รุ่งวิทย์ สุวรรณอภิชน

ช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา (พ.ศ. ๒๕๔๗) ผู้เขียนและภรรยามาพักอยู่กับลูกสาวซึ่งทำงานอยู่ที่ออสเตรเลีย จึงถือโอกาสแวะเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ที่ “ศรีบูรพา” เคยมาใช้ชีวิตที่นี่ อาทิ เมืองเมลเบิร์น เมืองซิดนีย์ เมืองอะดิเลด ฯลฯ โดยเฉพาะที่เมืองอะดิเลด (Adelaide) ซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐเซ้าท์ออสเตรเลีย  “ศรีบูรพา” เรียกชื่อเมืองนี้ว่า แอ็ดเล่ย์  เคยแสดงปาฐกถาเล่าว่า คนออสเตรเลียได้ริเริ่มร่วมมือกันสร้างเมืองๆ หนึ่งขึ้นในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ โดยที่รัฐบาลไม่ได้มีส่วนริเริ่มด้วยเลย (รายละเอียดอยู่ในปาฐกถา ชีวิตแบบออสเตรเลีย ของ กุหลาบ สายประดิษฐ์  ภายหลังได้ถอดความนำมาพิมพ์ในภาคแรกของหนังสือข้าพเจ้าได้เห็นมา)  เมืองที่ว่านี้ หมายถึงเมืองนูริอุทปา (Nuriootpa) เป็นเมืองเล็กๆ ตั้งอยู่ในหุบเขาบารอสซา (Barossa valley) อยู่ห่างจากเมืองอะดิเลด ๔๓ ไมล์ (ประมาณ ๖๙ กิโลเมตร) ซึ่งตั้งอยู่บนแม่น้ำพารา(Para River) เป็นศูนย์กลางการพาณิชย์ของหุบเขาบารอสซา ซึ่งเป็นแหล่งผลิตไวน์ที่รู้จักกันดีที่สุดในออสเตรเลีย

เมืองงามที่พลเมืองสร้างกันเอง

กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ “ศรีบูรพา” ได้เรียบเรียงเรื่องราวของ เมืองนูริอุทปา อย่างน่าอ่านและน่าสนในบทความชื่อ “เมืองงามที่พลเมืองสร้างกันเอง” เป็นบทความสั้นๆ หนาประมาณ ๑ ยก (๑๖-๑๗ หน้า) พิมพ์อยู่ในภาคแรกของหนังสือข้าพเจ้าได้เห็นมา (อยู่ในหน้า ๑๘๔-๒๐๐ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๔ โดยสำนักพิมพ์เกวียนทอง เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐) โดยมีเนื้อหาที่น่าสนใจ ดังนี้

เมืองที่กล่าวนี้เป็นเมืองเล็กๆ ประกอบด้วยพลเมืองเพียง ๑,๕๐๐ คน ชื่อนูริอุทปา (เป็นชื่อของชาวพื้นเมือง) ตั้งอยู่ในหุบเขารอสซาอันเป็นที่อุดม อยู่ห่างจากนครหลวงแอ็ดเล่ย์แห่งรัฐเซ้าท์ออสเตรเลีย ๔๓ ไมล์  พลเมืองนูริอุทปาได้ช่วยกันสร้างสูตรแห่งความสำเร็จ ในการดำเนินชีวิตในประชาคม ผู้คนจากทั้งไกลและใกล้ได้พากันมาเยือนนูริอุทปาเพื่อศึกษาถึงการครองชีพอันปรีชาของคนพวกนั้น  ในบรรดาผู้มาเยือนนั้น มีทั้งศาสตราจารย์ นักศึกษาสังคมวิทยา เศรษฐศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ตลอดจนพวกรัฐมนตรีและบุคคลชั้นหัวหน้าของเมืองต่างๆ ที่มีขนาดใกล้เคียงกับนูริอุทปา คนเหล่านั้นต่างก็มีความสนใจในความเป็นอยู่อย่างผาสุกง่ายๆ ในบ้านเรือนและร้านรวงของประชาชนที่นั่น

ในเมืองนูริอุทปานั้นไม่มีใครตั้งตัวเป็นใหญ่กว่าใคร และก็ไม่มีนักพูดผีปากคมที่คอยพูดยกย่องบ้านเมืองของตัว  ผู้ที่ไปเยือนนูริอุทปานั่นเองที่กลับไปเป็นผู้เผยแพร่แบบวิธีของความบากบั่นแห่งประชาคมนูริอุทปา  ไม่มีวันใดที่ผ่านไปโดยไม่มีจดหมายจากภาคต่างๆ ของประเทศมีมาไต่ถามและขอทราบโครงการดำเนินงานของประชาคมนี้  และเมื่อเร็วๆ นี้ถึงกับมีจดหมายไต่ถามมาจากต่างประเทศ ด้วยประจักษ์กันว่านูริอุทปามีส่วนช่วยอุ้มชูประชาคมที่เสื่อมโทรมและอ่อนกำลัง

เมื่อผู้ที่ติดตามศึกษาได้บรรลุถึงแก่นของโครงการก่อสร้างเมืองนูริอุทปาแล้ว ก็จะเห็นได้ว่าหลักการที่เรียนรู้มานั้นเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ  หลักการนั้นมีอยู่ดังนี้ ให้ราษฎรชาวเมืองสลัดความเฉื่อยชาออกทิ้งเสีย ถกแขนเสื้อขึ้น แล้วต่างคนยอมสละเวลาส่วนหนึ่งให้แก่กิจการของประชาคมด้วยความกระตือรือร้นสนใจจริงจัง  ศีลข้อสำคัญข้อเดียวของสมาชิกแห่งประชาคมก็คือ การสละเวลาส่วนหนึ่งทำงานร่วมกัน เพื่อบรรลุผลอันไม่เป็นส่วนได้โดยตรงเฉพาะตัวบุคคล  ศีลข้อนี้จะอบรมสร้างสรรค์จิตใจใหม่ให้แก่มวลมนุษย์

ข้อความจริงข้อนี้เท่านั้นเป็นเครื่องไขความลับแห่งความสำเร็จของเมืองนูริอุทปา  นูริอุทปาเป็นเมืองศูนย์กลางแห่งหนึ่งของหุบเขาแห่งไร่องุ่น ซึ่งผลิตเหล้าองุ่นอันโอชารสที่สุดของ ออสเตรเลีย  ดูเพียงผิวเผินก็คล้ายคลึงกับเมืองงามน่าอยู่ เช่นเมืองอื่นๆ ในบริเวณหุบเขาแห่งเดียวกัน นอกจากโรงแรมอันทันสมัยอันเป็นสมบัติของส่วนรวมซึ่งเป็นเครื่องหมายชัดแจ้งของความเจริญก้าวหน้า ส่วนคุณลักษณะอื่นๆ ในกิจการของประชาคม มิใช่สิ่งอันจะมองเห็นได้โดยทันที

อย่างไรก็ดีผู้ที่ไปเยี่ยมเมืองนี้จะสังเกตเห็นความแตกต่างของผู้คนที่นี่กับที่อื่นๆ ได้ ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง  บรรยากาศของเมืองนูริอุทปาเต็มไปด้วยความคิดนานาชนิดและงานการ  ชาวเมืองกระปรี้กระเปร่าและแจ่มใส สำแดงถึงชีวิตที่ประสบความสำเร็จและผาสุก แต่ก็ไม่มีวี่แววแห่งความทะนงตนเลย ที่ถนนใหญ่ ตามร้านรวงและที่ซาลูนบาร์ห้องเล็กๆ ของโรงแรมที่ชาวเมืองเป็นเจ้าของร่วมกัน อันเรียกว่า มุมสำหรับมิตรสหาย เป็นแหล่งชุมนุมอภิปรายอย่างกันเอง ถึงโครงการที่จะจัดสร้างสถานชุมนุมพบปะ, สร้างห้องพักผ่อนหย่อนใจใหม่ๆ ขึ้นอีก สร้างที่ทำการสาธารณสุขเพิ่มเติม สร้างห้องสมุดใหม่, สร้างที่เล่นสำหรับเด็กๆ และโครงการอื่นใดในจำนวนโครงการร่วมโหลที่มีพร้อมอยู่แล้ว  การชุมนุมอภิปรายเหล่านี้ได้มาแทนที่การสุมหัวคุยกันถึงเรื่องของคนนั้นคนนี้ อันเป็นแบบวิธีเก่าคร่ำประจำท้องถิ่น

ดูเหมือนว่าทุกคนในเมืองนั้นมีส่วนในกิจกรรมของประชาคมอย่างน้อยที่สุดก็หนึ่งอย่าง  โครงการต่างๆ ก็นำออกปรึกษาหารือกันอย่างไม่มีพิธีรีตอง แต่ไม่เคยปรากฏว่าการปรึกษาหารือเหล่านี้เป็นการพูดกันอย่างน้ำท่วมทุ่งเรื่อยเจื่อย และจบลงโดยไม่มีการนำพาต่อไป  เพราะว่าชุมนุมน้อยของเขาได้นำเอาความอุตสาหะจริงจังของส่วนรวมมาประกอบกับโครงการด้วย และพร้อมจะลงมือทำให้ลุล่วงไปตามที่ได้มั่นหมายไว้

ในจำนวนพลเมือง ๑,๕๐๐ คน ประมาณ ๑ ใน ๓ มีส่วนร่วมในการทำงานให้แก่ส่วนรวม  เมืองนี้ไม่เคยโอ้อวดถึงหอประชุมเทศบาลนครที่เมืองใหญ่ๆ มีกัน  แต่ที่ด้านหลังของห้างขายยาของอาเธอร์เรอสมีห้องสะอาดสบายเล็กๆ ห้องหนึ่ง มีไฟช่วงโชติอยู่ในเตาผิงเป็นประจำ มีแผนผังของท้องที่และแบบแปลนของสถาปนิกติดไว้ที่ผนัง เป็นห้องที่ใช้ทำการแทนหอประชุม

ไม่ว่าเป็นเวลาใด กลางวันหรือกลางคืน จะได้พบคนหมู่หนึ่งในห้องนี้เสมอ  คนเหล่านี้มีอาเธอร์เรอส นักคิด นักฝัน ผู้ทำงานอย่างไม่มีเวลาหยุดพัก และไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย  เขาเป็นความจรรโลงใจของเมือง  ต่อจากอาเธอร์เรอส มีหมอฮูปแมน ผู้ให้เวลาว่างเยี่ยมไข้แก่งานของประชาคมอย่างมากมายเหลือเชื่อ  นอกจากนั้น มีชาลีเมนผู้จัดการโรงงาน เคลี่นายช่างโทรศัพท์และหมอโกลส์ผู้ร่าเริง และบางทีมีชาวนาสามีภรรยาร่วมอยู่ด้วยอีกคู่หนึ่ง หรือคนงานอีกคนหนึ่ง

ในห้องเล็กหลังห้างขายยานี้เอง โครงการส่วนมากเพื่อความเจริญก้าวหน้าของเมืองได้ปรากฏเป็นรูปร่างออกมารับการปฏิบัติ  ชาวเมืองที่ผ่านมามักจะแวะเข้าไปร่วมการอภิปรายด้วย  แต่ความเข้มแข็งที่อยู่เบื้องหลังนั่นเอง บันดาลให้กิจการต่างๆ ลุล่วงไปได้

อาเธอร์เรอสใช้เวลาแทบทุกคืน เข้าประชุมในคณะกรรมการต่างๆ รวมทั้งหมด ๕๐ คณะ  หมอฮูปแมนเป็นกรรมการ ๑๖ คณะ  เมื่อก่อนสงคราม นูริอุทปาก็เหมือนกับเมืองเล็กๆ แห่งอื่น คือมีความวิตกถึงเรื่องหนุ่มสาวจะพากันเข้าไปอยู่ในกรุงเสียส่วนมาก ชาวเมืองจึงปรึกษากันว่า “เราจงมาร่วมมือกันสร้างเมืองๆ นี้เถอะ ให้มีทั้งความสะดวกสบายน่าอยู่อย่างเมืองหลวง และให้มีทั้งส่วนที่มีคุณค่าของความเป็นชุมนุมน้อยๆ ด้วย จงมาช่วยสร้างเมืองให้เป็นที่ซึ่งคนหนุ่มสาวไม่อยากจะจากไป”

แล้วชาวเมืองพวกนั้นก็กะแผนการณ์กันอย่างอาจหาญ  เขาศึกษาโครงการก่อสร้างประชาคมของอังกฤษ อเมริกาและประเทศอื่นๆ ที่เขาคิดว่าจะมีบทเรียนให้เขาได้เรียนเสียก่อน  เขาไม่ยอมทำลายเวลาให้เสียไปด้วยการตั้งต้นโดยการเสี่ยง  โครงการก่อสร้างประชาคม ต้องมีหลักศูนย์กลางให้เป็นที่ยึดเหนี่ยวของความเจริญที่จะติดตามมา  ชาวเมืองนูริอุทปาได้ทราบถึงการจัดตั้งโรงแรมของประชาคม ซึ่งปรากฏอยู่ตามภาคต่างๆ ของออสเตรเลีย  ฉะนั้นโดยไม่สนใจต้อจำนวนพลเมืองซึ่งมีอยู่เพียง ๑,๕๐๐ คน ผู้เริ่มการได้ตัดสินใจทันทีว่าจะสร้างโรงแรมขึ้น

วิธีการหาเงินในการสร้างโรงแรมนั้น เป็นวิธีการปรกติที่แสดงถึงความบากบั่นแน่วแน่ของชาวเมืองวิธีหนึ่ง  เขาซื้อสิทธิในการเช่าโรงแรมเก่าๆ โรงแรมหนึ่งในจำนวนสอง แล้วก่อสร้างแต่งเติมให้เป็นโรงแรมทันสมัย ให้ชื่อว่า Vine Inn เป็นโรงแรมที่งดงามน่าอยู่อย่างยิ่ง ราคาค่าที่พักรวมทั้งอาหารอย่างดีเลิศ วันละ ๑๒ ชิลลิง ๖ เพนนี (๒๐ บาทตามอัตราแลกเปลี่ยนทางการ)  ในห้องพักมีทั้งท่อน้ำร้อนและน้ำเย็น และยังเตรียมการจะจัดให้มีสถานที่ดื่มเบียร์ในสวนเพื่อการรื่นรมย์พิเศษของผู้มาพักอีกด้วย

เท่าที่จัดทำมาแล้ว ได้ใช้เงินลงทุนไป ๒๐,๐๐๐ ปอนด์ (๖๕๐,๐๐๐ บาท)  เขาเริ่มทำการหาเงินด้วยการนำโรงแรมออกจำนอง ได้เงินมา ๕,๐๐๐ ปอนด์ และได้กู้เงินจากบิลโคลธาร์ด ชายชราซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้อุปการะในการสร้างเมืองนี้อีก ๖,๐๐๐ ปอนด์  ต่อมาเขานำความคิดและโครงการออกชี้แจงแก่ราษฎรในท้องถิ่น ขอความร่วมมือในทางการเงินด้วยออกใบหุ้นกู้และอื่นๆ  เขาชักชวนนักธุระกิจในนครหลวงและนายช่างรับเหมาก่อสร้างของท้องถิ่นเข้าร่วมทุน โดยจะนำผลกำไรจากการดำเนินงานของโรงแรม จ่ายคืนให้ในภายหลัง

เขาตั้งคณะอำนวยการขึ้นคณะหนึ่งเป็นผู้ดำเนินกิจการของโรงแรม Vine Inn  คณะอำนวยการประกอบด้วยเจ้าหน้าที่แผนกสินค้า หมอยา, คนเลี้ยงปศุสัตว์, หมอฟัน, ช่างทำอิฐ ชาวสวนและชาวนา  ชาวเมืองผู้ประสงค์จะมีสิทธิออกเสียงในการดำเนินกิจการ ต้องเสียเงินคนละ ๑ ชิลลิง (๑.๕๐บาท)

ชาวเมืองนูริอุทปามีความภูมิใจในโรงแรมของเขามาก  บัดนี้โรงแรมนี้เลี้ยงตัวเองได้อย่างเป็นที่พอใจ  เป็นทุนทรัพย์ที่หารายได้ผลประโยชน์ให้แก่ประชาคม นำมาจับจ่ายใช้สอยในกิจการอื่นๆ ได้ทั่วไป  ปัจจุบันนี้พลเมืองของนูริอุทปาดำเนินงานตามโครงการที่วาดไว้อย่างเพริศพริ้งด้วยความมั่นใจ  เขานำผลกำไรส่วนหนึ่งของโรงแรมจัดซื้อรถสำหรับพานักท่องเที่ยวไปชมภูมิภาพรอบเมืองได้ถึง ๓๔ คัน และใช้รับส่งเด็กจากไร่ไปโรงเรียน

โรงแรม “ไวน์อินน์” จึงกลายเป็นสถานย่านกลางแห่งหนึ่ง เป็นที่นัดพบปะของกรรมการต่างๆ เป็นที่ชุมนุมอภิปรายปัญหา และเป็นที่ดำเนินงานสาธารณกิจ  กล่าวให้ถูกต้องก็คือ เป็นศูนย์กลางการดำเนินงามตามโครงการก่อสร้างประชาคม

รายได้จากการที่นักท่องเที่ยวมาพักผ่อนในเมืองนี้สูงทัดเทียมกับรายได้จากการขายเครื่องดื่ม  ในปีที่แล้วตัวเลขแสดงผลกำไรของแผนกเครื่องดื่มเป็นเงิน ๓,๙๕๑ ปอนด์  ในขณะที่ผลกำไรจากการเช่าห้องพักเป็นเงิน ๓,๑๙๕ ปอนด์  เงินกำไรทั้งสองแผนกนี้ได้นำไปจับจ่ายในการก่อสร้างความเจริญให้แก่ประชาคมทั้งหมด  เมื่อมีการประกาศขายห้างขายของที่ใหญ่ที่สุดในเมือง คณะกรรมการดำเนินงานได้รับซื้อไว้ และจัดให้เป็นที่ทำการค้าแบบ สหกรณ์  ผลกำไรจากการดำเนินงานนั้น ก็ได้นำมาเพิ่มทุนประชาคมอีกทางหนึ่ง

ณ ชายเมืองนูริอุทปา มีสนามกีฬา มีรูปยาวรีพร้อมด้วยอัฒจันทร์คอนกรีต ซึ่งลงทุนในการก่อสร้าง เป็นเงิน ๒๐,๐๐๐ ปอนด์  ถัดไปเป็นสนามเท็นนิส, สนามเด็ก, สโมสร, สนามเล่น bowls และยังมีสวนพฤกษชาติประดับประดาเรียงรายด้วยก้อนหินใหญ่น้อยตามทางคดเคี้ยว ขนาบด้วยต้นไม้สองข้างทาง  ความสำเร็จในการสร้างสรรค์สถานที่พักผ่อนบันเทิงใจเหล่านี้ ได้ลุล่วงไปด้วยการใช้มือเปล่าๆ ของประชาชนชาวเมืองนูริอุทปาทั้งนั้น

เป็นเวลาหลายเดือนที่ “ฝูงผึ้งที่ขยันขันแข็ง ผู้เป็นชีวิตจิตใจของเมืองได้ตื่นขึ้นแต่เวลาเช้ามืด ๕ นาฬิกา อุทิศแรงงานของเขาให้แก่การสร้างสนามกีฬา จนกระทั่งถึงเวลาต้องไปประกอบงานอาชีพประจำวัน  แพทย์ทางยา แพทย์ทางฟัน, คนขนของ, ผู้จัดการโรงงาน และเจ้าของสถานพยาบาลส่วนตัว ได้รับอาสาขับรถยนต์ออกไปยังเทือกเขาสกัดหินเพื่อนำมาใช้ทำถนน ประดับสวน และเพื่อประโยชน์อื่นๆ ชาวเมืองฝูงผึ้งของนูริอุทปาจะกลับมาทำงานของส่วนรวมนี้อีกครั้งหนึ่งในตอนเย็นและทำเรื่อยไปจนเที่ยงคืน  มีอยู่ระยะหนึ่งที่เขาทำงานกันตลอดคืน อาเธอร์ เมย์วอลด์ ตาเฒ่าช่างทำรองเท้า เป็นผู้จัดการสร้างสวนและได้เป็นผู้ดูแลอยู่ที่นั่นตราบแต่นั้นมา

ไม่ควรเป็นที่ประหลาดใจเลย เมื่อเราได้รับบอกเล่าว่า เมืองน้อยเมืองนี้ไม่มีการแบ่งชั้นของบุคคลอย่างสิ้นเชิง  ด้วยคนทุกประเภททุกอาชีพได้มาทำงานออกแรงร่วมกันหมด  ต่างได้มีส่วนร่วมมือในการนำความสำเร็จมาสู่ประชาคมด้วยน้ำพักน้ำแรงของตนเอง  ด้วยเหตุนี้ มิตรภาพอันแน่นแฟ้นระหว่างชาวเมืองจึงเป็นลักษณะที่เด่นในชาวเมืองนูริอุทปา

บิลโคลธาร์ด ผู้เฒ่าผู้ให้ความอุปการะในทางเงินและได้สมญาว่าเป็น “บิดา” ของเมืองนูริอุทปา กล่าวแก่ผู้อพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งใหม่ว่า “สิ่งแรกที่ท่านจะต้องเรียนในเมืองนี้ และเมื่อเรียนแล้วท่านก็จะได้ความรู้ว่า ไม่มีใครสูงกว่าใคร แล้วท่านก็จะอยู่เป็นสุขสำราญที่นี่”

งานใหญ่ที่เป็นสักขีพยานความบากบั่นมานะยอดเยี่ยมของชาวเมืองนี้ ได้กำเนิดขึ้นในตอนกลางของเวลาระหว่างสงครามในปี ค.ศ. ๑๙๔๓ ชาวเมืองได้ตกลงสร้างหมู่บ้านในสวนรุกขชาติอย่างถูกต้องตามแบบแผนที่ดียิ่ง เพื่อเป็นอนุสาวรีย์ที่ยั่งยืนและเติบโตจำเริญได้แก่ผู้ที่เสียชีวิตในระหว่างสงคราม  การสร้างบ้านก่ออิฐแบบทันสมัยของหมู่บ้านนี้ จะได้จัดสร้างขึ้นอีกทางฝั่งหนึ่งของแม่น้ำพาราตัดกับเส้นขอบฟ้ารอบนอกดงต้นยูคาลิปตัสอันเก่าแก่    เมื่อการสร้างเสร็จครบถ้วนตามแผนการแล้ว ก็จะได้เห็นกันอย่างแจ่มแจ้งว่า เมืองในความฝันอันบริบูรณ์ด้วยสิ่งอำนวยความสุขและความก้าวหน้าทางวัฒนธรรมอันจะพึงหาได้แต่ในเมืองใหญ่ๆ นั้น ได้มีอยู่ครบครันในชุมนุมน้อยของเมืองนูริอุทปา  ตามฝั่งลำธารคดเคี้ยว จะมีสระน้ำขนาดมาตรฐานของโอลิมปิก, มีโรงเรียนอนุบาลและที่เด็กเล่น มีสุขศาลาสำหรับเด็ก มีสโมสร มีสถานที่ชุมนุมของบรรดาผู้ประกอบอาชีพทางใช้ฝีมือ มีโรงละครกลางแจ้ง มีบ้านพักสำหรับคนหนุ่มสาวและโรงพยาบาลของประชาคม ที่ตั้งของสถานที่เหล่านี้ได้กำหนดเลือกสรรกันไว้แล้ว  สระว่ายน้ำนั้นก็ได้แปรรูปจากแผนผังปรากฏเป็นสระจริงๆ ขึ้นมาแล้ว  โรงเรียนอนุบาลกำลังดำเนินงานเข้าสู่ร่องรอยตามที่กำหนดไว้

คนงานผู้ขยันขันแข็งของนูริอุทปาได้ลงมือทำงานตามแผนการของเขาสำเร็จไปแล้วมากอย่าง  เขาเหล่านั้นจะได้ส่วนแบ่งที่ดินโดยการให้เปล่าหรือโดยการซื้อด้วยราคาถูกๆ จากโคลธาร์ดและจากคนอื่นๆ ด้วยการอาสาสมัครของชาวเมืองช่วยทำงานให้แก่ประชาคม ค่าใช้จ่ายในการสร้างสระว่ายน้ำลดลงได้ถึงหนึ่งในสาม

เขาทำงานกันทั้งตอนเช้าและตอนกลางคืน ตลอดจนในวันปลายสัปดาห์  เขาขับรถออกไปทำงานร่วมกัน  ภายใต้แสงไฟสว่างจ้าจากโคมไฟใหญ่ เขาขุดดิน ขับเกวียน วางท่อและก่อหิน  เด็กๆ ตามโรงเรียนก็ได้รับคำปลุกใจส่งเสริมจากบิดามารดาให้เข้าร่วมทำงานตามแต่กำลังของเด็ก  ฉะนั้นเด็กนูริอุทปาจึงได้รับบทเรียนของการทำงานเพื่อประชาคมของเขาแต่ยังเยาว์วัย

บรรดาผู้ที่ได้ไปเห็นคนเหล่านี้ทำงานเพื่อแปลความฝันออกไปเป็นความจริงแล้ว จะรู้สึกได้ว่า การที่เพียงแต่จะคัดลอกแบบอย่างของคนเหล่านี้ไปอย่างสวยหรูเท่านั้น ไม่มีวันจะสร้างเมืองอันสวยงามขึ้นมาได้  ชาวเมืองนูริอุทปาได้รับสิ่งที่เขาปรารถนา ก็โดยที่เขาไม่คอยให้ใครมาทำให้เขา  เขาลงมือทำทุกสิ่งทุกอย่างของเขาเอง

ความสนใจในความเจริญของประชาคมภายนอกทำให้เมืองนูริอุทปาก้าวหน้าในงานที่เกี่ยวกับการบริบาลทารก  เขาไม่ได้คอยให้สร้างตึกเสร็จเสียก่อนจึงจะลงมือเอาใจใส่กับเด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาล  มีนางพยาบาลผู้ชำนาญทำการตรวจสุขภาพของเด็กโดยใช้หออนุสาวรีย์  มีครูผู้ได้รับการฝึกฝนสำหรับเด็กเล็กจัดดำเนินงานโรงเรียนอนุบาลที่มีเครื่องมือครบถ้วนทันสมัยที่ห้องโถงของวิหารแห่งหนึ่ง  และในเวลาไม่นานเขาก็จะย้ายสำนักเด็กเล็กเหล่านี้ไปสู่ตึกที่สร้างเสร็จใหม่ๆ

บทเรียนที่ตรึงใจบทหนึ่งซึ่งบรรดาผู้มาเยี่ยมนูริอุทปาจะได้ประจักษ์ก็คือ ความสัมพันธ์ของชาวเมืองในงานของคณะกรรมการ ในงานของส่วนรวมในการอภิปรายและแลกเปลี่ยนความเห็น ตลอดจนในการติดต่อกับบุคคลภายนอกนั้น เป็นปัจจัยใหญ่หลวงในการยกจิตใจของประชาคม

คณะบริหารแห่งมหาวิทยาลัยแอ็ดเล่ย์ได้ให้ความสนับสนุนความก้าวหน้าของเมืองนี้โดยส่งเจ้าหน้าที่ทางการศึกษามาประจำ ช่วยดำเนินการศึกษาของผู้ใหญ่ และสนับสนุนการชุมนุมอภิปรายปัญหาต่างๆ ตลอดจนการดนตรีและละคร

บรรดาผู้ที่ได้ไปเยี่ยมและสนทนากับชาวเมืองจะรู้สึกได้ว่า ความก้าวหน้าของอารยธรรมเกิดจากความเป็นอยู่ของส่วนรวมเอง  ชุมนุมน้อยของเมืองนูริอุทปาในรัฐออสเตรเลียใต้เป็นตัวอย่างอันน่าสนใจศึกษา  ด้วยตัวอย่างนี้ได้ชี้ให้เห็นข้อความจริงง่ายๆ ว่า วิถีชีวิตตามแบบแผนใหม่สามารถบรรลุได้ด้วยความอุตสาหะบากบั่นของประชาชนชายหญิงสามัญ

ข้อความทั้งหมดของบทความ “เมืองงามที่พลเมืองสร้างกันเอง” ได้ประทับใจผู้เขียนมานานกว่า ๓๐ ปี (มีโอกาสอ่านครั้งแรกที่กุฏิพระมหาอังคาร โชติปาโล ราว พ.ศ. ๒๕๑๕-๑๖ ที่วัดบุรณศิริมาตยาราม กรุงเทพฯ)  แม้เคยเขียนบทความเกี่ยวกับ “ศรีบูรพา” มากกว่า ๑๐ เรื่อง แต่ยังไม่มีโอกาสได้เขียนบทความช่วงที่ “ศรีบูรพา” ใช้ชีวิตในประเทศออสเตรเลียเลย เพราะยังไม่มีข้อมูลเพียงพอ ประกอบกับผู้เขียนได้เขียนจดหมายถึง สุชาติ สวัสดิ์ศรี เกี่ยวกับ “การฉลองวาระ ๑๐๐ ปีชาตกาล “ศรีบูรพา” (ตีพิมพ์ในหนังสือเนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ ๑๒-๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๗) ได้แสดงความตั้งใจว่าจะเรียบเรียงเรื่องราวของ “ศรีบูรพา” ในแง่มุมใหม่ที่ยังไม่มีใครเขียนถึงอย่างน้อยสองชิ้น  เป็นบทความเกี่ยวกับ “ศรีบูรพา” ที่เมืองไทยและในต่างประเทศอย่างที่เคยเขียนเมื่อ ๓๐ ปีก่อน (พ.ศ. ๒๕๑๗)  ดังนั้นเมื่อผู้เขียนและภรรยามีโอกาสมาพำนักที่ออสเตรเลียช่วงระยะหนึ่ง (๒๐วัน) ตามคำชวนของลูกสาวซึ่งทำงาน ณ ประเทศนี้ จึงได้โอกาสเหมาะได้ตระเวณตามสถานที่ต่างๆ ที่ “ศรีบูรพา” หรือกุหลาบ สายประดิษฐ์ได้กล่าวถึงในหนังสือข้าพเจ้าได้เห็นมา

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้คือที่มาของบทความ “นูริอุทปา (Nuriootpa): เมืองงามเอื้ออาทรในมุมมอง”ศรีบูรพา”” ที่ผู้เขียนตั้งใจเรียบเรียงให้กับหนังสือ ๑๐๐ ปี กุหลาบ สายประดิษฐ์” (ตามที่ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ได้มีจดหมายถึงผู้เขียนเมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๔๗)

แผนที่เมืองแอดิเลดและหุบเขาบารอสซา

เหินฟ้าสู่อะดิเลด

เช้ามืดของวันที่ ๑๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๗  ผู้เขียนเตรียมตัวไปสนามบินเมลเบิร์น เพื่อเดินทางไปเมืองอะดิเลดโดยสายการบิน Vergin Blue

เมืองอะดิเลด (Adelaide) เป็นเมืองหลวงและเมืองสำคัญที่สุดของรัฐออสเตรเลียใต้ (South Australia)  เป็นเมืองที่มีศิลปวัฒนธรรมเฉพาะตัวด้วยบรรยากาศแบบเมืองในแถบยุโรปมากกว่าเมืองอื่นๆ ในออสเตรเลีย  นับเป็นเมืองใหญ่อันดับที่ ๕ ของออสเตรเลีย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำทอร์เรนส์ (Torrens) มีประชากรอยู่อาศัยประมาณ ๑ ล้านคนเศษ  เมืองอะดิเลดขึ้นชื่อในการปลูกองุ่นทำไวน์  ดังนั้นรอบๆ เมืองอะดิเลดจึงเป็นไร่องุ่นแหล่งผลิตไวน์คุณภาพของออสเตรเลีย  โดยเฉพาะไวน์ที่ผลิตจากหุบเขาบารอสซา ซึ่งอยู่ห่างจากอะดิเลดไปทางเหนือราว ๕๐ กิโลเมตร  เป็นแหล่งผลิตไวน์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของออสเตรเลียไม่แพ้ฮันเตอร์วัลเลย์ในรัฐนิวเซาท์เวลส์ เมืองสำคัญของหุบเขาบารอสซาก็คือ เมืองนูริอุทปา ที่ “ศรีบูรพา” ชื่นชมและประทับใจเป็นพิเศษ อันเป็นที่มาของบทความ “เมืองงามที่พลเมืองสร้างกันเอง”  และกล่าวย้ำอีกในปาฐกถา “ชีวิตแบบออสเตรเลีย” นั่นเอง

อะดิเลดเป็นเมืองที่มีการวางผังเมืองอย่างดีเยี่ยม โดยนักบุกเบิกชื่อ Colonel Light (พ.ศ. ๒๓๒๙-๒๓๘๒)  ดังนั้นจึงมีอนุสรณ์สถานของเขาเป็นเสาหินอ่อนอยู่ที่ Light Square  เนื่องจากเมืองนี้มีแม่น้ำทอร์เรนส์ไหลผ่านกลางเมืองและมีสวนสาธารณะหลายแห่ง ทำให้เมืองอะดิเลดมีบรรยากาศร่มรื่นทั้งเมือง  ถนนตรงกลางเมืองตัดเป็นบล็อกเหลี่ยมเท่าๆ กัน  ศูนย์กลางของเมืองอะเดเลดอยู่ที่ถนนคิงวิลเลียม (King William) และวิกตอเรียสแควส์ (Victoria Square)  อย่างไรก็ตามถนนสำคัญที่สุดซึ่งถือเป็นหัวใจของอะดิเลด ก็คือ นอร์ทเทอเรซ (North Terrace) ซึ่งเป็นที่ตั้งของอาคารสำคัญต่างๆ ของเมือง อาทิ อะดิเลดโบตานิกการ์เด้น (Adelaide Botanic Garden), อาร์ตแกลเลอรี่ (Art Gallery of South Australia), พิพิธภัณฑ์ออสเตรเลียใต้ (South Australian Museum), Parliament House, Ayersี House ฯลฯ

โดยเฉพาะ Ayers House ท่านผู้อ่านหลายคนอาจจะงงหรือไม่คุ้นกับชื่อนี้  ความจริงชื่อของเขาได้รับเกียรตินำไปตั้งชื่อหิน Ayers Rock หรือ Uluru (อูลูรู) ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในออสเตรเลีย (อยู่ในเขตนอร์เทิร์นเทอริทอรี-Northern Territory)  หลายท่านอาจจะนึกออก เพราะในหนังสือท่องเที่ยวของออสเตรเลียเกือบทุกเล่มมักลงรูปก้อนหินใหญ่ที่สุดในโลกสีน้ำตาลแดง (ความจริงสีหินจะเปลี่ยนสีไปตามแสงอาทิตย์สวยจนมองดูได้ทั้งวันอย่างไม่รู้เบื่อ) ซึ่งผุดขึ้นกลางที่ราบกว้างไกลสุดสายตา รู้จักกันในนาม อูลูรู หรือแอเยอร์สร็อค เป็นหินศักดิ์สิทธิ์ของชาวอะบอริจิน อยู่ในอุทยานแห่งชาติอูลูรู-คาตา จูตา (Uluru-Kata Tjuta)  อุทยานแห่งนี้ได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลกทางด้านธรรมชาติในปี ค.ศ.๑๙๘๗ และทางด้านวัฒนธรรมในปี พ.ศ. ๒๕๓๐  คำว่า “อูลูรู” เป็นภาษาของชาวอะบอริจิน แปลว่า ที่นัดพบ  ก้อนหินมหึมานี้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของเผ่าอนานกู (Anangu)  อย่างไรก็ตามชาวอนานกูได้รับเงินช่วยเหลือปีละ ๗๐๐,๐๐๐ ดอลลาร์ โดยมีเงื่อนไขว่าอนุญาตให้นักท่องเที่ยวสามารถปีนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ได้ เพราะเป็นกิจกรรมสำคัญที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวมาเยือนที่นี้  แต่ก็มีนักปีนเขามากกว่า ๑๐ คนเสียชีวิตที่นี่ และทุกๆ ๒-๓ วันจะต้องมีการออกไปช่วยชีวิตคน (ต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก)  นักท่องเที่ยวบางคนเก็บหินก้อนสองก้อนไปเป็นที่ระลึก แต่ก็ต้องรีบส่งคืนเพราะตั้งแต่เอาหินที่อูลูรูไปมักประสบแต่เรื่องไม่ดีเกิดขึ้นกับตน

น่าเสียดายวันที่ผู้เขียนไปเยือน Ayers House ที่ถนนนอร์ทเทอเรซนั้น ไม่สามารถเข้าชมได้เพราะทางเจ้าหน้าที่ได้ปิดไปแล้ว เนื่องจากผู้เขียนและคณะกลับจากนูริอุทปาเข้าเมืองอะดิเลดเกือบห้าโมงเย็น  Ayersี House เป็นบ้านของ เฮนรี แอเยอร์ส (Henry Ayers) ผู้วางแผนจะเป็นผู้นำแห่งรัฐออสเตรเลียใต้ให้ได้ถึงเจ็ดสมัย ชื่อของเขาถูกนำไปตั้งเป็นชื่อแอเยอร์สร็อค และบ้านหลังนี้กลายเป็นพิพิธัณฑ์มีชีวิตและร้านอาหาร โดยได้รับการคุ้มครองจากเนชั่นแนล ทรัสต์ ( National Trust) ที่นี่ท่านสามารถดูเอกสารเกี่ยวกับประวัติเมืองอะดิเลดได้

ขับรถไปหุบเขาบารอสซา

เครื่องบินจากเมลเบิร์นไปถึงอะดิเลดใช้เวลาประมาณ ๕๐ นาที  เมื่อถึงสนามบินอะดิเลดต้องปรับนาฬิกากันใหม่ เพราะเวลาที่อะดิเลดช้ากว่าที่เมลเบิร์นครึ่งชั่วโมง  สนามบินอะดิเลดอยู่ห่างจากตัวเมืองราว ๗ กิโลเมตร  ผู้เขียนได้ติดต่อรถเช่าตั้งแต่อยู่ที่เมลเบิร์น ดังนั้นเมื่อมาถึงเมืองอะดิเลด จึงติดต่อเคาน์เตอร์บริษัทเช่ารถที่สนามบินและรับรถได้เลย

การขับรถเที่ยวเองในออสเตรเลียเป็นเรื่องง่ายและสะดวกสบายมากสำหรับคนที่ขับรถเป็นและพูดภาษาอังกฤษได้  ออสเตรเลียขับรถทางซ้ายเหมือนเมืองไทย  ผู้ขับรถจะต้องมีใบขับขี่หรือใบขับขี่สากล (สามารถขอยื่นคำร้องได้ที่กรมขนส่งทางบกชั้น ๒ อาคาร ๔ ค่าธรรมเนียม ๕๐๕ บาท สามารถรอรับได้ในวันเดียว)  ผู้ขับขี่และผู้โดยสารต้องคาดเข็มขัดนิรภัยตลอดเวลาขณะอยู่ในรถ ขับรถในอัตราความเร็วที่กำหนด (ดูจากป้ายข้างทาง) ในเขตชุมชน ๕๐-๖๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง เขตทางหลวง ๙๐-๑๑๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ผู้เขียนได้ขับรถออกจากสนามบินอะดิเลด ไปเส้นทาง A๒๐ (Major Highway) จนกระทั่งถึงสามแยกเลี้ยวขวาไปตามเส้นทาง B๑๙ (Main Road) เข้าสู่เมืองนูริอุทปา อันเป็นศูนย์กลางพาณิชยกรรมของหุบเขาบารอสซา รวมเป็นระยะประมาณ ๗๔ กิโลเมตร

หุบเขาบารอสซาอยู่ทางเหนือของเมืองอะดิเลดราว ๖๙ กิโลเมตร ( ๔๓ไมล์) เป็นแหล่งผลิตไวน์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของออสเตรเลียมานานกว่า ๑๐๐ ปี  หุบเขานี้ยาว ๓๐ กิโลเมตรอยู่ในท้องทุ่งข้าวสาลี มีต้นองุ่นขึ้นเรียงรายเป็นแถวๆ ต่อกันไปหลายพันเฮดตาร์ ทำให้ชื่อ หุบเขาบารอสซาอยู่ในระดับต้นๆ ของรายชื่อไวน์ชั้นดีทั่วโลกอย่างที่ “ศรีบูรพา” ได้เล่าว่า “นูริอุทปาเป็นเมืองศูนย์กลางแห่งหนึ่งของหุบเขาแห่งไร่องุ่น ซึ่งผลิตเหล้าองุ่นอันโอชารสที่สุดของ ออสเตรเลีย”  ทุกวันนี้ใครที่มาเยือนเมืองอะดิเลด จะต้องมีโปรแกรมไปทัวร์หุบเขาบารอสซาทุกรายเพราะเป็น Highlights tour ของเมืองนี้

อย่างที่ได้กล่าวมาแล้วว่า หุบเขาบารอสซาเป็นแหล่งผลิตไวน์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของออสเตรเลีย  นอกจากนั้นยังเป็นย่านที่มีผู้ผลิตไวน์มากที่สุดของประเทศด้วย  มีผู้ผลิตมากกว่า ๕๐ แห่ง  ส่วนใหญ่จะเปิดให้เข้าชมการผลิตไวน์และชิมไวน์จนกลายเป็นงานเทศกาลสำคัญอีกงานหนึ่งของรัฐออสเตรเลียใต้ นั่นคืองาน Barossa Valley Vintage Festival (งานเทศกาลไวน์ที่หุบเขาบารอสซา)  เทศกาลนี้จัดขึ้นทุกปีที่ลงท้ายด้วยเลขคี่ (เช่นปี พ.ศ. ๒๔๔๖ และ

ค.ศ. ๒๕๔๘)  สลับกับงานเทศกาลศิลปะของเมืองอะดิเลด (Adelaide Arts Festival) ซึ่งจัดขึ้นในปีเลขคู่ (เช่นปี พ.ศ. ๒๕๔๕ และ พ.ศ. ๒๕๔๗)  ไวน์จากหุบเขาบารอสซาขึ้นชื่อว่าคุณภาพดี ราคาไม่แพง โดยเฉพาะไวน์แดงที่มีส่วนผสมองุ่นพันธุ์ Merlot  ส่วนไวน์ขาวที่มีชื่อคือ Chadonnay และ Semillon  ไวน์ดีมีหลายตระกูล อาทิ Jacobีs Creek, Orlando, Penfold ฯลฯ มักได้รับรางวัลชนะเลิศระดับโลกเกือบทุกปี

หุบเขาบารอสซาเป็นชุมชนดั้งเดิมของผู้อพยพจากเยอรมนีในรุ่นแรก ดังนั้นบ้านเรือนและอาคารต่างๆ ในแถบนี้จึงเป็นอาคารเก่าที่สวยงามด้วยสถาปัตยกรรมสไตล์เยอรมัน  ไร่องุ่นและโรงผลิตไวน์บางแห่งเปิดชาโต (Chateaux) เป็นภัตตาคารที่พักแรมประเภทเกสต์เฮ้าส์และรีสอร์ต  เมืองต่างๆ ในหุบเขาบารอสซาได้แก่ เมืองนูริอุทปา, เมืองทานันดา (Tanunda), เมืองอันกัสตัน (Angaston) และเมืองลินด็อค (Lyndoch)

ผู้ผลิตไวน์ที่มีชื่อในบารอสซาได้แก่ Chateaux Yaldara, Seppelts, Yalumba ฯลฯ  ช่วงเวลาเก็บเกี่ยวองุ่น คือ เดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม  ท่านที่สนใจสามารถร่วมทัวร์เพื่อชิมไวน์ตามไร่องุ่นต่างๆ ได้กับบริษัททัวร์จากอะดิเลด มีกิจกรรมที่น่าสนใจก็คือ การขึ้นบอลลูนชมวิวไร่องุ่น

เดินสัมผัสนูริอุทปา

เมืองนูริอุทปาที่ “ศรีบูรพา” ยกย่องว่า “เมืองงามที่พลเมืองสร้างกันเอง” นั้น ปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๔๗) เป็นศูนย์กลางพาณิชย์ และเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในหุบเขาบารอสซา (ตามข้อมูลในหนังสือ The Four Towns of the Barossa Valley เขียนโดย Helen Oliver นักเขียนสตรีชาวนิวซีแลนด์ ปัจจุบันโอนสัญชาติเป็นชาวออสเตรเลีย มีงานเขียนหลายเล่ม อาทิ Walking Tours of Adelaide, The Barossa Valley : A Human Tapestry Culinary Herbs ฯลฯ)

โรงแรม Vine Inn ในเมืองนูริอุทปา

เมืองนูริอุทปาอยู่ห่างจากเมืองอะดิเลดไปทางเหนือ ๗๔ กิโลเมตร ตั้งอยู่บนแม่น้ำพาราเหนือ (North Para River)  ตามประวัติมีชาวเยอรมันนิกายลูเทอร์รัน (Lutheran) มาตั้งรกรากในบริเวณแถบนี้นานกว่า ๑๐๐ ปี  ดังนั้นเราจะพบโบสถ์เก่านิกายลูเทอร์รันที่คงความงามโดยตลอด  โบสถ์สำคัญคือ โบสถ์ลังเมล (Langmeil)  นอกจากนั้นยังมีสถานที่และอาคารสวยๆ หลายแห่ง เช่น ป่าปาล์มที่เซพเพลท์สฟิลด์ (Seppeltsfield) อาคารสองชั้นสร้างด้วยหินอ่อนสีน้ำเงินที่ยาลัมบา (Yalumba) สร้างในปี พ.ศ. ๒๔๑๐ (ตามคำยืนยันโดยลูกชายของ Joseph Sepprlt ที่ Benno ในปี พ.ศ. ๒๔๒๑) นอกจากนั้นมีกระท่อมแบบคลาสลิกหลายหลังในหมู่บ้านเล็กๆ แถว Marananga มีสิ่งก่อสร้าง โรงไวน์ ตลอดจนโบสถ์ St. Michael หลังเล็กๆ แต่สร้างอย่างประณีตงดงาม  มีโบสถ์เก่าแก่นิกายลูเทอร์รันที่น่าสนใจอีกสองแห่งที่ถนน Light Pass (ข้อมูลจากหนังสือ Explore Historic Australia เรียบเรียงโดย Margaret Barce)

วันที่ผู้เขียนขับรถเข้าเมืองนูริอุทปานั้น มองเห็นโรงแรม Vine Inn มาแต่ไกล รู้สึกดีใจ เพราะรู้ว่ามาไม่ผิดเมืองแน่น  ตามคำบอกเล่าจากบทความของ “ศรีบูรพา” บันทึกไว้ดังนี้

…เขาซื้อสิทธิในการเช่าโรงแรมเก่าๆ โรงแรมหนึ่งในจำนวนสอง แล้วก่อสร้างแต่งเติมให้เป็นโรงแรมทันสมัยให้ชื่อว่า Vine Inn  เป็นโรงแรมที่งดงามน่าอยู่อย่างยิ่ง ราคาค่าที่พักรวมทั้งอาหารอย่างดีเลิศ วันละ ๑๒ ชิลลิง ๖ เพนนี (๒๐ บาทตามอันตราแลกเปลี่ยนทางการ)  ในห้องพักมีทั้งท่อน้ำร้อนและน้ำเย็น และยังเตรียมการจะจัดให้มีสถานที่ดื่มเบียร์ในสวน เพื่อการรื่นรมย์พิเศษของผู้มาพักอีกด้วย

ในวันนั้น (๑๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๗) ผู้เขียนได้ขอข้อมูลราคาค่าที่พักของโรงแรม Vine Inn ได้ความว่า ห้องพักเดี่ยวคืนละ ๙๗ ดอลลาร์ออสเตรเลีย (ประมาณ ๒,๙๑๐ บาท)  ห้องคู่คืนละ ๑๑๕ ดอลลาร์ออสเตรเลีย (ประมาณ ๓,๔๕๐)  อัตราค่าที่พักดังกล่าวจะใช้ได้ไปจนถึงวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ (Rates Valid to 31/03/05) ซึ่งตรงกับวันเกิด ๑๐๐ ปีของ”ศรีบูรพา”อย่างไม่น่าเชื่อ !

โรงแรม Vine Inn หรือ Nuriootpa Vine Inn เป็นโรงแรมระดับสามดาวครึ่ง ตั้งอยู่เลขที่ ๑๔-๒๒ ถนน Murray ซึ่งเป็นถนนสายหลักของนูริอุทปา อยู่ตรงข้ามกับที่ทำการไปรษณีย์  เป็นอาคารชั้นเดียว แต่งดงามน่าอยู่อย่างยิ่ง (อย่างที่ “ศรีบูรพา” กล่าวไว้) มีสถานที่ดื่มเบียร์ในสวนอย่างที่ “ศรีบูรพา” ได้บรรยายไว้เช่นกัน

ผู้เขียนได้ขออนุญาตถ่ายภาพภาพเก่าๆ ที่ประดับในห้องอาหารของโรงแรม Vine Inn เป็นภาพของโรงแรมแห่งนี้สมัยเมื่อ ๖๐-๗๐ ปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกับ “ศรีบูรพา” มาเยือนเมืองนี้ราวปี พ.ศ. ๒๔๙๑-๒๔๙๒  ตามข้อมูลจากบทความของ”ศรีบูรพา” ทำให้ทราบว่าโรงแรมแห่งนี้ถูกซื้อโดยชุมชนชาวเมืองนูริอุทปา หลังปี พ.ศ. ๒๔๘๖ อันเป็นปีกำเนิดคณะทำงานภายหลังการร่วมสร้างหมู่บ้านในสวนรุกขชาติ เพื่อเป็นอนุสาวรีย์แก่ผู้เสียชีวิตในระหว่างสงคราม ดังนั้นใต้ภาพหลายภาพจึงมีข้อความว่า “Nuriootpa Community Hotel” ซึ่งมีความหมายว่า โรงแรมชุมชนชาวนูริอุทปา

ในภาษาอังกฤษ คำว่า community แปลได้หลายความหมาย เช่น สังคม, ชมรม, หมู่,คณะ, พวก, ชุมชน, ประชาคม, การร่วมกัน ฯลฯ  อย่างไรก็ตามความหมายของคำนี้อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้อธิบายว่า

“…Community ในภาษาอังกฤษมาจากภาษากรีกสองคำ คือ Cum + Minus จากกริยาว่า Minere แปลว่าของขวัญหรือให้  ฉะนั้นรากของคำนี้จึงมีความหมายว่าให้ร่วมกันหรือเอื้ออาทรนั่นเอง… แต่เอื้ออาทรเป็นลักษณะความสัมพันธ์ที่สำคัญที่สุดของความเป็นชุมชน ที่ใดซึ่งไม่มีความเอื้ออาทรต่อกันที่นั่นก็ไม่เป็นชุมชน จนบางครั้งนักวิชาการบางคนนิยามความเป็นชุมชนอยู่ที่การเอื้ออาทรต่อกันนั่นเอง  กล่าวคือการให้เป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้เกิดความสัมพันธ์ชนิดหนึ่งระหว่างกันและเป็นความสัมพันธ์ที่เราเรียกว่าชุมชน…พูดกันให้ชัดๆ ก็คือ เอื้ออาทรไม่ใช่การให้ทาน ไม่ใช่ของที่ไหลจากบนลงล่าง แต่ป็นการเอื้ออาทรระหว่างคนที่เท่าเทียมกัน แม้ว่าจะยากดีมีจนต่างกันก็ตาม”

(คัดจากบทความ “เอื้ออาทร” ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ หน้า ๓๓ หนังสือพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ ๓-๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๗)

ความเห็นดังกล่าว เป็นไปในแนวทางเดียวกันที่ศรีบูรพาŽได้บันทึกไว้ดังนี้

ไม่ควรเป็นที่ประหลาดใจเลย เมื่อเราได้รับบอกเล่าว่า เมืองน้อยเมืองนี้ไม่มีการแบ่งชั้นของบุคคลอย่างสิ้นเชิง ด้วยคนทุกประเภททุกอาชีพได้มาทำงานออกแรงร่วมกันหมด  ต่างได้มีส่วนร่วมมือในการนำความสำเร็จมาสู่ประชาคมด้วยน้ำพักน้ำแรงของตนเอง  ด้วยเหตุนี้มิตรภาพอันแน่นแฟ้นระหว่างชาวเมือง จึงเป็นลักษณะที่เด่นในชาวเมืองนูริอุทปา

ถึงตอนนี้ท่านผู้อ่านคงนึกออกว่า เหตุใดผู้เขียนจึงตั้งชื่อบทความนี้ว่า “นูริอุทปา (Nuriootpa) : เมืองงามเอื้ออาทรในมุมมอง “ศรีบูรพา””  ที่ต้องชี้แจงและอธิบายให้ชัดเจน ก็เนื่องจาก “เอื้ออาทร” คำอันแสนไพเราะนี้ถูกนำมาใช้ในทางการเมือง จนความหมายผันแปรไปในแง่หยาบคายหากกล่าวออกมาในที่สาธารณะ

ขณะที่ผู้เขียนกำลังถ่ายภาพเก่าต่างๆ ตามผนังในโรงแรม Vine Inn นั้น บังเอิญไปสะดุดภาพๆ หนึ่ง เป็นภาพคณะกรรมการโรงแรมนูริอุทปาไวน์อินน์ (Nuriootpa Vine Inn) ประจำปี พ.ศ. ๒๔๘๒ (๔ ปีก่อนจะขายสิทธิให้แก่คณะกรรมการชุมชนนูริอุทปา) ซึ่งมีทั้งหมดเก้าคน และสองในเก้าคน(ดูภาพประกอบ)  คนแรกแถวยืนคนที่ ๓ (จากซ้ายไปขวา) คือ Dr. F.W. Hoopman หรือหมอฮูปแมนที่ “ศรีบูรพา” กล่าวถึงว่า “…หมอฮูปแมนเป็นกรรมการ ๑๖ คณะ…” และคนที่ ๒ แถวนั่งหน้าคนที่ ๒ (จากซ้ายไปขวา) คือ W. Coulthard หรือบิลโคลธาร์ด ที่ “ศรีบูรพา” เล่าว่า

…ชายชราซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้อุปการะในการสร้างเมืองนี้อีก ๖,๐๐๐ ปอนด์  ต่อมาเขานำความคิดและโครงการออกชี้แจงแก่ราษฎรในท้องถิ่น ขอความร่วมมือในทางการเงิน ด้วยออกใบหุ้นกู้และอื่นๆ  เขาชักชวนนักธุระกิจในนครหลวงและนายช่างรับเหมาก่อสร้างของท้องถิ่นเข้าร่วมทุน โดยจะนำผลกำไรจากการดำเนินงานของโรงแรมจ่ายคืนให้ภายหลัง

เขาตั้งคณะอำนวยการขึ้นคณะหนึ่งเป็นผู้ดำเนินกิจการของโรงแรม Vine Inn  คณะอำนวยการประกอบด้วยเจ้าหน้าที่แผนกสินค้า, หมอยา, คนเลี้ยงปศุสัตว์, หมอฟัน, ช่างทำอิฐ,ชาวสวนและชาวนา  ชาวเมืองผู้ประสงค์จะมีสิทธิออกเสียงในการดำเนินกิจการ ต้องเสียเงินคนละ ๑ ชิลลิง (๑.๕๐ บาท)

ชาวเมืองนูริอุทปามีความภูมิใจในโรงแรมของเขามาก…

ผู้เขียนและคณะได้เดินชมบ้านโคลธาร์ด (Coulthard House) ซึ่งปัจจุบันได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดี  ที่ป้ายทองเหลืองตรงกำแพงหน้าบ้านได้จารึกชื่อของเขาในฐานะผู้บุกเบิกและผู้มีพระคุณแก่ชุมชนชาวนูริอุทปา (เขาเกิดเมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๑๖ ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๖)  นั่นแสดงว่าเมื่อคราวที่ “ศรีบูรพา” มาเยือนเมืองนี้ ชายชราผู้นี้มีอายุ ประมาณ ๗๕-๗๖ ปี  หลังจากนั้นอีก ๔-๕ ปีโคลธาร์ดก็ถึงแก่กรรมไปตามวัย

แม้โคลธาร์ดจะได้ชื่อว่าเป็นเศรษฐีของเมืองนี้ และได้สมญาว่าเป็น “บิดา” ของเมืองนูริอุทปา  เขาได้กล่าวแก่ผู้ที่อพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งใหม่ในเมืองว่า “สิ่งแรกที่ท่านจะต้องเรียนในเมืองนี้ และเมื่อเรียนแล้วท่านก็จะได้ความรู้ว่า ไม่มีใครสูงกว่าใคร แล้วท่านก็จะอยู่เป็นสุขสำราญที่นี่”

ผู้เขียนได้เดินข้ามถนนเมอร์เรย์ (Murray St.) เดินชมร้านค้าต่างๆ ซึ่งประกอบด้วยร้านขายสินค้าใช้แล้ว ร้านหนังสือ ร้านอาหารประเภทรับประทานในร้านหรือนำไปทานข้างนอกก็ได้ ร้าน เบเกอรี (เก่าแก่เปิดมานานกว่า ๗๐ ปี) อนุสรณ์สถาน ปั้มน้ำมัน โบสถ์เล็กๆ ตามซอย ร้านอาหารแบบเยอรมัน ตลอดจนที่ทำการศูนย์พลเมืองอาวุโส (Senior Citizens Centre)  ที่น่าแปลกใจคือพบร้านอาหารไทย  น่าเสียดายตอนที่ผู้เขียนไปพบนั้น ร้านนี้ได้เลิกกิจการไปแล้ว  และสะดุดตาอีกทีเมื่อพบร้านค้าขนาดใหญ่อยู่ในช่วงฉลองครบ ๖๐ ปีพอดี โดยมีป้ายขนาดใหญ่ติดที่อาคารว่า “Barossa Community Store 60 years (1944-2004)”  ความเป็นมาของร้านค้าดังกล่าว เกิดขึ้นภายหลังจากความสำเร็จในการดำเนินกิจกรรมโรงแรม Vine Inn ซึ่งสามารถเลี้ยงตัวเองและมีผลกำไรนำมาจับจ่ายใช้สอยในกิจการอื่นๆ ได้ทั่วไป คณะกรรมการนำผลกำไรส่วนหนึ่งของโรงแรมจัดซื้อรถสำหรับพานักท่องเที่ยวไปชมภูมิภาพรอบเมืองได้ถึง ๓๔ คัน และใช้รับส่งเด็กจากไร่ไปโรงเรียน  และตามบันทึกของ “ศรีบูรพา” เล่าว่า

…เมื่อมีการประกาศขายห้างขายของที่ใหญ่ที่สุดในเมือง คณะกรรมการดำเนินงานได้รับซื้อไว้ และจัดให้เป็นที่ทำการค้าแบบสหกรณ์ ผลกำไรจากการดำเนินงานนั้นก็ได้นำมาเพิ่มทุนประชาคมอีกทางหนึ่ง

นั่นแสดงว่าคณะกรรมการดำเนินงานได้ซื้อกิจการดังกล่าวในปี พ.ศ. ๒๔๘๗ นั่นเอง  ดังนั้นในปี พ.ศ. ๒๕๔๗ (ค.ศ. ๒๐๐๔) ซึ่งผู้เขียนไปเยือนเมืองนูริอุทปาจึงเป็นช่วงประจวบเหมาะที่ร้านค้าดังกล่าวกำลังอยู่ในเทศกาลฉลอง ๖๐ ปีพอดี

รายได้จากการที่นักท่องเที่ยวมาพักผ่อนในเมืองนูริอุทปา มีจำนวนมากพอๆ กับรายได้จากการขายเครื่องดื่ม โดยเฉพาะไวน์ชนิดต่างๆ ตลอดจนผลกำไรจาการเช้าห้องพักของโรงแรม Vine Inn ทำให้มีเงินลงทุนก่อสร้างสนามกีฬา สนามเทนนิส สนามเด็กเล่น สโมสร สนามเล่นโบว์ลิ่ง สวนพฤษชาติ สระน้ำมาตรฐาน โรงเรียนอนุบาล สุขศาลา ฯลฯ  พวกเขาช่วยกันทำงานทั้งตอนเช้า (ก่อนไปทำงานของแต่ละคน) และตอนกลางคืน ตลอดจนในวันสุดสัปดาห์  พวกเขาขับรถยนต์ออกไปทำงานร่วมกัน  ภายใต้แสงไฟสว่างจ้าจากโคมไฟใหญ่ ช่วยกันขุดดิน ขับเกวียน วางท่อและก่อหิน  เด็กๆ ตามโรงเรียนได้รับการส่งเสริมจากพ่อแม่ให้เข้าร่วมทำงานตามกำลังของเด็ก  ดังนั้นเด็กๆ นูริอุทปาจึงได้รับบทเรียนของการทำงานเพื่อประชาคมของเขาแต่ยังเยาว์วัย

หลายคนที่ได้ไปเห็น (รวมถึง “ศรีบูรพา” ด้วย) จะรู้สึกได้ว่า การที่จะคัดลอกแบบอย่างของคนเหล่านี้ไปอย่างสวยหรูเท่านั้น ไม่มีวันจะสร้างเมืองอันสวยงามขึ้นมาได้  ชาวเมืองนูริอุทปาได้รับสิ่งที่เขาปรารถนา ก็โดยที่เขาไม่คอยให้ใครมาทำให้เขา เขาลงมือทำทุกสิ่งทุกอย่างของเขาเอง

บทเรียนที่ตรึงใจบทหนึ่งซึ่งบรรดาผู้มาเยือนนูริอุทปาได้ประจักษ์ก็คือ ความสัมพันธ์ของชาวเมืองในงานของคณะกรรมการ ในงานของส่วนรวมในการอภิปรายและแลกเปลี่ยนความเห็น ตลอดจนในการติดต่อกับบุคคลภายนอกนั้น เป็นปัจจัยสำคัญในการยกจิตใจของประชาคม  คณะบริหารแห่งมหาวิทยาลัยอะดิเลดได้ให้การสนับสนุนความก้าวหน้าของเมืองนี้ โดยส่งเจ้าหน้าที่มาประจำที่นี่คอยให้คำแนะนำต่างๆ ถึงบรรทัดนี้ทำให้ผู้เขียนนึกถึง “คณะกรรมการคลองแม่ข่า” ที่เชียงใหม่ ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของชาวชุมชนแออัดที่อาศัยอยู่ริมคลองแม่ข่าและแนวกำแพงดิน ซึ่งเป็นกำแพงเมืองชั้นนอก (ปัจจุบันกรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน) อย่างชุมชนกำแพงงาม ชุมชนหัวฝาย ทุกคนร่วมกันพัฒนาคลองแม่ข่า โดยการขุดลอกขยะที่ทับถมมาเป็นเวลานานออกจากคลอง พร้อมกับขยับบ้านที่รุกล้ำให้พ้นแนวคลอง  การรวมตัวครั้งนั้น (พ.ศ. ๒๕๓๙) ได้พัฒนาไปสู่การตั้ง “คณะกรรมการคลองแม่ข่า”

หากมองย้อนอดีตไปใน พ.ศ. ๑๘๓๙ หรือเมื่อ ๗๐๐ กว่าปีก่อน พญาเม็งรายทรงพบไชยมงคลเจ็ดประการ ที่เหมาะแก่การสร้างเมืองเชียงใหม่  หนึ่งในเจ็ดนั้นคือ “ขุนแม่ข่า” สายน้ำจากดอยสุเทพที่ไหลอ้อมจากทิศเหนือไปสู่ทิศตะวันออกแล้วลงสู่แม่น้ำปิงทางตอนใต้  ตามหลักแล้ว ไชยมงคลทั้งเจ็ดประการนี้ เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องช่วยกันพิทักษ์รักษาไว้ เพื่อความเป็นสิริมงคลของเมืองและเพื่อชีวิตที่ดีของชาวเชียงใหม่ทุกคน  สภาพจริงในปัจจุบันไชยมงคลทั้งเจ็ดประการ อย่าง หนองใหญ่ ได้กลายเป็นอาคารพาณิชย์ไปแล้ว (บริเวณถนนอัษฎาธร)  เท่าที่เหลืออยู่ได้แก่ แม่น้ำปิง และคลองแม่ข่า เท่านั้นที่ยังคงอยู่เป็นศรีแก่เมืองเชียงใหม่จนทุกวันนี้

ในอดีตเมื่อ ๔๐ กว่าปีก่อน ริมคลองแม่ข่าเป็นทุ่งนาเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของคนเชียงใหม่ น้ำในคลองแม่ข่าใสสะอาด  ต่อมาบ้านเมืองเจริญขึ้น มีคนอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานริมคลองแม่

ข่ามากขึ้น ทั้งอาคารพาณิชย์ โรงพยาบาล โรงฆ่าสัตว์ โรงงานต่างๆ  ตลอดจนชาวชุมชนแออัด ส่งผลให้น้ำแม่ข่าเน่าเสียเต็มไปด้วยขยะและสิ่งปฎิกูลต่างๆ ทำให้สังคมกล่าวหาชาวชุมชนแออัดที่อาศัยอยู่ริมคลองว่า เป็นผู้ทำให้แม่ข่าเน่าเสีย

ด้วยเหตุนี้เองทำให้ชาวชุมชนแออัดในบริเวณดังกล่าวรวมตัวกันเป็นคณะกรรมการคลองแม่ข่า เพื่อดูแลรักษาคลองแม่ข่าอย่างต่อเนื่อง คล้ายๆ กับการสร้างเมืองงามของชาวนูริอทปาที่ออสเตรเลียเมื่อ ๖๐ ปีก่อน

ชาวบ้านที่รุกล้ำกำแพงดินมีแผนจะขยับบ้านให้พ้นแนวกำแพงดินเพื่ออยู่ร่วมกับโบราณสถานอย่างผู้รักษา  ส่วนการสร้างบ้านนั้นได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิชุมชนไท สมทบทุนประเดิมให้หนึ่งล้านบาท  ส่วนชาวบ้านเองได้ร่วมกันออมเงินคนละบาทต่อวัน เพื่อเป็นเงินทุนในการสร้างบ้าน เป็นการออมเพื่อให้มีที่อยู่อาศัย และปล่อยให้สมาชิกกู้ไปสร้างบ้านดอกเบี้ยร้อยละ ๓ ต่อปี

นอกจากนั้นที่ชุมชนแออัดแขวงเม็งราย มีการรวมตัวกันสร้างโรงงานน้ำดื่มโดยระดมหุ้นจากสมาชิกทุกชุมชนในแขวงเม็งราย มีการตั้งธนาคารขยะเพื่อรณรงค์ให้ชาวชุมชนและลูกหลานได้ตระหนักถึงการช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสร้างโรงเรียนคนแป๋งเมืองให้เป็นศูนย์เรียนรู้ของคนในชุมชนและชาวชุมชนทั้งประเทศ

และปีนี้ (พ.ศ. ๒๕๔๗) ชุมชนหัวฝายและชุมชนกำแพงงาม ได้เข้าสู่โครงการบ้านมั่นคง เป็นนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาที่อยู่อาศัยของชาวชุมชนแออัด ซึ่งได้รับอนุมัติและได้รับเงินปรับปรุงสาธารณูปโภค ๕.๖ ล้านบาท และขอใช้สินเชื่อเพื่อปรับปรุงบ้านรวมกัน ๔.๓ ล้านบาท  สินเชื่อดังกล่าวชาวบ้านกู้กันไปตามฐานะในสามระดับ คือ ๑๕๐,๐๐๐, ๑๐๐,๐๐๐ และ ๖๐,๐๐๐ บาท  โดยชาวบ้านจะสร้างบ้านเอง  กลางวันไปทำงานประกอบอาชีพส่วนตัว เลิกงานตอนเย็นกลับมาสร้างบ้านเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย  โดยเงินนี้ใช้สินเชื่อจากโครงการบ้านมั่นคงร้อยละ ๒ ต่อปี  ท่านผู้อ่านจะเห็นว่าการมีชีวิตที่สุขสบาย มีบ้านที่มั่นคง ไม่ใช่อยู่ๆ ก็ได้มา ชาวบ้านต้องช่วยเหลือตนเอง อย่างชุมชนหัวฝายและกำแพงงาม ต่อสู้กันมาร่วม ๑๐ ปี ถึงจะมีวันนี้ได้  ทุกวันนี้ชาวบ้านเก็บเงินกันคนละบาท เพื่อทำเป็นกองทุน สวัสดิการช่วยเหลือกันยามเจ็บป่วย

น่าเสียดายที่พี่น้องชาวชุมชนต่างๆ ที่เชียงใหม่ ไม่โชคดีอย่างชาวเมืองนูริอุทปาที่ได้รับสิ่งที่เขาปรารถนา โดยไม่คอยให้ใครมาทำให้เขาแม้กระทั่งรัฐบาล  พวกเขาลงมือทำทุกสิ่งทุกอย่างของเขาเอง  จนคณะบริหารแห่งมหาวิทยาลัยอะดิเลดซึ่งอยู่ในเมืองหลวงของรัฐซึ่งอยู่ห่างจากชุมชนของพวกเขาถึง ๗๔ กิโลเมตรทนอยู่เฉยไม่ได้ ต้องส่งบุคลากรมาประจำให้คำปรึกษาในด้านการบริหารและการจัดการ  ขณะที่เมืองเชียงใหม่มีสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาหลายแห่งแท้ๆ น่าจะถือโอกาสนำมาเป็นกรณีศึกษาให้คำปรึกษาและส่งเสริมให้ชุมชนรากหญ้าของสังคมไทยได้พัฒนาไปสู่ความมั่นคงและอยู่ในเมืองอย่างมีศักดิ์ศรี ไม่มีใครสูงกว่าใครอย่างชาวเมืองนูริอุทปาทำได้สำเร็จด้วยความอุตสาหะอย่างจริงจัง เพื่อส่วนรวมของพวกเขา

ทุกวันนี้เมืองนูริอุทปาได้เจริญรุดหน้าเป็นเมืองใหญ่ที่สุด และเป็นศูนย์พาณิชยกรรมของหุบเขาบารอสซา แหล่งผลิตไวน์รสดีคุณภาพระดับโลก  มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากแวะชมตลอดปี  ตลอดเกือบ ๑ เดือนที่ผู้เขียนมาเยือนออสเตรเลีย ได้เสาะหาข้อมูลเรื่องราวของการสร้างเมืองงามอย่างนูริอุทปา (ช่วงระหว่างสงครามในปี พ.ศ. ๒๔๘๖-๒๔๘๗) จากแหล่งต่างๆ ตามร้านหนังสือและห้องสมุดที่ซิดนีย์ เมลเบิร์น และแม้กระทั่งที่อะดิเลดเอง  ปรากฏว่ามีผู้เขียนถึงน้อยมากและเกือบทั้งหมดไม่ได้กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวเลย ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องโด่งดังมากในสมัยนั้น นั่นเป็นเพราะรัฐบาลไม่มีส่วนริเริ่มด้วยเลย พลเมืองในเมืองดังกล่าวช่วยกันสร้างขึ้นมา จนทำให้ผู้คนที่ทราบข่าวทั้งใกล้และไกลพากันมาเยือนนูริอุทปา เพื่อศึกษาการครองชีพอันปรีชาของชาวนูริอุทปา  มีทั้งศาสตราจารย์ นักศึกษาสาขาต่างๆ แน่แหละ! หนึ่งในนักศึกษาเหล่านั้น มี “ศรีบูรพา”หรือ กุหลาบ สายประดิษฐ์ จากเมืองเมลเบิร์นคนหนึ่ง ซึ่งไม่ได้ไปเยี่ยมศึกษาเท่านั้น ยังนำมาเขียนและพูดแพร่หลายในเวลาต่อมาเมื่อกลับประเทศไทย

ผู้เขียนยังไม่พบออสซี่ (Aussie) หรือออสเตรเลียนคนใด ที่บันทึกเรื่องราวการสร้างเมืองงามน่าอยู่อย่างนูริอุทปา ได้น่าอ่านน่าสนใจและสมบูรณ์ด้วยเนื้อหาอย่างที่ “ศรีบูรพา” หรือ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้บันทึกไว้เมื่อ ๕๐ กว่าปีก่อน(พ.ศ. ๒๔๗๑)  นักเขียนไทยที่ยูเนสโก (Unesco) ประกาศยกย่องให้เป็นบุคคลดีเด่นของโลกในฐานะผู้สร้างคุณประโยชน์แก่ประเทศไทยและสันติภาพของโลกประจำปี ค.ศ. ๒๐๐๕ (พ.ศ. ๒๕๔๘) อันเป็นปีฉลองวาระสำคัญของนักเขียนท่านนี้ “๑๐๐ ปี ศรีบูรพา”

รุ่งวิทย์ สุวรรณอภิชน : นักวิชาการวรรณกรรมที่สร้างผลงาน “ศรีบูรพาศึกษา” มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ทศวรรษที่ ๒๕๑๐ เพราะสนใจนักคิดนักเขียนหัวก้าวหน้าเป็นพิเศษ จึงมีผลงานศึกษาปัญญาชนในยุควรรณกรรมก้าวหน้าอีกหลายท่าน เช่น เปลื้อง วรรณศรี จิตร ภูมิศักดิ์ รวมถึงพุทธทาสภิกขุ เคยเขียนบทความประจำในนิตยสารอักษรศาสตร์พิจารณ์ ปุถุชนรายเดือน และโลกหนังสือ ปัจจุบันยังคง “ตามรอยศรีบูรพา” อยู่อย่างเชื่อมั่นและศรัทธา ค้นหา