือ “ก๋วนลี่ไถ” พอสักประเดี๋ยวคุณสนาน แซ่ลิ้ม หรือ “หลิน ซาหนาน” ซึ่งเป็นล่ามในเวลานั้นได้ลงมาบอกเราด้วยความดีใจว่า “ประธานเหมาเรียกคุณกุหลาบว่า ไท่กว๋อเตอะหลู่ซิ่น เพราะคำพูดทุกอย่างของประธานเหมาในฐานะผู้นำจีนจะต้องมีการบันทึกเอาไว้ และผมก็ได้เห็นการบันทึกนี้แล้ว”

คุณสนานเล่าว่าประธานเหมาเจ๋อตงได้กล่าวไว้มีความว่า

ผมทราบว่าผู้คนเขาว่าคุณเป็น “หลู่ซิ่นแห่งประทศไทย”

(“หว่อทิงต้าเจียซัวหนี่สื้อไท่กว๋อเต๋อหลู่ซิ่น”-ผู้เขียน)

และคุณสนานยังเล่าอีกว่าประธานเหมากล่าวแนะนำ “ศรีบูรพา” ต่อผู้อื่นว่า

ท่านผู้นี้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมไทย (เจ้เกอสื้อไท่กว๋อเหวินฮว่าเจียวหลิวไต้เปี่ยวถวนจ่าง)

เกี่ยวกับกรณีคำกล่าวสำคัญของอดีตผู้นำจีนต่อ “ศรีบูรพา” นี้ เคยมีเพื่อนชาวจีนถามผู้เขียนมากกว่าหนึ่งครั้ง และผู้เขียนก็มักจะนำเอาคำบอกเล่าของ สุชาติ ภูมิบริรักษ์ และ สมบูรณ์ วรพงษ์ ที่อ้างไว้ในหนังสือไปอ้างต่ออีกที เพิ่งมาได้คำตอบล่าสุดที่ชัดเจนเมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๔๗ จาก “อู๋ตง” ผู้ให้ความนับถือ “ศรีบูรพา” ในฐานะ “มิตรที่ดีที่สุด” ผู้หนึ่ง

การสนทนากับมิตรชาวจีนเรื่อง “ข้างหลังภาพ” ในวันนั้นยังไม่จบ ผู้เขียนยังได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมแก่มิตรชาวจีนผู้นั้นไปว่าภาพยนตร์เรื่องนั้นผู้สร้างและกำกับการแสดงคือ เชิด ทรงศรี และหนึ่งในผู้มีบทบาทอยู่เบื้องหลังการขัดเกลาภาษาจากผลงานประพันธ์ของ “ศรีบูรพา” เป็นภาษาจีนอีกผู้หนึ่งนั้นก็คือชาวจีนนาม “เหอสี่หลิง” หรือชื่อไทยว่า “พิศศรี ห่อเพชรพลอย” เจ้าหน้าที่ผู้ประกาศหญิงแห่งภาคภาษาไทยของสถานีวิทยุซีอาร์ไอหรือ China Radio International ปักกิ่ง ซึ่งเป็นสถานีวิทยุนานาชาติของจีนนั่นเอง

นอกจากนั้นผู้เขียนยังเล่าชีวประวัติ “ศรีบูรพา” ไปให้ฟังพอหอมปากหอมคอ เพื่อให้รู้จักนักประพันธ์ของไทยท่านนี้มากขึ้น

ภาพยนตร์เรื่อง “ข้างหลังภาพ” นั้นคลาสสิค เนื้อหามีความเข้าใจมนุษย์ และเต็มไปด้วยความหมายของการเรียกร้องสิทธิมนุษยชน ผิดกับลีลาของ “หลู่ซิ่น” ซึ่งมักจะเต็มไปด้วยการวิพากษ์วิจารณ์สังคมอย่างรุนแรง

มิตรชาวจีนผู้นั้นยังวิพากษ์วิจารณ์เปรียบเทียบผลงานของ “ศรีบูรพา” กับ “หลู่ซิ่น” ต่อไป

“ลองไปหาหนังสือเล่มอื่นของศรีบูรพาที่แปลเป็นภาษาจีนแล้วมาอ่าน เช่น “แลไปข้างหน้า” แล้วคุณอาจเห็นว่ามีลีลาที่แตกต่าง” ผู้เขียนแนะนำ

จากเสียงสะท้อนเกี่ยวกับภาพยนตร์ซึ่งมาจากผลงานของ “ศรีบูรพา” เรื่องหนึ่ง และอีกหลายกระแสจากนักวิชาการต่างชาติที่มักจะหยิบยกจากเรื่อง “ข้างหลังภาพ”ทำให้ผลงานเรื่องนี้เกือบเป็นสัญลักษณ์แทนตัวของ “ศรีบูรพา” ไปแล้ว เพราะอาจไม่มีโอกาสได้ศึกษาผลงานเรื่องอื่นเพิ่มเติมด้วยข้อจำกัดหลายประการในต่างประเทศนั่นเอง

“ศรีบูรพา” และ สุชาติ ภูมิบริรักษ์ ยังอยู่ในกรุงปักกิ่งภายใต้การดูแลของรัฐบาลจีน ไม่ต้องถูกส่งตัวไป เปลี่ยนแปลงความคิด เหมือนชาวจีนส่วนใหญ่ทั้งประเทศ เพราะเป็นแขกเมืองผู้มีเกียรติของรัฐบาลจีน แต่ อู๋ ตง ซึ่งในขณะนั้นเป็นหัวหน้ากองปฏิคมของสมาคมวัฒนธรรมวิเทศสัมพันธ์แห่งประเทศจีนผู้ซึ่งต้องไปใช้แรงงานในชนบทเหมือนปัญญาชนคนอื่นๆ ในประเทศได้เล่าว่า

ผมเองก็ถูกส่งไปใช้แรงงานในชนบท

สุชาติ ภูมิบริรักษ์ เสริมเรื่องนี้ว่า

“ตอนที่คุณอู๋ตงถูกเอาตัวไปใช้แรงงานในชนบทนั้นไม่ได้เจอกับเราเป็นเวลานาน  ศรีบูรพา ถามถึงว่า อู๋ตงเป็นอย่างไรบ้าง เราก็เล่าให้ท่านฟังว่า อู๋ตงถูกจับตัวไปกักขังแล้วเพื่อสอบสวน  ต่อมาระยะหนึ่ง ศรีบูรพาก็ถามถึงอีกว่า ได้ข่าวคุณอู๋ตงไหม ผมบอกว่าไม่ได้ข่าว”

“ศรีบูรพา” ได้พูดถึงความรู้สึกเกี่ยวกับอู๋ตงว่า “เรื่องภายในของจีน ผมไม่รู้ว่าคุณอู๋ตงมีส่วนทำอะไรผิด-ถูกอย่างไร ผมรู้แต่ว่า คุณอู๋ตงเป็นคนดี”

เรื่องนี้ตรงกับข้อเขียนของ “ลิลลี่” ภรรยา สุชาติ ภูมิบริรักษ์ จากบทความเรื่อง เมื่อหลานรำลึกถึงคุณลุงกุหลาบ สายประดิษฐ์ ในหนังสือพิมพ์ สยามรัฐ ฉบับลงวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๗ ที่ว่า

“ในระหว่างนั้นประเทศจีนมีการ “ปฏิวัติวัฒนธรรม”  เพื่อนจีนเก่าๆ ที่สนิทสนมไปมาหาสู่กับท่านต่างก็ถูกเล่นงานตามๆ กัน บ้างก็ถูกกักขัง บ้างก็ถูกส่งไป “รับการศึกษา” ในชนบท  คุณลุงกุหลาบเป็นห่วงชะตากรรมเพื่อนจีนเหล่านั้นมาก พบกับพวกเราทีใด ท่านมักจะถามถึงคนนั้นว่าเดี๋ยวนี้เป็นอย่างไร สบายดีหรือเปล่า คนนี้ถูกเขาเล่นงานบ้างไหม เขายังให้ทำงานที่เดิมหรือไม่ เป็นต้น  บุคคลที่ท่านถามถึงมากที่สุดก็คือ คุณชิวจี๋ อธิการบดีมหาวิทยาลัยต่างประเทศปักกิ่ง และคุณ อู๋ตง ในระยะนั้นประเทศจีนสับสนอลหม่านมาก…”

อู๋ ตง ได้ย้อนระลึกเรื่องนี้ในฐานะที่เป็นผู้หนึ่งที่ถูกส่งตัวไป ใช้แรงงาน ในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมในชนบทว่า

“ตอนนั้นพอดีผมต้องไปชนบท เมื่อกลับมาเพื่อรักษาตัว ปรากฏว่ามีอยู่วันหนึ่งมีรถเก๋งยี่ห้อที่ดีที่สุดในจีนเวลานั้นคือรถ “หงฉี” เขาส่งมารับตัวผม เมื่อผมเห็นรถแล้วก็รีบปฏิเสธไปว่า “ผมไม่มีศักดิ์ศรีอะไรที่จะนั่งรถคันนี้ได้ ที่ผมพูดเช่นนั้นก็เพราะว่ารถชนิดนี้ในจีนเวลานั้นเป็นรถประจำตัวสำหรับผู้มีฐานะระดับรัฐมนตรีหรือเทียบเท่ารัฐมนตรีเท่านั้น แต่ตอนนั้นผมยังเป็น “นักโทษ” อยู่  ผู้ที่ไปรับผมเขาตอบว่า “คุณนายกุหลาบบอกให้มารับ”

ในที่สุดเพราะชื่อของคุณชนิด สายประดิษฐ์ ภริยาของศรีบูรพาทำให้ผมยอมไป  แต่ปรากฏว่าเขาส่งผมไปที่ “ป๊าเป่าซาน” ซึ่งเป็นสุสานใหญ่ในกรุงปักกิ่ง ทำให้ผมคิดแว้บว่าศรีบูรพาคงเสียชีวิตแล้ว…

อู๋ ตงเล่าถึงตอนนี้ด้วยน้ำตาคลอเบ้าด้วยความสะเทือนใจ เขาพูดต่อไปว่า

“เมื่อไปถึง ผมก็รีบเอ่ยปากขออภัยศรีบูรพาในขณะรดน้ำศพ และกล่าวกับท่านว่า “ถ้าผมยังทำงานอยู่ จะไม่ทอดทิ้งท่านอย่างนี้”  แล้วเขาก็หันมาพูดกับผู้เขียนว่า คุณกุหลาบจะไม่เสียชีวิต ผมรับรอง…!”

ช่วงชีวิตของ “ศรีบูรพา” ในระหว่างที่นอนพักรักษาตัวอยู่ในประเทศจีนนั้น ชนิด สายประดิษฐ์ ภริยาได้ให้สัมภาษณ์สถานีวิทยุซีอาร์ไอ ปักกิ่ง ภาคภาษาไทยในรายการ “ปั่นจักรยานชมจีน” โดย สุธาทิพย์ โมราลาย เมื่อครั้งที่ “ศรีบูรพา” ได้รับการยกย่องเป็น “บุคคลดีเด่น” จากองค์การยูเนสโก้ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๗ ว่า

“สำหรับตอนที่ศรีบูรพาป่วยในโรงพยาบาลเซียนเหอนั้นได้รับการรักษาเป็นอย่างดี  ตอนนั้นโรงพยาบาลยังไม่ได้สร้างใหม่ ดิฉันยังได้พบท่าน “ปูยี” หรือจักรพรรดิปูยี (“ผู่หยี”-ผู้เขียน) ซึ่งเป็นจักรพรรดิองค์สุดท้ายของจีนที่มารักษาตัวที่นั่นด้วย  ทางจีนก็ให้เกียรติดูแลเป็นอย่างดี ไม่ใช่ว่าตกแท่นแล้วก็ไม่ดูแล ดูถูกเหยียดหยามหรือลงโทษอะไร

“ส่วนท่าน “ปูยี” นั้นก็ไม่ได้อวดอ้างตัวเอง และไม่มีใครมาหา  แต่ทีนี้มีแขกคนหนึ่งมาหาท่าน “ปูยี” เป็นผู้เฒ่าคนหนึ่ง ซึ่งจะต้องเดินผ่านห้องคุณกุหลาบ  ดิฉันเห็นเขาโค้งคำนับแบบจีนเก่า ดิฉันก็แปลกใจ เพราะปัจจุบันไม่มีการแสดงความเคารพแบบนั้นอีกแล้ว ก็เลยถามพยาบาลว่าใคร ได้รับคำตอบว่า “จักรพรรดิองค์ที่แล้ว” ทางจีนเอื้ออารีมากที่ดูแลเป็นอย่างดี

“เราเคยอยู่ด้วยกันระยะหนึ่ง และกลางคืนเราก็ไปดูภาพยนตร์ด้วยกัน มีห้องฉายหนัง และที่นั้นมีผู้ป่วยชาวต่างประเทศจำนวนหนึ่งไปนั่งรวมๆ กัน  พอในหนังมีเรื่องเกี่ยวกับพวกเจ้าที่ดินถูกลงโทษดิฉันก็ชำเลืองดูว่า “ท่านปูยี” จะรู้สึกอย่างไร ก็เห็นท่านหัวเราะไม่ได้ทำตัวผิดปกติแต่อย่างใด  ทำให้ระลึกถึงเหมาเจ๋อตง ระลึกถึงความเอาใจใส่ และความอบอุ่นจากผู้นำจีนที่รักจีน และรักประชาชนจีน  ดิฉันเองก็เคยได้พบท่านประธานเหมาเจ๋อตง และอดีตนายกรัฐมนตรีโจวเอินไหล  ได้จับมือกันอย่างดี อบอุ่น สองท่านจับสองมือ รู้สึกเป็นมิตร…”

ช่วงชีวิตของ “ศรีบุรพา” ในไทยนั้นได้มีผู้ศึกษาไว้เป็นจำนวนมากไม่น้อยกว่าในฐานะที่ “ศรีบูรพา” ได้รับการยกย่องจากสังคมในวงกว้าง แต่ช่วงชีวิตในจีนของศรีบูรพายาวนานจนเสียชีวิตนั้น “ศรีบูรพา” ได้ทิ้งไว้เพียงผลงานอมตะแทนร่าง ทั้งที่ช่วงก่อนเขาเดินทางไปสัมผัสผืนแผ่นดินจีนตามคำเชิญในฐานะหัวหน้าคณะ ส่งเสริมวัฒนธรรมไทย พร้อมด้วยสมาชิกกลุ่มหนึ่งในเวลานั้น ได้ตกเป็นข่าวครึกโครมในหน้าหนังสือพิมพ์ของไทย และเป็นที่จับตามองจากทุกฝ่าย ทั้งเจ้าหน้าที่บ้านเมือง นักหนังสือพิมพ์และประชาชนจนถึงกับมีมวลชนกลุ่มใหญ่ที่เดินทางไปส่งเพื่อให้กำลังใจแก่คณะส่งเสริมวัฒนธรรมไทยที่สนามบินดอนเมือง ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า ส่งผลให้คณะนักเดินทางกลุ่มนี้สามารถเดินทางติดปีกแห่งเสรีภาพออกนอกประเทศได้อย่างปลอดภัย  พลังมวลชนนี้ใครก็มองข้ามไม่ได้ว่า สามารถยับยั้งการจับกุมหรือปฏิบัติการรุนแรงซึ่งอาจเกิดขึ้นจากความหวาดระแวงของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองบางส่วนที่สอดแนมอยู่ที่สนามบินไทยในเวลานั้นได้

และแล้วในที่สุด คณะส่งเสริมวัฒนธรรมไทย รวม ๑๒ ชีวิต ก็ได้ก้าวพ้นจากเขตแคว้นแผ่นดินบ้านเกิดเมืองนอนไปยังอีกเขตประเทศที่เคยมีความสัมพันธ์ฉันพี่น้องมายาวนานในประวัติศาสตร์ ดังเช่นที่ คณะทูตใต้ดิน คณะต่างๆ (ไปกันอย่างลับๆ) คณะผู้แทนส่งเสริมไมตรีไทย-จีน ที่นำโดยคุณเทพ โชตินุชิต คณะผู้แทนบาสเกตบอลเหลืองแดงที่นำโดยคุณอดุลย์ ภุมานนท์ คณะผู้แทนกรรมกรที่นำโดยคุณทองย้อย ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา คณะผู้แทนหนังสือพิมพ์ที่นำโดยคุณอิศรา อมันตกุล  และคณะศิลปินไทยที่นำโดยคุณสุวัฒน์ วรดิลก ได้ปฏิบัติมาแล้ว

อู๋ตง ได้ย้อนระลึกเกี่ยวกับสัมผัสแรกที่ไปต้อนรับคณะส่งเสริมวัฒนธรรมไทยที่นำโดย “ศรีบูรพา” ว่า

“สำหรับตอนนั้น ผมยังกลับปักกิ่งไม่ได้ เพราะไปอยู่ชนบท และตอนไปรับคณะของคุณกุหลาบนั้นผมยังไม่ได้เปลี่ยนเสื้อผ้าเลย เพราะผมเพิ่งกลับจากไปทำนา…”

“เป็นนโยบาย “ก้าวกระโดดใหญ่” ของจีน  บรรดาผู้ปฏิบัติงาน (ข้าราชการ-ผู้เขียน) ก็ให้ลงสู่ชนบทไปใช้แรงงาน เพื่อดัดแปลงความคิด” สุชาติ ภูมิบริรักษ์ อธิบายเสริม

อู๋ตงเล่าต่อว่า

“และตอนนั้นที่เขาเรียกตัวผมไปทำหน้าที่ต้อนรับคณะส่งเสริมวัฒนธรรมไทยก็เพราะว่าผมรู้ภาษาไทย และเป็นหัวหน้าแผนกปฏิคมจีน  ตอนนั้นเป็นระยะสถาปนาจีนใหม่ไม่นาน ยังไม่มีคณะไทยมา มีแต่คณะบาสเกตบอลเหลืองแดงของคุณอดุลย์ คณะนักหนังสือพิมพ์ของคุณอิศรา อมันตกุล และคณะศิลปินของคุณสุวัฒน์ วรดิลก เดินทางมาเยือน  ซึ่งตอนนั้นผมก็เป็นหัวหน้าต้อนรับคณะศิลปิน ในคณะยังมีเพ็ญศรี พุ่มชูศรี สุพรรณ บูรณพิมพ์ และคนอื่นๆ อีกกลุ่มใหญ่  นับเป็นคณะศิลปินชุดแรกที่ไปเยือนจีน ซึ่งทางจีนได้เชิญไป…”

อู๋ตงเล่าว่า สำหรับคณะศิลปินไทยนั้น เมื่อคณะเดินทางลงไปถึงกวางโจวได้ไม่นานก็เกิดรัฐประหารขึ้นในประเทศไทย ทำให้กลับประเทศไม่ได้ และต้องตกค้างอยู่จีนเพราะ

“ถ้ากลับก็ต้องถูกจับกันหมด เลยต้องพาไปพักผ่อนที่ “ฉงฮว่า” ซึ่งเป็นบ่อน้ำร้อนในกวางตุ้งอยู่เกือบเดือน  ที่นั่นมีสวนลิ้นจี่ พวกเขาไปเก็บกินกันทุกวัน เพราะอยู่เฉยๆ กลับบ้านไม่ได้  สุดท้ายเมื่อคณะศิลปินร้องขอเดินทางกลับประเทศ ท่านนายกฯ โจว เอินไหล (อดีตนายกรัฐมนตรีจีน-ผู้เขียน) จัดหาเรือเดินสมุทรลำหนึ่งมารับชาวคณะศิลปินไทยส่งกลับประเทศ”

สุชาติ ภูมิบริรักษ์ ได้ทบทวนบรรยากาศสัมผัสแรกในจีนท่ามกลางสภาพการเปลี่ยนแปลงและผกผันทางการเมืองในขณะนั้นว่า

“ตอนเราเข้ามาในประเทศจีนนั้น พอดีเป็นเวลาที่รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนกำลังนำประชาชนทั่วประเทศก้าวกระโดดใหญ่ในด้านการผลิต ทำให้แนวงานด้านอุตสาหกรรม เกษตรกรรม วัฒนธรรม และด้านอื่นๆ เต็มไปด้วยความคึกคัก  โดยเฉพาะการผลิตด้านการเกษตร ถูกผลักดันให้รุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว จนเกิดคอมมูนประชาชนขึ้น ซึ่งเป็นรูปแบบการจัดตั้งทางการเกษตรกรรมแบบใหม่  ในสถานการณ์เช่นนั้น เราก็อยากได้รู้ได้เห็นการเคลื่อนไหวปฏิวัติสังคมนิยม และการสร้างสรรค์สังคมนิยมของเขาบ้าง จึงได้แสดงเจตจำนงต่อทางฝ่ายรับรอง เราไม่รู้หรอกว่านโยบายและกระบวนการเคลื่อนไหวอย่างนี้ถูกหรือผิด เพราะระดับความรู้ความเข้าใจของเราในตอนนั้นไม่สูงพอที่จะวินิจฉัยสถานการณ์ของจีนได้อย่างชัดแจ้ง

“เขาก็จัดให้เราได้ไปเยี่ยมคอมมูนประชาชน โรงงาน วิสาหกิจ ตลอดทั้งองค์การจัดตั้งทางวัฒนธรรมและการศึกษาวิทยาศาสตร์  ฝ่ายจีนไม่เพียงแต่จัดให้เราได้เยี่ยมชมในปักกิ่งเท่านั้น แต่ยังจัดให้เราได้ไปทัศนศึกษาตามมณฑลต่างๆ ทั่วประเทศด้วย

“ศรีบูรพาได้ศึกษาสภาพสังคมจีนด้วยความสนใจอย่างมาก ทุกครั้งที่ท่านออกไปเยี่ยมชม ท่านมักจะติดปัญหาต่างๆ ไปถามด้วยเสมอ และท่านจะจดสิ่งที่น่ารู้ไว้ในสมุดบันทึกของท่านอย่างละเอียด  เมื่อกลับถึงที่พัก ท่านยังทบทวนและเรียบเรียงข้อความในสมุดบันทึกของท่านให้เป็นระเบียบเรียบร้อย หลังจากนั้นท่านก็จะทำความเข้าใจในปัญหาที่รู้เห็นมาตามลำพัง  บางทีก็เรียกผมไปคุยบ้างเพื่อย้ำความเข้าใจในปัญหาที่ยังไม่ชัดแจ้ง  ท่านจะไม่ยอมปล่อยให้ปัญหาที่คลุมเครือผ่านไปเฉยๆ  บางครั้งก็เชิญผู้รู้ทางฝ่ายจีนมาให้คำอรรถาธิบาย  ท่าทีการศึกษาของศรีบูรพาเป็นเช่นนี้แหละ ผู้เคยอยู่ใกล้ชิดกับท่านทุกคนย่อมทราบดี…”

การเดินทางไปเยือนจีนของคณะผู้ปรารถนาที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทย-จีนนั้น นับเป็นความพยายามในระดับประชาชนกับประชาชน เพราะไทย-จีนนอกจากจะสืบสายสัมพันธ์อันดีมายาวนานในประวัติศาสตร์แล้ว ยังสืบสายเลือดกันจนแทบแยกไม่ออกระหว่าง  ดังจะเห็นได้จากทั้งประชาชนและรวมถึงผู้นำไทยจำนวนหนึ่งที่เปิดเผยว่าสืบเชื้อสายมาจากบรรพชนที่มีสายเลือดจีน เช่น พล.ต. ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยเคยเปิดเผยไว้เป็นหลักฐานในข้อเขียนว่า มีเชื้อสายฝ่ายมารดาเป็นชาวจีนสกุล “ลิ้ม” (หรือ หลิน-ผู้เขียน) ซึ่งต่อมาได้เป็นเจ้าจอมมารดาในสมัยรัชกาลที่ ๒ และเป็นชวดของราชสกุล “ปราโมช”

อดีตการเดินทางไปสร้างความสัมพันธ์ทางไมตรีระหว่างไทย-จีนของคณะส่งเสริมวัฒนธรรมไทยที่นำโดย “ศรีบูรพา” จึงนับเป็นก้าวที่สำคัญก้าวหนึ่งซึ่งชนรุ่นหลังไม่ควรลืมเลือน

จากข้อเขียนบางส่วนของ “ช่วย พูลเพิ่ม” ซึ่งได้รวบรวมข้อมูลมาจากโลกหนังสือ ที่มี สุชาติ สวัสดิ์ศรี เป็นบรรณาธิการ และหนังสืออื่นๆ อีกบางเล่มได้กล่าวอ้างถึงชีวิตช่วง ปัจฉิมวัย ของ “ศรีบูรพา”

ปลายปี พ.ศ. ๒๕๐๑ เกิดรัฐประหารโดยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้มีการจับกุมครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง  จึงเป็นยุคมืดทางปัญญา ประชาชนถูกปิดปากปิดตา ศรีบูรพาเล็งเห็นการณ์ข้างหน้าแล้วคงไม่แคล้วถูกจับถ้ากลับเข้ามา จึงขอลี้ภัยการเมืองอยู่ที่จีน มีภารกิจมิได้ว่างเว้น ได้เข้าร่วมประชุมกลุ่มนักประพันธ์เอเชีย-แอฟริกาที่เมืองทัสเคน สหภาพโซเวียต เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๑  เป็นหัวหน้าคณะเข้าร่วมประชุมอภิปรายวิทยาศาสตร์ที่ปักกิ่ง เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๙…”

ช่วย พูลเพิ่ม ยังกล่าวไว้ในข้อเขียนเดียวกันนี้ว่า

และระหว่างที่อยู่จีน “ศรีบูรพา” ได้รายงานเรื่องราวผ่านทางสถานีวิทยุปักกิ่งภาคภาษาไทยเป็นประจำอีกด้วย” ซึ่งเรื่องนี้ได้มีการนำมาอ้างอิงกันกันต่อมาจากนักเขียนไทยอีกหลายครั้งในหนังสือบางเล่ม  ปัจจุบัน “สถานีวิทยุปักกิ่ง” หรือ Beijing Radio ดังกล่าวได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นสถานีวิทยุซีอาร์ไอ หรือ China Radio International  และมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นปากเสียงของรัฐบาลจีนดังคำขวัญของสถานีที่ว่า “เสมือนเป็นสะพานสร้างความรู้ความเข้าใจที่ดีต่อชาวโลก” หรือดังคำขวัญที่ว่า “ให้โลกรู้จักจีน ให้จีนรู้จัก “โลกและให้โลกรู้จักโลก” นั่นเอง

“สถานีวิทยุซีอาร์ไอเป็นหน่วยงานสื่อมวลชนด้านวิทยุนานาชาติซึ่งภาษาไทยเป็นหนึ่งใน ๓๘ ภาษาทั่วโลกเพียงแห่งเดียวของรัฐบาลจีน สังกัดกระทรวงวิทยุโทรทัศน์และภาพยนตร์แห่งชาติจีน  ครั้งเมื่อผู้เขียนเคยทำงานประจำที่สถานีวิทยุดังกล่าวระยะหนึ่ง และได้เคยทดลองสอบถามเรื่องนี้กับเจ้าหน้าที่แห่งสถานีวิทยุซีอาร์ไอรุ่นหลังบางคนก็ได้รับคำตอบว่าไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับศรีบูรพาในยุคก่อนหน้านี้ เพราะมาทำงานภายหลังอีกหลายสิบปี บ้างก็ให้คำตอบว่าไม่ทราบ แต่กลับไปทราบข้อมูลนี้จากเอกสารอ้างอิงในห้องสมุดครั้งไปศึกษาเพิ่มเติมในประเทศไทยซึ่งก็ทำให้เกิดความประหลาดใจ และบ้างก็ให้คำตอบว่า “เป็นเรื่องที่ไม่ได้รับการเปิดเผยอย่างเป็นทางการ”

คำตอบดังกล่าวไม่ใช่เรื่องยากที่จะเข้าใจได้ เพราะบุคลากรไทยบางส่วนที่เคยไปทำงานให้รัฐบาลจีนในยุคก่อนสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตนั้นอาจเรียกได้ว่าเต็มไปด้วยบรรยากาศแห่งความระแวงจนไม่ต้องการเปิดเผยว่าได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับรัฐบาลจีนหรือประเทศจีนแม้แต่น้อย และในทางกลับกัน ฝ่ายจีนก็พยายามปกปิดเรื่องดังกล่าวไว้เพื่อเป็นการป้องกันหรือลดแรงกระทบอันอาจจะเกิดขึ้นต่อผู้นั้นนั่นเอง

อย่างไรก็ตามคำตอบชัดเจนดังกล่าวมาจากปากคำของชนิด สายประดิษฐ์ ภริยาศรีบูรพาใน ซึ่งได้ให้สัมภาษณ์สถานีวิทยุซีอาร์ไอในวันแรกที่ทราบผลว่าองค์การยูเนสโก้ได้ประกาศเกียรติคุณ บุคคลดีเด่นของโลก ให้ “ศรีบูรพา” ผ่านรายการ ปั่นจักรยานชมจีน โดยสุธาทิพย์ โมราลาย มีเนื้อความบางตอนว่า

“คุณกุหลาบก็เคยได้พูดวิทยุปักกิ่งมายังประเทศไทยนะคะ ก็เป็นประสบการณ์ที่ดี”

เรื่องหนึ่งที่ “ศรีบูรพา” นำไปใช้ในรายการวิทยุนอกจากข้อเขียนส่วนตัวบางเรื่องก็คือ การเผยแพร่ผลงานแปลเรื่องแม่ ของ แม็กซิม กอร์กี้ นักเขียนรัสเซีย  ภริยาของศรีบูรพาเล่าว่า “ศรีบูรพา” ใช้เวลาแปลเรื่องนี้ในจีน

ข้อมูลจากผู้ใกล้ชิดอีกคนหนึ่งเล่าว่า “ศรีบูรพาไม่ได้ทำงานประจำ แต่ไปที่นั่นบางวาระ”

และข้อมูลเพิ่มเติมจากบางคนทำให้ทราบว่า เคยมีคนไทยจำนวนหนึ่งก็เคยไปใช้สถานที่หลังไมโครโฟนแห่งนี้ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ประกาศหรืออยู่เบื้องหลังการทำงานภาคภาษาไทยมาก่อน

เรื่องนี้ตรงกับคำกล่าวอ้างของ ส. ศิวรักษ์ นักคิด นักเขียน และผู้ได้รับรางวัลศรีบูรพาผู้หนึ่งซึ่งเคยร่วมยืนยันเรื่องดังกล่าวเอาไว้ว่า

“นักเดินทางไทยที่กลับจากจีนไร้ข่าวคราวของนายกุหลาบ กิจกรรมอย่างเดียวของเขาที่เห็นได้นับจากปี พ.ศ. ๒๕๐๕ เป็นต้นมาก็คือ บทวิทยุที่กระจายเสียงทางสถานีวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย”

คำตอบแห่งความคลุมเครือในเรื่องดังกล่าวย่อมไม่เป็นเรื่องผิดปกติแต่ประการใด เนื่องจากความเคลื่อนไหวเกือบทุกด้านของความสัมพันธ์ไทยและจีนในช่วงเวลาดังกล่าวนั้นล้วนถูกปิดเป็น “ความลับ” ที่ดูเหมือนกลายเป็นเรื่อง “คอขาดบาดตาย” และยากจะนำมากล่าวถึงได้อย่างตรงไปตรงมาตามสภาพสังคมการเมืองดังที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งมีผลทำให้รอยต่อระหว่างช่วงดังกล่าวขาดตอน และไม่อาจปะติดปะต่อได้สนิทสำหรับผู้สนใจใคร่รู้ประวัติความสัมพันธ์ไทย-จีนทุกระยะ

ข้อเขียนของช่วย พูนเพิ่มยังสรุปว่า

“เช้าวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๑๗ ท่านได้ถึงแก่กรรมที่โรงพยาบาลปักกิ่งด้วยโรคปอดบวมและเส้นโลหิตตีบที่หัวใจ จากเมืองไทยไป ๑๖ ปี แล้วก็จากไปอย่างไม่มีวันกลับ สิริรวมอายุได้ ๖๙ ปี ๓ เดือน ๓ วัน  ณ สุสานปาเปาซาน นครปักกิ่งได้มีพิธีไว้อาลัยนักประพันธ์ผู้ซื่อสัตย์ต่อประชาชนเมืองไทยอย่างเกริกเกียรติ  หรีดจากนายกรัฐมนตรีโจวเอินไหล จากท่านปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส และจากผู้นำคนสำคัญของจีนทยอยเข้าไปวางเพื่อคารวะ  สุดอาลัยแต่ญาติสนิทมิตรสหายทางเมืองไทยคงได้แต่ทำบุญกระดูกอุทิศส่วนกุศลให้  เมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ ท่านเคยฝากข้อเขียนไว้อาลัยเป็นอนุสรณ์แก่ใครต่อใคร ถึงคราวท่านบ้างก็ไม่มีโอกาสได้รับการตอบสนอง ท่านจากโลกไปแต่ร่าง ชื่อและผลงานยังอมตะอยู่ เหลือแต่ภรรยาคู่ทุกข์คู่ยาก…”

(บั้นปลายชีวิตของ ภรรยาคู่ทุกข์คู่ยาก ของ “ศรีบูรพา” หรือ ชนิด สายประดิษฐ์ ขณะนี้พำนักอยู่ในประเทศไทย-ผู้เขียน)

น่าเสียดายอย่างยิ่งที่นับจาก “ศรีบูรพา” และคณะนักประพันธ์และนักหนังสือพิมพ์ไทยกลุ่มหนึ่งได้ลี้ภัยการเมืองอยู่ในสาธารณรัฐประชาชนจีน ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๑ เป็นต้นมายาวนานถึง ๑๖ ปี จนกระทั่งเสียชีวิตที่กรุงปักกิ่ง ด้วยวัยที่ยังไม่สมควรจะจากไปในวันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๗ นั้น กลับไม่มีผู้ใดเผยแพร่รายละเอียดช่วงชีวิตบั้นปลายในจีนของ “ศรีบูรพา” เอาไว้เลย นอกจากกระแสข่าวครึกโครมในประเทศไทยเวลานั้นที่ต่างทราบกันดีว่า “ศรีบูรพา” พร้อมคณะนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ไทยไปเยือนจีน และในที่สุด ๑๐ คนในคณะตัดสินใจเด็ดเดี่ยวที่จะเลือกวิถีชีวิตเช่นนั้นเองอย่างสมัครใจ เพราะเหตุผลทางการเมืองระหว่างสองประเทศ

ผลงานนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะสะท้อนให้เห็นช่วงชีวิตปัจฉิมวัยของ “ศรีบูรพา” ในสาธารณรัฐประชาชนจีนจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิตไว้ ด้วยผู้เรียบเรียงเห็นความสำคัญของช่วงชีวิตดังกล่าวของ “ศรีบูรพา” ซึ่งในเวลานั้นมีบทบาทเป็นหัวหน้าคณะส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ที่เดินทางไปเยือนจีน เพราะอาจกล่าวได้ว่าบทบาทดังกล่าวนั้นเป็นอีกย่างก้าวหนึ่งที่สำคัญในการบุกเบิกกรุยทางสานสัมพันธ์ไทย-จีนให้กลับคืนมาสู่สภาพปกติ ดังที่บรรพชนไทยได้ร่วมกันสืบทอดมายาวนาน

ช่วงชีวิตดังกล่าวของ “ศรีบูรพา” จึงนับเป็นช่วงปัจฉิมวัยที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะผูกโยงอยู่กับสภาพความผกผันทางการเมืองของสังคมไทยในเวลานั้น และเกี่ยวข้องอย่างแนบแน่นกับประวัติความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับประเทศจีนในระยะก่อนเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. ๒๕๑๘  เพราะนับวันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับประเทศจีนจะกระชับแน่นแฟ้นและมั่นคงยิ่งขึ้น ทั้งจากสภาพความสัมพันธ์และความร่วมมือด้านต่างๆ อย่างกว้างขวางในปัจจุบัน รวมถึงสภาพการไปมาหาสู่กันระหว่างผู้นำและประชาชนของทั้งสองประเทศ

และในที่สุดเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๙ ไทย-จีนก็ได้มีการลงนามในเอกสารว่าด้วย “ความร่วมมือด้านวัฒนธรรม” อย่างเป็นทางการฉบับแรก ซึ่งมีนัยที่สำคัญมาก ตามมาด้วยเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๐ ก็ได้ร่วมลงนามใน แผนปฏิบัติเกี่ยวกับความร่วมมือทางด้านวัฒนธรรมไทย-จีน ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๔๑-๒๕๔๓ ในปี พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้ร่วมลงนามบันทึกความจำว่าด้วยความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาระหว่างไทยกับจีน ซึ่งเป็นการยกระดับการแลกเปลี่ยนที่มีบทบาทอย่างยิ่งต่อทั้งสองฝ่ายมาจนถึงปัจจุบัน และนำไปสู่การแลกเปลี่ยนทั่วด้านอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์

สังคมไทยและผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายอาจจะลืมเลือนไปแล้วว่า ระหว่างการกรุยทางสานสัมพันธ์ไทย-จีนที่ต้องสะดุดหยุดกึกลงช่วงหนึ่งอย่างที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นนั้น ได้มีคณะนักเคลื่อนไหวทางสังคมในนาม “ทูตใต้ดิน” คณะส่งเสริมไมตรี ไทย-จีน คณะผู้แทนนักกีฬาบาสเกตบอลไทย คณะผู้แทนกรรมกรไทย คณะผู้แทนหนังสือพิมพ์ไทย คณะผู้แทนศิลปินไทยและคณะส่งเสริมวัฒนธรรมไทย ได้ร่วมกันแผ้วถางหนทางที่เต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนามมาสู่เส้นทางแห่งความสำเร็จราบรื่นในวันนี้

และหนึ่งในผู้นั้นก็คือ ศรีบูรพา ซึ่งได้จบชีวิตไปแล้วด้วยอุดมการเต็มหัวใจ เพื่อปรารถนาจะเห็นสังคมไทยสันติสุขซึ่งเป็นความฝันใฝ่ของนักหนังสือพิมพ์และนักประพันธ์สามัญคนหนึ่ง

อย่างไรก็ตามเนื่องจากบัดนี้ “ศรีบูรพา” ได้อำลาจากวงวรรณกรรมไปแล้ว รวมถึงชาวคณะส่งเสริมวัฒนธรรมไทยในอดีตอีกกว่าสิบชีวิตที่เดินทางไปจีนพร้อมเขาต่างก็ได้กลับสู่ไทย ผืนแผ่นดินบ้านเกิดเมืองนอนหมดแล้ว ยังคงเหลือตกค้างอยู่เพียงผู้เดียวคือ “สุชาติ ภูมิบริรักษ์” ซึ่งบัดนี้อยู่ในวัยชรา แต่สุขภาพยังคงแข็งแรง และใช้ชีวิตพำนักอยู่ในประเทศจีนมาเกือบครึ่งศตวรรษภายใต้การดูแลอย่างดีของรัฐบาลจีน  ดังนั้นข้อมูลจากการให้สัมภาษณ์ย้อนรำลึกความทรงจำช่วงร่วมต่อสู้มากับ “ศรีบูรพา” ยาวนานทั้งในไทยและในจีนอีกช่วงหนึ่ง รวมถึงบทสัมภาษณ์ประกอบบางส่วนจากภริยา และผู้ใกล้ชิดบางท่านในบางแง่มุมอาจพอเป็นแนวทางสะท้อนให้เห็นสภาพการเคลื่อนไหวที่สำคัญบางส่วนได้ ถึงแม้จะไม่สามารถฉายภาพได้ทั้งหมด แต่สำหรับผู้สนใจศึกษาเรื่องชีวิตและผลงานของ “ศรีบูรพา” แล้วย่อมดีกว่าจะปล่อยให้ภาพบางภาพที่ยังไม่ชัดเจนนั้นคงไม่ชัดเจนต่อไป  ตลอดระยะเวลาร่วมครึ่งศตวรรษ จนถึง ณ ศักราชแห่งการสานสัมพันธ์ไทย-จีนทางการทูตครบรอบ ๓๐ ปี ในเดือนกรกฎาคม ปี พ.ศ. ๒๕๔๘ นี้

ล้อมกรอบ

มิตรร่วม หลังคาเรือน ศรีบูรพา

“แด่ มิตรร่วมหลังคาเดียวกับ “ศรีบูรพา” : สุชาติ ภูมิบริรักษ์”

นั่นเป็นคำอุทิศที่เขียนด้วยลายมือบรรจงในหนังสือชื่อ “บันทึกอิสรชน” ของ “ศรีบูรพา” ที่ “ชนิด สายประดิษฐ์” ภริยาของ “ศรีบูรพา” เขียนมอบให้แก่ “สุชาติ ภูมิบริรักษ์” มิตรรุ่นน้องของศรีบูรพา

กล่าวได้ว่า สุชาติ ภูมิบริรักษ์ เป็นมิตรร่วมหลังคาเดียวกับ “ศรีบูรพา” มาตั้งแต่ครั้งตกทุกข์ได้ยาก ต้องกิน “ข้าวแดงแกงเนื้อเน่า” และ “ซุกตัวในห้องขังบางขวางอันอับทึบ”  จากคำกล่าวระลึกความทรงจำของ สุชาติ ภูมิบริรักษ์ ในคุกบางขวาง กรณีต้องคดี “กบฏสันติภาพ” หรือ “กบฏ ๑๐ พ.ย.” และต่อมายังได้อยู่ร่วมทุกข์ร่วมสุขใต้ชายคาเดียวกันบนผืนแผ่นดินสาธารณรัฐประชาชนจีนมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๑ จวบจนกระทั่งบั้นปลายของชีวิต “ศรีบูรพา” ณ โรงพยาบาลเซียนเหอ ในปักกิ่ง ซึ่งเป็นที่พำนักสุดท้ายของชีวิต ก่อนจะฝากร่างลง ณ สุสาน “ป๊าเป่าซาน” แล้วคืนอัฐิสู่แผ่นดินไทยอันเป็นที่รัก…

ช่วงชีวิตขณะนั้นนอกจาก “ศรีบูรพา” จะมีครอบครัวอันอบอุ่นคือศรีภรรยา “ชนิด สายประดิษฐ์” และ “สุรพันธ์ สายประดิษฐ์” บุตรชายเป็นคู่คิดอย่างใกล้ชิดแล้ว  ก็ยังมีสหายอื่นๆ ทั้งไทยและจีนจำนวนหนึ่งห้อมล้อมอยู่ด้วย  ในจำนวนนี้ “สุชาติ ภูมิบริรักษ์” รวมอยู่ด้วย เขาเป็นมิตรสนิทที่ “ศรีบูรพา” ได้ให้ความไว้วางใจเสมอมา

หลักฐานที่ดีอย่างหนี่งก่อนเดินทางไปจีนพร้อม สุชาติ ภูมิบริรักษ์ ก็คือ ข้อเขียนของ “ศรีบูรพา” ที่ได้เขียน คำนิยม ให้แก่ “สุชาติ ภูมิบริรักษ์” ในหนังสือชื่อ อีสาน ดินแดนแห่งเลือดและน้ำตา ซึ่งนับเป็นผลงานเด่นเล่มหนึ่งของเขา

ศรีบูรพาได้กล่าวถึง สุชาติ ภูมิบริรักษ์ และหนังสือเล่มดังกล่าวว่า

“ผู้เขียนเรื่อง อีสาน ดินแดนแห่งเลือดและน้ำตา ที่ท่านกำลังอ่านอยู่นี้เป็นนักหนังสือพิมพ์และได้ถูกจับกุมคุมขังในคดีที่ตำรวจในสมัยรัฐบาลจอมพลพิบูลสงครามได้ถือเอาว่าการแสดงความรักสันติภาพและการดำเนินการเรียกร้องสันติภาพ และการสงเคราะห์ประชาชนอีสาน เป็นการประกอบอาชญากรรมอย่างหนึ่ง อันสมควรนำบุคคลผู้ประพฤติเช่นนั้นไปคุมขังไว้ในคุกให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ และไม่ยอมให้มีประกันตัวในระหว่างการดำเนินคดี อันกินเวลายืดยาวแรมปี  ในระหว่างที่ต้องคุมขังเป็นเวลาราวสี่ปีครึ่ง ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ได้เผชิญกับความทุกข์ยากของชีวิตในคุกอย่างเห็นเป็นของธรรมดาและไม่เคยปริปากบ่นถึงความทุกข์ยาก แม้ว่าชีวิตในคุกตะรางจะมิใช่ชีวิตอันผาสุก แต่ก็มิใช่ชีวิตที่ปราศจากคุณค่าอันสูง หากว่ารู้จักใช้  ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เป็นผู้หนึ่งที่ได้ใช้เวลาในคุกให้เป็นประโยชน์แก่การศึกษาสิ่งที่ควรศึกษา และได้รับเอาความทุกข์ยากมาเป็นบทเรียนแก้ไขทรรศนะที่มีต่อชีวิตให้ถูกต้องยิ่งขึ้น และเพิ่มเติมคุณค่าให้แก่ชีวิตยิ่งขึ้น  ด้วยประการฉะนี้สี่ปีครึ่งในคุกตะรางของเขาจึงมิใช่ชีวิตที่ไร้ความหมาย หากเต็มไปด้วยความหมาย

ศรีบูรพายังกล่าวถึงสุชาติ ภูมิบริรักษ์เป็นการปิดท้ายว่า

“ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เป็นชาวอีสานโดยเลือดเนื้อเชื้อไข หลังจากได้รับอิสรภาพในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ด้วยจิตใจที่มุ่งจะรับใช้พี่น้องชาวอีสานของเขา และประชาชนไทยทั่วไป เขาได้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรในจังหวัดชัยภูมิอันเป็นบ้านเกิดของเขาแม้ว่าเขายังจะมิได้รับเลือกตั้งในสมัยการเลือกตั้งเดือนธันวาคม แต่จิตใจที่มุ่งรับใช้พี่น้องชาวอีสานของเขาก็ยังคงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง หนังสือเรื่อง อีสาน ดินแดนแห่งเลือดและน้ำตา เป็นพยานอันหนึ่งที่แสดงถึงความคิดคำนึงและความเห็นอกเห็นใจที่เขามีต่อพี่น้องชาวอีสานของเขาอยู่เป็นนิจ

ยังมีหลักฐานเอกสารจากหนังสือพิมพ์อีกจำนวนหนึ่งในเวลานั้นที่สะท้อนความเป็น “มิตร” ร่วมต่อสู้ในหนทางแห่งสันติภาพระหว่าง “ศรีบูรพา” กับ สุชาติ ภูมิบริรักษ์ นั่นคือกระแสข่าวจากหนังสือพิมพ์ไทยหลายฉบับที่โหมประโคมช่วงที่ทั้งสองท่านและบุคคลร่วม คณะส่งเสริมวัฒนธรรมที่ไปเยือนจีนในระหว่างนั้น

คณะส่งเสริมวัฒนธรรมซึ่งประกอบด้วยนักประพันธ์ นักหนังสือพิมพ์ อาจารย์มหาวิทยาลัย และนักเคลื่อนไหวทางสังคมจำนวน ๑๒ คน ดังนี้

๑. นายกุหลาบ สายประดิษฐ์  นักประพันธ์ หัวหน้าคณะ

๒. นายบรรจบ ชุวานนท์ อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์สยามนิกร รองหัวหน้าคณะ

๓. นายสุชาติ ภูมิบริรักษ์ อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์อิสรภาพ เลขานุการคณะ

๔. นายทองใบ ทองเปาด์ นักหนังสือพิมพ์และนักกฎหมาย สมาชิกคณะ

๕. นางอำพัน ไชยวรศิลป์ (อ. ไชยวรศิลป์) นักประพันธ์ สมาชิกคณะ

๖. นายถวัลย์ วรดิลก นักเขียน สมาชิกคณะ

๗. นายเจือจันทร์ ฐาปโนสถ อาจารย์มหาวิทยาลัยศิลปากร สมาชิกคณะ

๘. นายสมาน คำพิมาน นักหนังสือพิมพ์ สมาชิกคณะ

๙. นายชวน รัตนวราหะ นักเคลื่อนไหวทางสังคม สมาชิกคณะ

๑๐. นายประเวศ บูรณกิจ (เวศ บูรณะ) นักหนังสือและนักเขียน สมาชิกคณะ

๑๑. นายเฉลิม คล้ายนาก นักหนังสือพิมพ์ สมาชิกคณะ

๑๒. นายสุธน นักแปลและนักหนังสือพิมพ์ สมาชิกคณะ

กระแสข่าวที่เกี่ยวข้องกับ สุชาติ ภูมิบริรักษ์ อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ผู้ไปในนามของ

เลขานุการของคณะดังกล่าวนั้นนับว่าเป็นข่าวเกรียวกราวในเวลานั้นไม่น้อยทีเดียว ในฐานะที่เขาเพิ่งมีผลงาน อีสาน ดินแดนแห่งเลือดและน้ำตา  (ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นหนังสือ “ต้องห้าม” เล่มหนึ่ง) เกิดจากปัญญาของจีน แปลจากหนังสือเดอะ วิสดอม ออฟ ไชน่า ขณะอยู่ในคุกบางขวาง และโดยเฉพาะผลงานถัดมาคือ สืบประวัติชาติไทย-น่านเจ้า อาณาจักรของใคร ซึ่งเขียนขึ้นในระหว่างใช้ชีวิตในจีนนั้น ยิ่งสร้างกระแสให้ สุชาติ ภูมิบริรักษ์ เป็นที่กล่าวถึงมากยิ่งขึ้น  และอาจเรียกได้ว่าเป็นช่วงที่ชื่อเสียงของเขาได้รับการกล่าวขวัญถึงมากทั้งในประเทศไทยและในจีน เพราะหนังสือเล่มนี้ได้ปฏิเสธทัศนะที่เขาเห็นว่าผิดพลาดในหนังสือประวัติศาสตร์ไทยสมัยโบราณ โดยเฉพาะสมัย “น่านเจ้า” ซึ่งส่วนมากคัดลอกมาจากหนังสือที่ชาวตะวันตกเขียนไว้ในสมัยล่าเมืองขึ้น

ทราบว่าหนังสือสืบประวัติชาติไทย-น่านเจ้า อาณาจักรของใคร ได้มีผู้แปลเป็นภาษาจีนและกำลังจัดพิมพ์อยู่

จากหนังสือพิมพ์เริงสาร ไม่ระบุนามผู้เขียน ฉบับปีที่ ๙ ฉบับที่ ๒๓๒ ประจำวันที่ ๑-๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้กล่าวถึง สุชาติ ภูมิบริรักษ์ ไว้ว่า

“ไปติดค้างอยู่จีน ตั้งแต่สมัยสฤษดิ์ปฏิวัติปี ๒๕๐๑ พร้อม “ศรีบูรพา” หรือ กุหลาบ สายประดิษฐ์ นั่นคือ สุชาติ ภูมิบริรักษ์ นักหนังสือพิมพ์เก่า ซึ่ง สุวัฒน์ วรดิลก เปิดเผยว่า สุชาติได้ใช้เวลาศึกษาภาษาจีนในเมืองจีนซึ่งคนไทยควรทราบกันอย่างยิ่งคือ “สืบประวัติชาติไทย-น่านเจ้า อาณาจักรของใคร”…”

จากหนังสือพิมพ์สยามรัฐ โดย “กระชุ” ฉบับที่ ๑ ปีที่ ๒๙ วันอาทิตย์ที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๕ รายงานว่า

“”เขาคือผู้ที่เราต้องการ” คือคำนำที่ “สุวัฒน์ วรดิลก” เขียนให้กับ สุชาติ ภูมิบริรักษ์ ผู้เขียนหนังสือ “สืบประวัติชาติไทย น่านเจ้า อาณาจักรของใคร…”

“ผู้เขียนเป็นนักหนังสือพิมพ์คนหนึ่งที่เดินทางไปประเทศจีนในยุคสมัยที่จอมพสฤษดิ์เรืองอำนาจ และก็เลยไม่กลับมา เพราะนักหนังสือพิมพ์ที่ร่วมเดินทางไปด้วยกันครั้งนั้นที่กลับมาถูกย้ายบ้านเข้าไปอยู่ในคุก และผลงานการค้นคว้าก็เกิดหนังสือเล่มนี้ขึ้น…

“ตลอดเวลากว่า ๒๐ ปีที่เขาใช้ชีวิตอยู่บนผืนแผ่นดินใหญ่ของจีน ส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ที่การทำงานรับใช้ประชาชนจีน หากอยู่ที่การทุ่มเทเวลาศึกษาค้นคว้าหาความจริงแท้ทางประวัติศาสตร์ของชนชาติไทย เพื่อแสดงออกซึ่งความรักชาติที่เขามีอยู่เปี่ยมล้น โดยไม่จำเป็นต้องยืนระวังตรงเคารพธงชาติกันกลางถนนหนทาง…”

สุวัฒน์ วรดิลก กล่าวไว้ก่อนที่จะจบคำนำของเขาว่า ผมคงคิดไม่ผิดที่จะกล่าวว่า สุชาติ ภูมิบริรักษ์ คือคนที่เราต้องการ

และจากหนังสือบางกอกรายสัปดาห์ ฉบับที่ ๒๕ ฉบับที่ ๑๒๖๑ ประจำวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้กล่าวถึง สุชาติ ภูมิบริรักษ์ ไว้เกี่ยวกับผลงานที่เขาเขียนจากประเทศจีนแล้วส่งมาพิมพ์ในประเทศไทยจนก่อกระแสตอบรับและวิพากษ์วิจารณ์กันในวงกว้างเวลานั้นว่า

“สืบประวัติชาติไทย น่านเจ้า อาณาจักรของใคร” โดยสุชาติ ภูมิบริรักษ์  ผู้เขียนเป็นนักเขียน นักหนังสือพิมพ์หัวเห็ดที่ต่อสู้ชีวิตมาอย่างโชกโชน ซึ่งสุวัฒน์ วรดิลก เขียนคำนำและแนะนำตัวเขาไว้อย่างแจ่มชัดในหนังสือเล่มนี้และสรุปว่า สุชาติ ภูมิบริรักษ์ คือ คนที่เราต้องการ

“เราเชื่อกันมานานเต็มทีแล้วว่า น่านเจ้าเป็นอาณาจักรของชนชาติไทยแต่โบราณ และ “เบ้งเฮ็ก” คือคนไทย  สุชาติ ภูมิบริรักษ์ไปน่านเจ้ามาด้วยตนเอง สอบหลักฐานมาอย่างแน่แก่ใจ แล้วจึงนำมาเขียน  ในเล่มนี้ประกอบด้วยเรื่อง “น่านเจ้า เป็นอาณาจักรของชนชาติไทยเราหรือ” ไปตรวจสอบหลักฐานประวัติศาสตร์ น่านเจ้า”, “เบ้งเฮ็กไม่ใช่คนไทย, “จูกัดเหลียง (ขงเบ้ง) ไม่ใช่สกุล จูกัด, “ชนชาติไตเผ่าต่างๆ ในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีน”, “ประเพณีการตั้งชื่อของไตลื้อ” เป็นต้น…

“ถ้าคุณถามว่าแล้วรู้อย่างไรว่า สุชาติ ภูมิบริรักษ์ รู้เรื่องนี้ดี เขียนเรื่องนี้ได้ถูกต้อง

“คำตอบมีอยู่ในหนังสือเล่มนี้อีกเช่นกัน เพราะเขาไม่ได้ไปเมืองจีนมาเพียงไม่กี่วัน เขาอยู่เมืองจีนมาแล้วกว่า ๒๐ ปี (นับถึงปัจจุบันเกือบ ๔๗ ปี-ผู้เขียน) และศึกษาประวัติศาสตร์หาหลักฐานต่างๆ มายันข้อเขียนของเขาอย่างละเอียดยิบ…”

จากหลักฐานบนหน้าหนังสือพิมพ์ไทยจำนวนหนึ่งเวลานั้นคงพอแนะนำภาพของนักหนังสือพิมพ์ไทยอีกผู้หนึ่งในยุคนั้นคือ “สุชาติ ภูมิบริรักษ์” ได้ว่า เหตุใดเขาจึงได้รับการคัดเลือกให้ร่วม คณะส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ไปศึกษางานในประเทศจีนภายใต้การนำของศรีบูรพา

หลักฐานที่ดีอีกอย่างหนึ่งเกี่ยวกับความผูกพันระหว่าง สุชาติ ภูมิบริรักษ์ กับ “ศรีบูรพา” ก็คือข้อความในจดหมายล่าสุดถึง สุชาติ ภูมิบริรักษ์ จาก ชนิด สายประดิษฐ์ ภริยาของศรีบูรพาเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๗ ความว่า

“คุณสุชาติที่นับถือ

ขอบคุณมากค่ะที่ร่วมกันภูมิใจในการที่ยูเนสโก้มีมติให้ กุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็น “บุคคลดีเด่น” ขอฝากขอบคุณมายังลิลลี่ด้วย (ภริยาคุณสุชาติ ภูมิบริรักษ์-ผู้เขียน)  ทั้งสุชาติและลิลลี่เป็นผู้ใกล้ชิดกับคุณลุง (หมายถึง “ศรีบูรพา”-ผู้เขียน) มานานปี  โดยเฉพาะคุณสุชาติเคยร่วมกินร่วมอยู่รู้เห็นกันแทบตลอด ๒๔ ชั่วโมงมาตั้งแต่คุกบางขวางเกือบห้าปี ที่จีนอีกหลายปี เป็นผู้พูดได้เต็มปากว่าสมควรหรือไม่  คำของสุชาติ รวมถึงลิลลี่จึงมีน้ำหนักมาก และคุณค่าสูง… อิ๊ด (คุณสุรพันธ์ สายประดิษฐ์ บุตรชาย “ศรีบูรพา”-ผู้เขียน) ฝากขอบคุณมาด้วยค่ะ

นับถือและรำลึกเสมอ

ชนิด สายประดิษฐ์”

ประโยคของ ชนิด สายประดิษฐ์ ที่ว่า “คุณสุชาติเคยร่วมกินร่วมอยู่รู้เห็นกันแทบตลอด ๒๔ ชั่วโมงมาตั้งแต่คุกบางขวางเกือบห้าปี ที่จีนอีกหลายปี…” จึงน่าจะเป็นหลักฐานที่อาจกล่าวได้ว่าข้อมูลจากคำให้สัมภาษณ์ของ สุชาติ ภูมิบริรักษ์ เกี่ยวกับ “ช่วงชีวิตในจีน” ของ “ศรีบูรพา” รวมถึงช่วงชีวิตในไทยบางส่วน ครั้งเคยร่วมวงการหนังสือพิมพ์ ร่วมเป็นผู้ต้องหาในคดี “กบฏสันติภาพ” อยู่ในคุกบางขวางด้วยกัน และช่วงชีวิตก่อนตัดสินใจไปจีนในวาระเดียวกันของ “ศรีบูรพา” ผ่านมุมมองของสุชาติ รวมถึงสภาพการเมืองไทยและสภาพความสัมพันธ์ไทย-จีนในยุคนั้น นอกเหนือจากเพื่อศึกษาผลงานประพันธ์ต่างๆ จำนวนหนึ่งที่ “ศรีบูรพา” ได้ฝากไว้ในบรรณพิภพแล้ว ยังเพื่อประกอบการทำความรู้จักกับชีวิตอีกแง่มุมหนึ่งของนักเขียนตามคำกล่าวที่ว่าการอ่านที่สมบูรณ์แบบต้องรู้จักผู้ประพันธ์ด้วยนั่นเอง

ชีวิตของ “ศรีบูรพา” หลายแง่มุม เคยได้รับการเผยแพร่มาบ้างแล้วไม่น้อยทั้งในหนังสือและบทความที่เขียนแนะนำเชิดชูหรือยกย่อง “ศรีบูรพา” ในโอกาสต่างๆ จากนักเขียนหรือผู้ใกล้ชิดบางส่วนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ  หากแต่ “ช่วงชีวิตในจีน” ร่วม ๑๖ ปีจวบจนลมหายใจสุดท้ายของชีวิต “ศรีบูรพา” นั้นกลับดูเหมือนจะเลือนรางห่างเหินจากการรับรู้ของผู้อ่านชาวไทยมานาน แม้กระทั่งผู้ใกล้ชิดบางท่านก็ยังไม่ได้รับทราบข่าวคราวหรือชะตากรรมของ “ศรีบูรพา” อีกหลังจากเดินทางเข้าสู่ผืนแผ่นดินสาธารณรัฐประชาชนจีนแล้ว ด้วยปัญหา “ระยะห่าง”ระหว่างสองผืนแผ่นดินคือประเทศไทยกับประเทศจีน ซึ่งหากนับเป็นจำนวนกิโลเมตรก็อาจไม่กี่ชั่วโมงบิน แต่ด้วยเงื่อนไขทางสังคมและการเมืองในช่วงเวลาที่ “ศรีบูรพา” พำนักอยู่ในจีนระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๑ ถึง พ.ศ. ๒๕๑๗ นั้น ทำให้ดูเหมือน “ศรีบูรพา” จะอยู่ห่างไกลจากประเทศบ้านเกิดเมืองนอนเสียเหลือเกิน…

เนื่องในวาระการเฉลิมฉลองรำลึกครบรอบ ๑๐๐ ปีศรีบูรพา ผู้เขียนจึงเห็นสมควรเผยแพร่ข้อเขียนเรื่อง ช่วงชีวิตในจีนของ “ศรีบูรพา” ผ่านการบอกกล่าวเรื่องราวย้อนรำลึกความทรงจำจากอดีตร่วม ๕๐ ปีหรือครึ่งศตวรรษในจีนของ “สุชาติ ภูมิบริรักษ์” อดีตนักหนังสือพิมพ์บรรณาธิการ นักเขียน และผู้เชี่ยวชาญอาวุโส นิตยสารภาพจีน (China Pictorial) ของกรมการพิมพ์ภาษาต่างประเทศแห่งชาติจีน ซึ่งได้เดินทางไปจีนในนามของ คณะส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ภายใต้การนำของ “ศรีบูรพา” และได้ใช้ชีวิตในสาธารณรัฐประชาชนจีนชนิด ร่วมหลังคาเดียวกับศรีบูรพา ในฐานะมิตรสนิทจวบจนศรีบูรพาอำลาบรรณพิภพและจวบจนกระทั่งทุกวันนี้

สุชาติ ภูมิบริรักษ์ ปัจจุบันอายุ ๗๗ ปี เกิดเมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๐ ที่จังหวัดชัยภูมิ  เคยเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์อิสรภาพ มีผลงานแปลเด่นๆ หลายเรื่อง ทั้งเรื่องยาว เรื่องสั้นที่ฝากไว้ในแผ่นดินจีน เช่น “หมิงกูเหนียง” “คลื่นลมวันวิวาห์” “รังว่าง” “ชุมนุมนิทานชนชาติไตยูนาน” เป็นต้น  นอกจากนี้ยังมีอีกมากมายหลายเรื่องที่สุชาติ ภูมิบริรักษ์เป็นบรรณาธิการ เช่น “ชุมนุมเรื่องสั้นของหลู่ซิ่น” “ศึกซังกำเลียง” “หวนระลึกการเดินทัพทางไกล” “สงครามฝิ่น” “การปฏิวัติซินไฮ่” “ขบวนการอี้เหอถวน เกาอี้เป่า” และอื่นๆ

หนังสือเล่มนี้จึงเป็นเพียงการรำลึกความทรงจำผ่านการบอกเล่าเรื่องราวสดๆ และผ่านการทบทวนข้อมูลส่วนหนึ่งจากสมุดบันทึกหลายเล่มที่เคยได้รับการบันทึกไว้ในช่วงที่ สุชาติ ภูมิบริรักษ์ เดินเคียงคู่กับ “ศรีบูรพา” ครั้งที่ท่านยังมีชีวิต  และยังมีบางมุมมองเสริมจากผู้ใกล้ชิดที่สุดในจีนคือภริยา และผู้รู้จัก “ศรีบูรพา” อีกบางท่านประกอบเท่านั้น ไม่ได้เป็นข้อมูลทางวิชาการใดๆ

สุชาติ ภูมิบริรักษ์ เคยกล่าวเอาไว้เกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูล “ช่วงชีวิตในจีน” ร่วม ๕๐ ปีของเขาที่ทำให้มีโอกาสได้ ร่วมหลังคาเดียว กับศรีบูรพาในสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าเป็นเรื่องที่ใช้เวลาทบทวนยาวนานอย่างรอบคอบ และในที่สุดก็ได้ตัดสินใจเปิดเผยความจริงเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ

“เคยมีศาสตราจารย์ชาวจีนสองท่านมาคุยกับผม บอกว่าคุณสุชาติควรจะเขียนระลึกความทรงจำในการเยือนจีนเพราะศรีบูรพาไม่อยู่แล้ว  ก็ไม่มีคนเขียน ประวัติความสัมพันธ์ไทย-จีนช่วงนี้จะเริ่มขาดหายไปเฉยๆ  ฉะนั้นถ้าคุณเขียนออกมา ช่องว่างตอนนี้ก็จะเต็มบริบูรณ์ หมายความว่าให้ผมเติม “ช่องว่าง” ให้เต็มสำหรับความสัมพันธ์ระหว่าง จีน-ไทย

ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อมูลบางส่วนจากการสัมภาษณ์ ข้อมูลเอกสาร ข้อมูลหนังสือ และข้อมูลประกอบจากผู้ชิดใกล้ที่สุดของ “ศรีบูรพา” ในบทความนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับการศึกษาชีวิตและผลงานของ “ศรีบูรพา”  โดยเฉพาะอย่างยิ่งสะท้อนบางแง่มุมของประวัติศาสตร์บางช่วงที่ขาดหายไปบนเส้นทางระหว่างรอยเชื่อมต่อด้านการสานสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับประเทศจีน เพื่อเติม ช่องว่าง บางส่วนให้เต็มสำหรับประกอบการศึกษาประวัติศาสตร์บางหน้าที่ยังไม่เคยมีใครนำมาเปิดเผย  ดังที่ในระหว่างการให้สัมภาษณ์นั้น สุชาติ ภูมิบริรักษ์ มักจะกล่าวเอาอยู่เสมอว่า

“ผมเคยคิดว่าเมื่อผมตายแล้วถึงจะให้เปิดเผยข้อมูลบางอย่างและบันทึกบางเล่ม เพราะบางสิ่งบางอย่างสถานการณ์ยังไม่ยอมให้เปิดเผยออกไป!”

นับวันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและประเทศจีนจะมีความกระชับแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นตามกาลเวลา รวมถึงความสัมพันธ์ด้านการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือต่างๆ ในวงกว้าง และการไปมาหาสู่กันระหว่างผู้นำของทั้งสองประเทศ อันเป็นช่วงที่กล่าวได้ว่าสะท้อนความสัมพันธ์ที่เจริญงอกงามที่สุดช่วงหนึ่งเท่าที่ได้สืบทอดมายาวนานจากอดีตของประชาชนทั้งสองประเทศ ซึ่งในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ นี้ก็จะเวียนมาบรรจบครบวาระการเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-จีนอย่างเป็นทางการครบรอบ ๓๐ ปี โดยผู้นำทั้งสองประเทศกำลังดำเนินการจัดงานเฉลิมฉลองครั้งยิ่งใหญ่กว่าที่ผ่านมา

ประกอบกับวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ นี้ตรงกับวาระครบรอบวันเกิด ๑๐๐ ปีของศรีบูรพา และเพื่อเป็นการแสดงคารวะอาลัยและเชิดชูผลงานของนักประพันธ์ไทยผู้มีบทบาทเป็นผู้หนึ่งที่ร่วมกรุยทางความสัมพันธ์ไทย-จีนอยู่เบื้องหลัง ยังเป็นแบบอย่างการใช้ชีวิตที่ดีงามและรังสรรค์ผลงานอันทรงคุณค่าไว้ประดับวรรณกรรมไทยจนได้รับการยกย่องในวงกว้าง  สมดังที่ เนาวรัตน์ พงศ์ไพบูลย์ ผู้ได้ชื่อว่าเป็น กวีรัตนโกสินทร์ ของไทยได้รจนาบทประพันธ์มอบแด่ ศรีบูรพา เอาไว้ว่า

“เป็นศรีแห่งบูรพทิศ

เป็นเข็มทิศชี้ทิศอันคงที่

เป็นความจริงความงามความดี

เป็นศักดิ์เป็นศรีบูรพา”

ผู้เขียนจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า บทความนี้จะเป็นอีกหนทางหนึ่งในการศึกษาด้านความสัมพันธ์ไทย-จีนในช่วงระยะเวลาครึ่งศตวรรษนี้ และเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการศึกษาชีวิต แนวคิด และผลงานของนักประพันธ์ไทยนาม กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ “ศรีบูรพา” ที่สังคมและโลกยกย่องให้เป็น บุคคลดีเด่นของโลก เพื่อให้ชนรุ่นหลังได้ใช้ประกอบการศึกษาต่อไป

ชามา

มหาวิทยาลัยปักกิ่ง

๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘